ท่าเรือในอ่าวไทยตอนใน

จัดทำข้อมูลโดย : สุมาลี สุขดานนท์

ปีที่จัดทำ มิถุนายน : 2560

อ่าวไทยตอนใน หรือ อ่าวไทยรูปตัว “ก” เป็นอ่าวประวัติศาสตร์ อาณาเขตของอ่าวไทย เป็นน่านน้ำเหนือเส้นฐาน ณ แหลมช่องแสมสาร ละติจูดที่ 12 ํ 35′ 45″ เหนือ ลองจิจูด 100 ํ 57′ 45″ ตะวันออก ตามเส้นขนานละติจูดไปทางตะวันตกถึงจุดที่ 2 ณ ฝั่งทะเลตรงข้ามละติจูดที่ 12 ํ 35′ 45″ เหนือ ลองจิจูด 99 ํ 57′ 30″ และน่านน้ำเหนือเส้นฐานดังกล่าวเป็นน่านน้ำภายในของประเทศไทย1

รูปที่ 1 แผนที่แสดงเขตจังหวัดในอ่าวไทยตอนใน
ที่มา : พระราชบัญญัติอ่าวไทยตอนใน พ.ศ.2502 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 76 ตอนพิเศษ 92 วันที่ 26 กันยายน 2502.

จังหวัดที่มีเขตติดต่อกับอ่าวไทยตอนใน ได้แก่ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี2 ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนมีความยาวทั้งสิ้น 404 กิโลเมตร รายละเอียดดังตารางที่ 1

ที่มา : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. คัมภีร์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทย (2558).

ลักษณะท่าเรือในอ่าวไทยตอนใน

ตามสภาพภูมิศาสตร์อ่าวไทยตอนในเป็นบริเวณที่แม่น้ำสายสำคัญของประเทศไหลลงสู่ทะเล ได้แก่ แม่น้ำจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง บางปะกง และเพชรบุรี (รายละเอียดดูตารางที่ 2) ท่าเรือในอ่าวไทยตอนในส่วนใหญ่จึงมีลักษณะเป็นท่าเรือแม่น้ำ (River Port) ซึ่งตั้งบนฝั่งแม่น้ำหรือปากแม่น้ำ อย่างไรก็ตามท่าเรือบางส่วนมีลักษณะเป็นท่าเรือทะเล (Sea Port) อ่าวไทยตอนในนับเป็นชายฝั่งที่มีท่าเรือมากที่สุด คือ มีจำนวนทั้งสิ้น 138 ท่า ประกอบด้วยท่าเรือสินค้า 109 ท่า และท่าเรือประมง 29 ท่า รายละเอียดดังตารางที่ 3

ที่มา : (1) รายงานการสำรวจข้อมูลเศรษฐกิจการขนส่งสินค้าทางน้ำเฉพาะแห่งบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา และป่าสัก (2555).
         (2) สรุปบทเรียนการบริหารจัดการน้ำ ลุ่มเจ้าพระยา และแนวทางในการบรรเทาอุทกภัยโดยการขุดลอกแม่น้ำเจ้าพระยา (2554).
         (3) การดำเนินการด้านการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล โครงการพัฒนาระบบคลังข้อมูล 25 ลุ่มน้ำ และแบบจ้าลองน้ำท่วมน้ำแล้ง ลุ่มน้ำแม่กลอง (2555).
         (4) สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) การเฝ้าระวังติดตามตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก.
         แหล่งที่มา: http://www.reo13.go.th/data_water.html
         (5) อนุรักษ์ป่าแก่งประจาน. ต้นแม่น้ำเพชรบุรี. มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี. แหล่งที่มา : http://research.pbru.ac.th/pbri/?page_id=12
ที่มา : กรมเจ้าท่า. ข้อมูลและสถิติ/รหัสท่าเทียบเรือ (Berth Number) และรายชื่อท่าเรือสินค้าและท่าเรือประมง ปีงบประมาณ 2548
แหล่งที่มา: http://www.md.go.th/md/index.php/2014-01-19-05-02-28/2014-01-19-05-20-44/-16/91–berth-number/file.
และ http://www.md.go.th/md/index.php/2014-01-19-05-02-28/2014-01-19-05-20-44/-16/91–berth-number/file. [14 มีนาคม 2560].

