ท่าเรือในชายฝั่งอันดามัน
จัดทำข้อมูลโดย : สุมาลี สุขดานนท์
ปีที่จัดทำ กุมภาพันธ์ : 2561
ภาคใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศไทยตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลอันดามันและตอนเหนือของช่องแคบมะละกา ซึ่งในบทความนี้รวมเรียกว่า ชายฝั่งอันดามัน ประกอบด้วยจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล มีความยาวชายฝั่งรวมทั้งสิ้น 1,093 กิโลเมตร รายละเอียดดังตารางที่ 11
ลักษณะท่าเรือในชายฝั่งอันดามัน
ท่าเรือในชายฝั่งอันดามันมีทั้งที่ตั้งอยู่ในปากแม่น้ำและบนชายฝั่งทะเล มีจำนวนทั้งสิ้น 129 ท่า ประกอบด้วยท่าเรือสินค้าเพียง 10 ท่า ท่าเรือประมง 89 ท่า และท่าเรือโดยสาร 29 ท่า เนื่องจากชายฝั่งอันดามันมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงามอยู่เป็นจำนวนมาก ท่าเรือโดยสารส่วนใหญ่จึงเป็นท่าเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว รายละเอียดดังตารางที่ 2
ระนอง
จังหวัดระนองมีชายฝั่งทะเล 138 กิโลเมตร มีอำเภอที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเล 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง กะเปอร์ และสุขสำราญ มีท่าเรือสินค้า 1 ท่า ท่าเรือประมง 10 ท่า และท่าเรือโดยสาร 3 ท่า ท่าเรือเกือบทั้งหมดตั้งอยู่ที่บนปากแม่น้ำกระบุรี ตำบลปากน้ำ และ ตำบลบางริ้น อำเภอเมือง
ท่าเรือระนองเป็นท่าสินค้าแห่งเดียวในจังหวัดระนอง บริหารและประกอบการโดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 บ้านเขานางหงส์1 ตำบลปากน้ำ วัตถุประสงค์ในการก่อสร้างท่าเรือครั้งแรก เพื่อรองรับการขนส่งด้วยระบบตู้สินค้า เนื่องจากจังหวัดระนองไม่มีแหล่งอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องนำเข้า – ส่งออกสินค้าด้วยระบบตู้สินค้า จึงแทบไม่มีตู้สินค้าผ่านท่าเรือ อย่างไรก็ตามจังหวัดระนองมีที่ตั้งใกล้กับแหล่งก๊าซธรรมชาติในทะเลซึ่งมีทั้งกิจกรรมสำรวจ ก่อสร้างแท่น และขุดเจาะ ปัจจุบันท่าเรือจึงได้หันมาให้บริการเรือขนส่งที่สนับสนุนกิจกรรมเหล่านั้นแทน
นอกจากท่าเรือระนองแล้วยังมีท่าเรือประมงของเอกชน หรือที่เรียกว่า “แพ” ได้ปรับเปลี่ยนมาขนส่งสินค้าทั่วไปเพื่อส่งออกไปยังประเทศพม่า ท่าเรือเหล่านี้ซึ่งมีอยู่ 200 กว่าท่าส่วนใหญ่ตั้งอยู่ปากน้ำและบางส่วนตั้งอยู่ที่บ้านเขานางหงส์ หากเป็นเรือขนส่งขนาดเล็กขนส่งสินค้าไปเมืองใกล้ ๆ เช่น มะริด ทวาย ก็เข้าจอดที่ท่าเทียบเรือสะพานปลา
พังงา
พังงาเป็นจังหวัดที่มีชายฝั่งทะเลยาวที่สุดในชายฝั่งอันดามัน คือ 242 กิโลเมตร อำเภอที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งมี 6 อำเภอได้แก่ อำเภอเมือง คุระบุรี ตะกั่วป่า ท้ายเหมือง ตะกั่วทุ่ง และเกาะยาว จังหวัดพังงาไม่มีท่าเรือสินค้า แต่มีท่าเรือประมงถึง 27 ท่า ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่อำเภอคุระบุรี ตะกั่วป่า และท้ายเหมือง มีท่าเรือโดยสาร 8 ท่า ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง และตะกั่วทุ่ง
ภูเก็ต
จังหวัดภูเก็ตเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย แบ่งการปกครองออกเป็น 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง กระทู้ และถลาง ทุกอำเภอมีอาณาเขตติดต่อกับชายฝั่งทะเลซึ่งมีความยาว 206 กิโลเมตรจังหวัดภูเก็ตมีท่าเรือทั้งสิ้น 16 ท่า ประกอบด้วยท่าเรือสินค้า 3 ท่า ท่าเรือประมง 7 ท่า และท่าเรือโดยสาร 6 ท่า
