ท่าเรือกันตัง

จัดทำข้อมูลโดย : สุมาลี สุขดานนท์
ปีที่จัดทำ : มีนาคม 2559

        จังหวัดตรังในอดีตเคยเป็นเมืองท่าค้าขายกับต่างประเทศที่สำคัญในด้านชายฝั่งอันดามัน เคยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมไปสู่จังหวัดนครศรีธรรมราช แม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านจังหวัดตรัง คือ แม่น้ำตรัง ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ที่เทือกเขาบรรทัดในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง และเทือกเขาในเขตจังหวัดกระบี่ มีความยาวประมาณ 123 กิโลเมตร1 ไหลผ่านพื้นที่ 5 อำเภอในจังหวัดตรัง ได้แก่ รัษฎา ห้วยยอด วังวิเศษ เมืองตรัง และไหลลงสู่ทะเลอันดามันที่อำเภอกันตัง ช่วงต้นแม่น้ำใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ช่วงที่ก่อนออกสู่ทะเลใช้ประโยชน์ในด้านการขนส่ง เป็นที่ตั้งของท่าเรือระหว่างประเทศหลายท่า


ความเป็นมา
        เมื่อพระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) มารับตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองตรังใน พ.ศ. 2433 ได้ดำเนินการพัฒนาเมืองตรังทุกด้าน โดยมีจุดมุ่งหมายจะทำให้เป็นเมืองค้าขาย โดยเริ่มจากใน พ.ศ. 2436 ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ย้ายตัวเมืองจากเมืองควนธานี ไปตั้งที่กันตัง เนื่องจากเล็งเห็นว่า เมืองกันตังตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำตรังใกล้กับปากอ่าว เรือกลไฟ เรือสินค้าต่างๆ สามารถเข้าเทียบท่าได้ การค้าขายติดต่อก็สะดวก

พระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี
ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พระยารัษฎานุประดิษฐ
มหิศรภักดี (คอซิมบี๊_ณ_ ระนอง) #/media/File:Russada.jpg
เหมาะที่จะพัฒนาให้เป็นเมืองท่าสำหรับค้าขาย และเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำ2 นอกจากนี้ยังทำการทำการปราบโจรผู้ร้าย และส่งเสริมอาชีพพื้นฐานคือ การเกษตร เริ่มต้นจากเกษตรยังชีพในครัวเรือน และขยายเป็นเกษตรเพื่อการค้า สร้างความเจริญแก่เมืองตรังอย่างมาก3 เมื่อพระบาทสมเด็จกระจุจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูประบบราชการ และระบบคมนาคมของประเทศให้เทียบทันอารยประเทศ ได้มีการการก่อสร้างทางรถไฟสายใต้และกำหนดให้มีทางแยกจากทุ่งสงในจังหวัดนครศรีธรรมราชไปยังท่าเรือกันตัง การก่อสร้างเริ่มตั้งแต่ปี 2444 และเปิดการโดยสารระหว่างกันตัง–ห้วยยอด วันที่ 1 เมษายน 2456 ต่อมา เปิดการโดยสารระหว่างห้วยยอดกับทุ่งสง ในวันที่ 1 มกราคม 2446 (นับปีแบบเก่า ขึ้นศักราชใหม่เดือนเมษายน เดือนมกราคม เป็นเดือนที่ 10 ของปี) เส้นทางรถไฟนี้ส่งเสริมนโยบายเมืองท่าค้าขายของพระยาพระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดีได้เป็นอย่างดี4 ทำให้กันตังเป็นศูนย์กลางในการขนถ่ายสินค้าจากจังหวัดต่าง ๆ ทางรถไฟ เพื่อลงเรือไปยังเมืองต่าง ๆ ตลอดถึงผู้โดยสารก็ใช้บริการรถไฟและเรือที่ท่าเรือกันตัง ซึ่งมีจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล สำหรับต่างประเทศมีท่าเรือปีนังและสิงคโปร์ เป็นต้น สะพานเทียบเรือในสมัยนั้นเป็นสะพานไม้ธรรมดา สร้างติดกับตลิ่ง ห่างจากตลิ่งไม่เกิน 10 เมตร นอกจากเป็นสะพานของรถไฟแล้ว ยังเป็นสะพานของบริษัทเอกชนที่มีกิจการขนส่งทางทะเล การเข้า–ออกของเรือไม่สะดวกต้องคอยน้ำขึ้น ทำให้เสียเวลาไปถึง 12–24 ชั่วโมง5