กรุงเทพมหานคร

เนื่องจากกรุงเทพ ฯ มีชายฝั่งทะเลเพียง 6 กิโลเมตร ที่แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน ในขณะเดียวกันมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านกรุงเทพ ฯ ก่อนจะไหลลงสู่ทะเลที่จังหวัดสมุทรปราการ ท่าเรือในกรุงเทพ ฯ ทั้งหมดไม่ได้ตั้งอยู่บนชายฝั่ง แต่ตั้งอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีทั้งสิ้น 28 ท่า ประกอบด้วยท่าเรือประมง 1 ท่า ซึ่งเป็นท่าเรือประมงขององค์การสะพานปลา และท่าเรือสินค้า 27 ท่า มีทั้งท่าเรือสินค้าทั่วไป ท่าเรือตู้สินค้า ท่าเรือสินค้าเทกอง และท่าเรือน้ำมัน ตั้งอยู่ที่เขตคลองเตย พระโขนง ยายนาวา และราษฎร์บูรณะ

จังหวัดกรุงเทพฯ นอกจากจะเป็นศูนย์การการปกครองของประเทศแล้วแล้วยังเป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรม จึงเป็นที่ตั้งของท่าเรือหลักแห่งแรกของประเทศได้แก่ ท่าเรือกรุงเทพ หรือท่าเรือคลองเตย ซึ่งเป็นท่าเรือของรัฐที่อยู่ภายใต้การบริหารและประกอบการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย สำหรับท่าเรืออื่น ๆ เป็นท่าเรือเอกชน นอกจากขนส่งผ่านท่าเรือแล้ว ยังมีการบรรทุกขนถ่ายกลางน้ำที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ

รูปที่ 2 ท่าเรือกรุงเทพท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในแม่น้ำเจ้าพระยา
(บน) ท่าเทียบเรือตู้สินค้า (ล่าง) ท่าเทียบเรือสินค้าทั่วไป และการบรรทุกขนถ่ายกลางน้ำ

ที่มา: ภาพถ่ายโดยสุมาลี สุขดานนท์.
รูปที่ 3 ตัวอย่างท่าเรืออื่นในแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพมหานคร (ซ้าย) ท่าเรือน้ำมัน (ขวา) ท่าเรือสินค้าทั่วไป
ที่มา: ภาพถ่ายโดยสุมาลี สุขดานนท์.

สมุทรปราการ

จังหวัดสมุทรปราการมีชายฝั่งทะเล 50 กิโลเมตร มีอำเภอที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเล 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง พระประแดง และพระสมุทรเจดีย์ สมทุรปราการเป็นจังหวัดที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลลงสู่อ่าวไทย สมุทรปราการนับเป็นเหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญและเก่าแก่ของประเทศ ท่าเรือในสมุทรปราการมีลักษณะใกล้เคียงกับท่าเรือในกรุงเทพมหานคร กล่าวคือ ตั้งอยู่บน 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าเรือในจังหวัดสมุทรปราการซึ่งมีอยู่ 42 ท่า ประกอบด้วยท่าเรือสินค้า 40 ท่า ทั้งหมดเป็นท่าเรือเอกชน ได้แก่ ท่าเรือสินค้าทั่วไป ท่าเรือตู้สินค้า ท่าเรือสินค้าเทกอง และท่าเรือน้ำมัน และท่าเรือประมง 2 ท่า ซึ่งเป็นท่าเรือประมงขององค์การสะพานปลา 1 ท่า และเอกชน 1 ท่า ท่าเรือเหล่านี้ตั้งอยู่ที่อำเภอพระประแดง และพระสมุทรเจดีย์

รูปที่ 3 ตัวอย่างท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาในสมุทรปราการ (ซ้าย) ท่าเรือสินค้าเทกอง (ขวา) ท่าเรือตู้สินค้า
ที่มา: ภาพถ่ายโดยสุมาลี สุขดานนท์.

สมุทรสาคร

ชายฝั่งทะเลของจังหวัดสมุทรสาครมีความยาว 43 กิโลเมตร อำเภอที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งได้แก่ อำเภอเมือง แม่น้ำท่าจีนไหลออกสู่อ่าวไทยที่ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร มีท่าเรือทั้งหมด 12 ท่า เป็นท่าเรือสินค้า 10 ท่า และท่าเรือประมง 2 ท่า