ท่าเรือภูเก็ตเป็นท่าเรือสินค้าทั่วไปที่ใหญ่ที่สุดในชายฝั่งอันดามัน ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งด้านใต้ของเกาะภูเก็ต บริเวณอ่าวมะขาม หมู่ที่ 7 บ้านอ่าวมะขาม ตำบลวิชิต อำเภอเมือง ท่าเรือก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2531 วัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศด้านชายฝั่งอันดามัน และเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภาคใต้ฝั่งอันดามัน แต่เมื่อจังหวัดภูเก็ตได้ปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจมาพึ่งพิงการท่องเที่ยวแทนการส่งออกแร่ดีบุก สินค้าผ่านท่าเรือก็มีปริมาณน้อยมาก เนื่องจากเป็นท่าเรือแห่งเดียวในชายฝั่งอันดามันที่สามารถรองรับเรือขนาด 20,000 ตัน กินน้ำลึก 9 เมตรได้ เรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่จึงอาศัยเข้าแวะจอดเทียบท่าเพื่อรับส่งนักท่องเที่ยว
สำหรับท่าเรือท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดภูเก็ต ได้แก่ ท่าเรือรัษฎา ตั้งอยู่ที่ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง ท่าเรือบริหารและประกอบการโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วยท่าเทียบเรือ 1 ท่า ยาว 150 เมตร สามารถรับเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส ได้ 10 – 20 ลำ ในคราวเดียว เป็นท่าเทียบเรือที่สามารถเชื่อมต่อยังแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในชายฝั่งอันดามัน ได้แก่ เกาะไข่ หาดไร่เลย์ เกาะพีพี2 นอกจากนี้ยังมีท่าเรืออ่าวปอตั้งอยู่ที่ตำบลปากคลอง อำเภอถลาง
กระบี่
จังหวัดกระบี่มีความยาวชายฝั่ง 216 กิโลเมตร มีอำเภอที่ตั้งอยู่บนชายฝั่ง 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อ่าวลึก เหนือคลอง คลองท่อม และมี 1 อำเภอที่เป็นเกาะในทะเลอันดามัน คือ เกาะลันตา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด กระบี่มีท่าเรือทั้งสิ้น 21 ท่า ประกอบด้วยท่าเรือสินค้า 3 ท่า ท่าเรือประมง 12 ท่า และท่าเรือโดยสาร 6 ท่า
ท่าเรือสินค้าในจังหวัดกระบี่ทั้งหมดเป็นท่าเรือเอกชน ในจำนวนนี้มี 2 ท่า เป็นท่าเรือสินค้าเทกองซึ่งขนส่งแร่ยิปซั่ม เนื่องจากจังหวัดกระบี่อยู่ใกล้กับแหล่งแร่ยิปซั่มในอำเภอทุ่งใหญ่ และฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอนาสาร และเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี3 ท่าเรือตั้งอยู่ที่แหลมป่อง ตำบลหนองทะเล อำเภอเมือง ได้แก่ ท่าเรือเซ้าเทริน์ พอร์ต และท่าเรือเจียรวานิช สำหรับท่าเรืออีก 1 ท่าเป็นท่าเรือสินค้าเหลวขนส่งน้ำมันเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