        ต่อมาคณะเทศมนตรีกันตัง โดยนายอุดม ไพรัตน์ นายอำเภอกันตัง ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี ได้นำเรื่องท่าเทียบเรือและคลังสินค้ามาพิจารณา เพื่อให้เป็นกิจการถาวรที่สามารถบริการชาวเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งด้านความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย กับทั้งเกิดผลทางด้านรายได้แก่เทศบาลด้วย จึงได้ขออนุมัติกระทรวงมหาดไทยเพื่อดำเนินการเรื่องการก่อสร้างท่าเทียบเรือ หลังจากกระทรวงมหาดไทยอนุมัติแล้ว คณะเทศมนตรีจึงได้เสนอร่างเทศบัญญัติ เรื่องท่าเทียบเรือและคลังสินค้าต่อสภาเทศบาล จึงได้ประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2508 ทำให้เทศบาลได้มีบทบาทในการปรับปรุงท่าเทียบเรือและดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งกรมเจ้าท่าได้ให้การสนับสนุนโดยมอบที่ดินในความดูแลของกรมเจ้าท่า ให้เทศบาลเป็นผู้ดูแลรักษาและใช้เป็นที่จัดบริการท่าเทียบเรือ กรมเจ้าท่าได้วางโครงการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือขนาดใหญ่เป็นการถาวรและได้รับอนุมัติงบประมาณจากทางรัฐบาล จำนวน 6,700,000 บาท เพื่อก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือคอนกรีตขนาดกว้าง 15.5 เมตร ยาว 144 เมตร การก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2515 ส่วนเทศบาลเป็นผู้จัดสาธารณูปโภคต่างๆ อาทิ ไฟฟ้า น้ำประปา ท่าเทียบเรือที่ใช้ในปัจจุบันมีความยาวพอที่เรือต่างประเทศเข้าเทียบท่าได้พร้อมกันครั้งละ 2 – 3 ลำ โดยไม่ต้องรอดังเช่นแต่ก่อน สำหรับร่องน้ำได้รับการขุดลอกและดูแลจากหน่วยขุดลอกร่องน้ำให้ลึกพอสำหรับเรือขนาดใหญ่เข้าเทียบได้ตลอดเวลา ไม่ต้องรอน้ำขึ้นอย่างแต่ก่อน เมื่อท่าเทียบเรือสมบูรณ์แบบขึ้นในปี พ.ศ.2519 6

        หลังจากนั้นได้มีการสร้างสะพานท่าเทียบเรือส่วนขยายเพิ่มอีก 2 แห่ง คือ
• ปี 2539 ได้เริ่มก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือกันตังส่วนขยาย แล้วเสร็จในปี 2542
• ปี 2550 ได้เริ่มก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือกันตังส่วนที่ 3 แล้วเสร็จในปี 2551


ทำเลที่ตั้ง
        ตั้งอยู่บนแม่น้ำตรัง โดยมีที่ตั้งอยู่ถนนรัษฎา ตำบลกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง


การบริหารและประกอบการท่าเรือ
         ท่าเรือกันตังบริหารโดยเทศบาลเมืองกันตัง แต่เนื่องจากท่าเทียบเรือแต่ละท่าแม้จะสร้างด้วยงบประมาณแผ่นดินแต่สร้างบนที่ดินของหน่วยงานต่าง ๆ กันไป จึงทำให้ท่าเทียบเรือแต่ละท่ามีรูปแบบความเป็นเจ้าของที่แตกต่างกันดังนี้
        • ท่าเทียบเรือ 1 (เชิงพาณิชย์) เทศบาลเมืองกันตังเป็นเจ้าของพื้นที่และเป็นผู้บริหารและประกอบการท่าเทียบเรือ เดิมขนถ่ายแร่ยิปซั่ม7 ปัจจุบันได้ทำการก่อสร้างใหม่เรียบร้อยแล้วแต่ยังไม่เปิดให้บริการ8
        • ท่าเทียบเรือ 2 (ส่วนขยาย) เป็นท่าเทียบเรือที่ก่อสร้างขึ้นภายหลังท่าเทียบเรือ 1 โดยก่อสร้างบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากการท่าเทียบเรือแห่งนี้ก่อสร้างโดยกรมเจ้าท่าด้วยงบประมาณแผ่นดิน ที่ดินที่ใช้ในการก่อสร้างท่าเรือจึงถือเป็นที่ราชพัสดุซึ่งตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 ระบุให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ราชพัสดุ โดยมีกรมนารักษ์เป็นดูแล ดังนั้น เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2539 ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างท่าเทียบเรือ ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง กรมธนารักษ์ กรมเจ้าท่า และการรถไฟแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการเช่าที่ดิน และการบริหารท่าเทียบเรือแห่งนี้ ได้ข้อสรุปดังนี้9
                - ให้เทศบาลเมืองกันตังเป็นผู้บริหารท่าเรือ โดยทำสัญญาเช่ากับกระทรวงการคลัง โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2542
                - กระทรวงการคลังเป็นผู้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยเทศบาลเมืองกันตังในฐานะผู้บริหารท่าเทียบเรือเป็นผู้จ่ายค่าเช่าและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทยแทนกระทรวงการคลัง
        • ท่าเทียบเรือ 3 (ท่าเทียบเรือใหม่) เป็นท่าเทียบเรือที่ก่อสร้างขึ้นภายหลังท่าเทียบเรือที่ 2 เทศบาลเมืองกันตังเป็นคู่สัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์10 โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2551