สมุทรสงคราม

จังหวัดสมุทรสงครามมีชายฝั่งทะเลยาว 25 กิโลเมตร อำเภอที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งได้แก่ อำเภอเมืองจังหวัดสมุทรสงครามเป็นจังหวัดที่แม่น้ำแม่กลองไหลลงสู่อ่าวไทยที่ตำบลบางจะเกร็ง และตำบลแหลมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงครามมีท่าเรือทั้งหมด 5 ท่า เป็นท่าเรือสินค้า 3 ท่า และท่าเรือประมง 2 ท่า

ฉะเชิงเทรา

จังหวัดฉะเชิงเทรามีชายฝั่งทะเลยาว 16 กิโลเมตร โดยมีอำเภอบางปะกงตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเล เป็นอำเภอที่แม่น้ำบางปะกงซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดปราจีนบุรีและฉะเชิงเทราที่เกิดจากแม่น้ำนครนายกและแม่น้ำปราจีนบุรีไหลมาบรรจบกันบริเวณ ตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี แม่น้ำบางปะกงมีความยาว 122 กิโลเมตร จังหวัดฉะเชิงเทรามีท่าเรือทั้งหมด 18 ท่า เป็นท่าเรือสินค้า 15 ท่า และท่าเรือประมง 3 ท่า

ชลบุรี

ชลบุรีมีชายฝั่งชายทะเลยาว 172 กิโลเมตร นับเป็นจังหวัดที่มีชายฝั่งทะเลยาวที่สุดในอ่าวไทยตอนใน อำเภอที่ตั้งอยู่บนชายฝั่ง 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ศรีราชา เกาะสีชัง ลางละมุง และสัตหีบ ชลบุรีต่างจากจังหวัดอื่น ๆ ในอ่าวไทยตอนในตรงที่เป็นจังหวัดที่ไม่มีแม่น้ำไหลลงสู่อ่าวไทย ดังนั้นท่าเรือทั้งหมดจึงมีลักษณะเป็นท่าเรือทะเล โดยมีท่าเรือทั้งสิ้น 24 ท่า เป็นท่าเรือสินค้า 11 ท่า และท่าเรือประมง 24 ท่า และเป็นที่ตั้งของท่าเรือหลักแห่งที่ 2 ของประเทศ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ตั้งอยู่ที่ ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา ท่าเรือแห่งนี้เป็นท่าเรือตู้สินค้าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของการท่าเรือแห่งประเทศไทยเช่นเดียวกับท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรืออื่น ๆ เป็นท่าเรือเอกชน มีทั้งท่าเรือสินค้าทั่วไป สินค้าเทกอง และสินค้าเหลว

รูปที่ 4 ตัวอย่างท่าเรือในจังหวัดชลบุรี (ซ้าย) ท่าเรือแหลมฉบัง: ท่าเรือตู้สินค้า (ขวา) ท่าเรือฟิวเจอร์ฟิวชั่นพอร์ต: ท่าเรือสินค้าเทกอง
ที่มา: ภาพถ่ายโดยสุมาลี สุขดานนท์.

นอกจากนี้ ยังมีเขตจอดเรือศรีราชา หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือ อ่าวจอดเรือเกาะสีชัง ซึ่งเป็นอ่าวจอดเรือที่มีการบรรทุกขนถ่ายสินค้ากลางน้ำที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยสินค้าที่บรรทุกขนถ่ายกลางน้ำเป็นสินค้าเกษตรที่ขนส่งในรูปสินค้าเทกอง

เขตจอดเรือศรีราชา หรืออ่าวจอดเรือเกาะสีชัง
ที่มา: ภาพถ่ายโดยสุมาลี สุขดานนท์.

เพชรบุรี

จังหวัดเพชรบุรีมีความยาวชายฝั่ง 92 กิโลเมตร มีอำเภอ 3 อำเภอที่ตั้งอยู่บนชายฝั่ง ได้แก่ อำเภอเมือง บ้านแหลม และชะอำ แม่น้ำเพชรบุรีซึ่งมีต้นน้ำเกิดเทือกเขาในภาคตะวันตกของจังหวัดเพชรบุรี ไหลผ่านอำเภอแก่งกระจาน ท่ายาง บ้านลาด อำเภอเมือง และไหลลงสู่อ่าวไทยที่อำเภอบ้านแหลม โดยแยกออกเป็น 2 สาย ๆ หนึ่งไหลลงสู่อ่าวไทยที่ตำบลบ้านแหลม และอีกสายหนึ่งไหลลงสู่อ่าวไทยที่ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีมีท่าเรือ 9 ท่า เป็นท่าเรือสินค้า 3 ท่า และท่าเรือประมง 6 ท่า