เนื่องจากจังหวัดกระบี่มีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่งดงาม ท่าเรือโดยสารทั้งหมดจึงเป็นท่าเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว ท่าเรือท่องเที่ยวที่สำคัญได้แก่ ท่าเรือปากคลองจิหลาด ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลปากร่องน้ำกระบี่ ตำบลไสไทย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ท่าเรือบริหารโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ เป็นท่าเรือโดยสารหลักในการเดินทางไปยังเกาะพีพีและเกาะลันตา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดของจังหวัดกระบี่ การเดินทางใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ท่าเรือมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 600 ไร่ประกอบด้วยท่าเทียบเรือ 1 ท่า กว้าง 10 เมตร ยาว 50 เมตร ความลึกหน้าท่า 3–5 เมตร สามารถรับเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส สิ่งอำนวยความสะดวกประกอบด้วยอาคารที่พักผู้โดยสารรูปตัวทีซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียว ประกอบด้วยที่พักผู้โดยสาร ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร และลานจอดรถ ปัจจุบันมีสายเรือให้บริการ 3 สาย
ตรัง
จังหวัดตรังมีความยาวชายฝั่ง 136 กิโลเมตร มีอำเภอที่ตั้งอยู่บนชายฝั่ง 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสิเกา กันตัง หาดสำราญ ปะเหลียน จังหวัดตรังมีท่าเรือทั้งสิ้น 24 ท่า ในจำนวนนี้เป็นท่าเรือประมงถึง 18 ท่า ท่าเรือสินค้า 3 ท่า และท่าเรือโดยสาร 3 ท่า
ท่าเรือสินค้าทั้ง 3 แห่งเป็นท่าเรือสินค้าทั่วไปตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำตรัง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของจังหวัดตรัง ท่าเรือทั้งหมดตั้งอยู่ที่อำเภอกันตัง โดย 2 แห่งตั้งอยู่ที่ตำบลกันตัง ได้แก่ ท่าเรือกันตัง ตั้งอยู่ที่ตำบลกันตัง เป็นท่าเรือแห่งแรกของจังหวัด บริหารโดยเทศบาลเมืองกันตัง ประกอบด้วยท่าเทียบเรือ 3 ท่า สามารถรับเรือขนาด 3,000 – 3,300 ตันแต่ละท่าประกอบการโดยเอกชน ท่าเรืออีกแห่ง ได้แก่ ท่าเรือยูโสบ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นท่าเรือเอกชนแห่งแรกในจังหวัดตรังที่ได้รับอนุมัติให้เป็นทำเนียบท่าเรือตามกฏหมายศุลกากร เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2551 ท่าเรือแห่งที่ 3 ได้แก่ ท่าเรือนาเกลือ ตั้งอยูที่หมู่ที่ 3 บ้านนาเกลือใต้ ตำบลนาเกลือ ปากแม่น้ำตรัง เป็นท่าเรือใหม่ที่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2557 บริหารโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ประกอบการโดยเอกชน ประกอบด้วยท่าเทียบเรือ 1 ท่า สามารถรับเรือขนาด 4,000 ตัน ได้ 2 ลำในคราวเดียว4
สตูล
จังหวัดสตูลเป็นจังหวัดสุดชายแดนด้านฝั่งอันดามัน ตั้งอยู่บนช่องแคบมะละกาตอนเหนือ ชายฝั่งมีความยาว 155 กิโลเมตร มีอำเภอที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเล 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ทุ่งหว้า ละงู และท่าแพ มีท่าเรือ 20 ท่า ส่วนใหญ่เป็นท่าเรือประมง คือ 15 ท่า ท่าเรือโดยสาร 4 ท่า และท่าเรือสินค้า 1 ท่า เช่นเดียวกับจังหวัดอื่น ๆ ในชายฝั่งอันดามัน จังหวัดสตูลมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่งดงาม อีกทั้งเป็นที่ตั้งของอุทานแห่งชาติตะรุเตา ซึ่งเป็นอุทยานทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ประกอบด้วย เกาะต่าง ๆ ที่สวยงาม 7 เกาะ คือ เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะหลีเป๊ะ เกาะกลาง เกาะบาตวง และเกาะบิสสี ท่าเรือโดยสารส่วนหนึ่งจึงใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยว5