        ท่าเทียบเรือทั้ง 2 ท่าประกอบการโดยเอกชน ได้แก่ บริษัท ยุโสบอินเตอร์เนชั่นแนล กันตัง พอร์ต จำกัด ประกอบการท่าเทียบเรือ 2 ส่วนท่าเทียบเรือ 3 ประกอบการโดยบริษัท อันดาเวิลด์ไวด์ชิปปิ้ง จำกัด และบริษัท ศรีตรังโลจิสติกส์ จำกัด



สภาพทั่วไปท่าเรือกันตัง
ที่มา: ภาพถ่ายโดย สุมาลี สุขดานนท์ 19 พฤษภาคม 2558.


สิ่งอำนวยความสะดวกในท่าเรือ
        ท่าเรือกันตังได้รับอนุมัติให้เป็นทำเนียบท่าเรือตามกฎหมายศุลกากร เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 255111 ท่าเรือมีพื้นที่ประมาณ 17,440.80 ตารางเมตร จำแนกเป็นพื้นที่ท่าเรือ 6,628 ตารางเมตร พื้นที่หลังท่าพร้อมระบบสาธารณูปโภค 10,812 ตารางเมตร ปัจจุบันมีท่าเทียบเรือทั้งหมด 3 ท่า ความยาวรวม 342 เมตร ร่องน้ำลึกเฉลี่ย 3–6 เมตร สามารถรับเรือขนาด 3,000–3,300 ตันกรอส รายละเอียดขอท่าเทียบเรือแต่ละท่ามีดังนี้12
        ท่าเทียบเรือ 1 ลักษณะของท่าเทียบเรือเป็นรูปตัว U คว่ำยื่นไปในแม่น้ำตรังประมาณ 75 เมตร ท่าเทียบเรือกว้าง 24.5 เมตร ความยาวหน้าท่า 144 เมตร ความลึกหน้าท่าเมื่อน้ำขึ้น 6.00 เมตร และน้ำลง 3 เมตร สามารถรับเรือขนาด 3,300 ตันกรอส ขนาดความยาวไม่เกิน 110 เมตร กว้างไม่เกิน 20 เมตร กินน้ำลึกไม่เกิน 5 เมตร ได้ 1 ลำ หรือเรือขนาด 1,000 ตันกรอส ความยาวไม่เกิน 70 เมตร ได้พร้อมกัน 2 ลำ ท่าเทียบเรือมีพื้นที่ใช้สอย 3,537.80 ตารางเมตร ส่วนหลังท่าเทียบเรือมีพื้นที่ประมาณ 3,825 ตารางเมตร ประกอบด้วย ลานกองตู้สินค้า อาคารสำนักงาน ปัจจุบันยังไม่เปิดให้ดำเนินการ อยู่ในระหว่างการขอใช้ท่าเทียบเรือกับกรมธนารักษ์
        ท่าเทียบเรือ 2 ก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2542 เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2542 เช่นเดียวกับท่าเทียบเรือ 1 คือ มีลักษณะเป็นรูปตัว U คว่ำ ยื่นไปในแม่น้ำ ท่าเทียบเรือกว้าง 24.5 เมตร ความยาวหน้าท่า 90 เมตร ความลึกหน้าท่าเมื่อน้ำขึ้น 6.00 เมตร และน้ำลง 3 เมตร สามารถรับเรือขนาด 3,300 ตันกรอส ขนาดความยาวไม่เกิน 110 เมตร กว้างไม่เกิน 20 เมตร กินน้ำลึกไม่เกิน 5 เมตร ได้ 1 ลำ ท่าเทียบเรือมีพื้นที่ใช้สอย 2,205 ตารางเมตร หลังท่าเทียบเรือมีพื้นที่ประมาณ 4,877 ตารางเมตร ประกอบด้วย ลานกองตู้สินค้า อาคารสำนักงาน
        ท่าเทียบเรือ 3 เริ่มก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2550 แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2551 เริ่มประกอบการในวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 ลักษณะของท่าเทียบเรือเป็นรูปตัว L ยื่นไปในแม่น้ำ ท่าเทียบเรือกว้าง 24.5 เมตร ความยาวหน้าท่า 90 เมตร ความลึกหน้าท่าเมื่อน้ำขึ้น 6.00 เมตร และน้ำลง 3 เมตร สามารถรับเรือขนาด 3,300 ตันกรอส ขนาดความยาวไม่เกิน 110 เมตร กว้างไม่เกิน 20 เมตร กินน้ำลึกไม่เกิน 5 เมตร ได้ 1 ลำ ท่าเทียบเรือมีพื้นที่ใช้สอย 2,160 ตารางเมตร หลังท่าเทียบเรือมีพื้นที่ประมาณ 2,110 ตารางเมตร ประกอบด้วย ลานกองตู้สินค้า อาคารสำนักงาน