พื้นที่แนวหลังของอ่าวไทยตอนใน

อาจกล่าวได้ว่าอ่าวไทยตอนเป็นประตูการค้าที่สำคัญที่สุดของประเทศ เนื่องจากเป็นบริเวณที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก ซึ่งครอบคลุมจังหวัดต่าง ๆ ถึง 63 จังหวัด พื้นที่รวม 442,424.35 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 86 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ3 ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย อีกทั้งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมของประเทศ ดังจะเห็นได้จากเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม ถึง 57 แห่ง (รายละเอียดดูตารางที่ 4) จึงเป็นพื้นที่แนวหลังขนาดใหญ่ของท่าเรือในชายฝั่งนี้ แม้ว่าชายฝั่งด้านอ่าวไทยฝั่งตะวันออกจะมีท่าเรือมาบตาพุดในจังหวัดระยองเป็นท่าเรือหลัก แต่เนื่องจากเป็นท่าเทียบเรือส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์ให้บริการแก่ธุรกิจตนเองเป็นหลัก แม้ว่าจะมีท่าเทียบเรือที่ให้บริการแก่สาธารณะอยู่ 2 ท่า ซึ่งท่าเทียบเรือเป็นท่าเทียบเรือสินค้าเหลว และอีกท่าหนึ่งเป็นท่าเทียบเรือสินค้าทั่วไป การส่งออกสินค้าตู้ผ่านท่าเรือราคาค่าขนส่งที่สูง จึงทำให้ผู้ส่งออกนิยมส่งสินค้าตู้ผ่านท่าเรือแหลมฉบังในจังหวัดชลบุรี

ที่มา: การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย. การลงทุน/นิคมอุตสาหกรรม/นิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย
แหล่งทีมา: http://www.ieat.go.th/investment/about-industrial-estates/industrial-estates-in-thailand[27 พฤษภาคม 2560].
Thai Franchise Center. ทำเนียบนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศไทย แหล่งทีมาhttp://www.thaifranchisecenter.com/industrial/index.php[27 พฤษภาคม 2560].

นอกจากนี้โครงข่ายคมนาคมทุกระบบของประทศไทยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพมหานครและเชื่อมต่อไปยังทั่วทุกภาคของประเทศ ดังนั้นท่าเรือในอ่าวไทยตอนในจึงได้รับประโยชน์จากโครงข่ายคมนาคมอย่างเต็มที่4 อีกทั้งแม่น้ำสายหลักของประเทศ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งไหลผ่านแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศ และไหลสู่อ่าวไทยที่ชายฝั่งด้านนี้ ทำให้สามารถขนส่งสินค้าเกษตรไปบรรทุกขนถ่ายกลางน้ำที่ท่าเรือกรุงเทพ สมุทรปราการ และอ่าวจอดเรือเกาะสีชังได้โดยสะดวก


1ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง “อ่าวไทยตอนใน” สำนักงานเลขานุการคณะรัฐมนตรี. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 76 ตอนพิเศษ 91 หน้า 1 วันที่ 26 กันยายน 2502 [สายตรง]. แหล่งที่มา: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2502/A/091/1.PDF [14 มีนาคม 2556].

2พระราชบัญญัติอ่าวไทยตอนใน พ.ศ.2502” สำนักงานเลขานุการคณะรัฐมนตรี. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 76 ตอนพิเศษ 92 หน้า430 – 437 วันที่ 26 กันยายน 2502 [สายตรง]. แหล่งที่มา: http:// http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2502/A/092/430.PDF [14 มีนาคม 2556].

3สำนักงานสถิติแห่งชาติ. บริการสถิติและสารสนเทศภาครัฐ/สถิติเพื่อการบริการตามนโยบายรัฐบาล/จำนวนเนื้อที่ จำแนกเป็นรายภาค และจังหวัด พ.ศ. 2556–2558 แหล่งที่มา http://service.nso.go.th/nso/govstat/GR/GR1.html [28 พฤษภาคม 2560].

4สุมาลี สุขดานนท์ และคณะ, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ การศึกษาประเมินสถานภาพการใช้ท่าเรือไทย, (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย,2552), หน้า 109.

บทความก่อนหน้า
พื้นที่แนวหลังของท่าเรือ (Port Hinterlands)
บทความถัดไป
การขนส่งในแม่น้ำโขงตอนบน
Google Map
ท่านคือผู้เข้าชมคนที่
Visit counter For Websites
นับตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566