ท่าเรือตำมะลังเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสตูล นอกจากจะเป็นท่าเรือโดยสารเพื่อข้ามไปยังเกาะลังกาวี รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซียแล้ว ยังมีท่าเทียบเรือสำหรับขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และเป็นท่าเรือสินค้าแห่งเดียวในจังหวัดสตูล ตั้งอยู่ที่ริมฝั่งคลองตำมะลัง หมู่ที่ 3 บ้านตำมะลังใต้ อำเภอเมือง
ปัญหาของท่าเรือสินค้าในชายฝั่งอันดามัน
ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นจะเป็นได้ว่าจังหวัดต่าง ๆ ในชายฝั่งอันดามันมีแหล่งท่องเที่ยวทั้งบนฝั่งและในทะเลที่สวยงาม การท่องเที่ยวรวมถึงประมงเป็นเศรษฐกิจที่สำคัญของชายฝั่งอันดามัน จึงทำให้มีอุตสาหกรรมน้อย บางจังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต เศรษฐกิจพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ประกอบกับมีลักษณะเป็นเกาะจึงมีพื้นที่จำกัด ทำให้ที่ดินมีราคาแพง แรงงานมีค่าจ้างที่สูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ นอกจากไม่มีแหล่งอุตสาหกรรมแล้ว เกษตรกรรมยังมีน้อยมาก จึงทำให้ท่าเรือสินค้าในชายฝั่งอันดามันมีสินค้าผ่านท่าเรือน้อย การก่อสร้างท่าเรือแห่งใหม่ เช่น ปากบารา จึงควรคำนึงถึงพื้นที่แนวหลังที่ส่งสินค้าผ่านท่าเรือ
นอกจากนี้การขยายตัวของการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ยังทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกิจกรรมท่าเรือกับการท่องเที่ยว ซึ่งในอดีตท่าเรือตั้งอยู่ในทำเลที่ห่างไกลชุมชน แต่เมื่อการท่องเที่ยวขยายตัว และรุกเข้าไปยังเขตที่ตั้งท่าเรือ ทำให้กิจกรรมเรือซึ่งมีอยู่ก่อนกลายเป็นปัญหาต่อการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการท่องเที่ยวรวมถึงหน่วยราชการ ต่างสร้างความกดดันให้ท่าเรือออกจากพื้นที่ โดยอ้างว่าการขนส่งสินค้าของท่าเรือมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว รวมถึงการต่อต้านในการก่อสร้างท่าเรือใหม่
1สุมาลี สุขดานนท์ รายงานโครงการศึกษาเพื่อจัดทำฐานข้อมูลการค้าการขนส่งชายแดนไทย – พม่า หน้า 213.
2สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 ข้อมูลท่าเทียบเรือ/ท่าเทียบเรือรัษฎา [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://md5.go.th/index.php/2014-07-26-07-52-5/details/1/3/ข้อมูลท่าเทียบเรือ-ท่าเทียบเรือรัษฎา?start=140 [21 มกราคม 2561].
3ศูนย์การเรียนรู้อุตสหากรรมเหมืองแร่. แร่/แร่อุตสหกรรม/แร่ยิปซั่ม [ออน์ไลน์]. แหล่งที่มา http://lc.dpim.go.th/kb/384 [5 กุมภาพันธ์ 2561].
4สุมาลี สุขดานนท์ และจิตติชัย รุจนกนกนาฏ, รายงานการศึกษาโครงข่ายการค้าและคมนาคมเชื่อมโยงภาคใต้ตอนล่างของไทยกับเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียเพื่อการค้าและการท่องเที่ยว (สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559) หน้า 7.
5สุมาลี สุขดานนท์ และคณะ, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ การศึกษาประเมินสถานภาพการใช้ท่าเรือไทย (สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552) หน้า 484.ฆ