เรือและสินค้าผ่านท่าเรือ
        เนื่องจากร่องแม่น้ำตรังที่ใช้ในการเดินเรือมีความลึกเพียง 4–6 เมตร มีลักษณะเป็นโคลนทราย ทำให้ต้องมีการขุดลอกอยู่เสมอ13 การขนส่งสินค้าใช้เรือลำเลียงเป็นหลัก สินค้าที่ขนส่งผ่านท่าเรือมีทั้งสินค้าเทกอง สินค้าทั่วไป และสินค้าตู้ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าขาออกที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา ยางแผ่นรมควัน และไม้ยางพาราแปรรูป ส่งออกโดยตู้สินค้า ซึ่งจะขนส่งไปเปลี่ยนถ่ายเรือใหญ่ที่ท่าเรือปีนังในประเทศมาเลเซียเพื่อขนส่งไปยังจุดหมายปลายทาง นอกจากนี้มีแร่ยิปซั่ม แร่แบร์ไลท์ ปูนซีเมนต์ ไม้ เหล็ก กากปาล์ม เป็นต้น สินค้าขาเข้า ได้แก่ ถ่านหิน เครื่องจักรกล ปุ๋ยเคมี เครื่องมืออุปกรณ์การเกษตร14 เส้นทางเดินเรือที่เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือกันตัง ได้แก่ กันตัง–ปีนัง และกันตัง–อินโดนีเซีย15


แผนที่ร่องน้ำแม่น้ำตรังในอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง
ที่มา: กรมเจ้าท่า. ข้อมูลแผนที่ร่องน้ำ/แผนที่ร่องน้ำในศูนย์ที่ 3. [สายตรง].
แหล่งที่มา: http://www.md.go.th/md/index.php/2014-01-19-05-02-28/2014-01-19-05-12-45/-3-2/1110---80/file [17 มีนาคม 2559].




1สำนักงานจังหวัดตรัง,แผนพัฒนาจังหวัดตรัง พ.ศ. 2557–2560, (มปป), หน้า 2–3.

2ที่ทำการปกครองอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง. ประวัติอำเภอ [สายตรง]. แหล่งที่มา: http://www.kantang.dopatrang.go.th/history.php [16 มีนาคม 2559].

3เทศบาลเมืองกันตัง. ท่าเรือกันตัง [สายตรง]. แหล่งที่มา: http://www.kantangcity.go.th/travel/detail/28/data.html [16 มีนาคม 2559].

4สำนักงานส่งเสริมเกษตร อำเภอกันตัง. ประวัติอำเภอ [สายตรง]. แหล่งที่มา : http://kantang.trang.doae.go.th/?module=page&op=ประวัติอำเภอ [16 มีนาคม 2559]. 5กองคลัง เทศบาลเมืองกันตัง. ท่าเทียบเรือกันตัง (เชิงพาณิชย์) (2558), หน้า 1.

6เรื่องเดียวกัน, หน้า 1 – 2.

7สุมาลี สุขดานนท์ และคณะ. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ การศึกษาประเมินสถานภาพการใช้ท่าเรือไทย (กรุงเทพฯ: สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552), หน้า 488.

8กองคลัง เทศบาลเมืองกันตัง. ท่าเทียบเรือกันตัง (เชิงพาณิชย์), หน้า 5.

9เรื่องเดียวกัน, หน้า 3.

10สุมาลี สุขดานนท์ และคณะ. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ การศึกษาประเมินสถานภาพการใช้ท่าเรือไทย, หน้า 489.

11ด่านศุลกากรกันตัง, รายงานผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2551, (2551), หน้า 15.

12กองคลัง เทศบาลเมืองกันตัง, ท่าเทียบเรือกันตัง (เชิงพาณิชย์) (2558), หน้า 5 – 7.
ท่านคือผู้เข้าชมคนที่
สงวนลิขสิทธิ์ สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชั้น 6 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ถนนพญาไท ปทุมวัน กรุงเทพ ฯ 10330 Email : tri@chula.ac.th