ท่าเรือในอ่าวไทยฝั่งตะวันตก

จัดทำข้อมูลโดย : สุมาลี สุขดานนท์

ปีที่จัดทำ : มกราคม 2562

อ่าวไทยฝั่งตะวันตกเป็นชายฝั่งที่มียาวที่สุดของประเทศไทย โดยมีความยาวถึง 1,261 กิโลเมตร ประกอบด้วยจังหวัดชายฝั่ง 7 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส รายละเอียดดังตารางที่ 1

ลักษณะท่าเรือในอ่าวไทยฝั่งตะวันตก

อ่าวไทยฝั่งตะวันตกท่าเรือทั้งสิ้นมีจำนวนทั้งสิ้น 118 ท่า ประกอบด้วยท่าเรือสินค้า 34 ท่า ท่าเรือประมง 68 ท่า และท่าเรือโดยสาร 16 ท่า รายละเอียดดังตารางที่ 2

ประจวบคีรีขันธ์

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีอำเภอทั้งสิ้น 8 อำเภอ และทุกอำเภอมีอาณาเขตติดต่อกับชายฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ อำเภอเมือง หัวหิน ปราณบุรี สามร้อยยอด กุยบุรี ทับสะแก บางสะพาน และบางสะพานน้อย โดยชายฝั่งทะเลมีความยาว 247 กิโลเมตร ท่าเรือในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีทั้งสิ้น 20 ท่า เป็นท่าเรือประมง 19 ท่า ท่าเรือสินค้า 1 ท่า และไม่มีท่าเรือโดยสาร

ท่าเรือสินค้าในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ตั้งอยู่ที่อ่าวเทียน หมู่ที่ 3 บ้านอ่าวยาง ตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน เป็นท่าเรือเอกชนที่บริหารและประกอบการโดย บริษัท ท่าเรือประจวบ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บริษัท สหวิริยา สตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของประเทศ ดังนั้นท่าเรือก่อสร้างขึ้นในเบื้องต้นเพื่อขนส่งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์เหล็กของกลุ่มบริษัทในเครือสหวิริยาซึ่งตั้งอยู่ห่างจากท่าเรือเพียง 6 กิโลเมตร

ท่าเรือประจวบ หรือรู้จักกันทั่วไปว่า “ท่าเรือบางสะพาน” นับเป็นท่าเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอ่าวไทยฝั่งตะวันตก ท่าเรือตั้งอยู่บนพื้นที่ 600 ไร่ ประกอบด้วยท่าเทียบเรือ 4 ท่า สามารถรับเรือเดินทะเลระหว่างประเทศ และเรือลำเลียงที่ขนส่งชายฝั่ง หน้าท่ามีระดับน้ำลึกถึง 15 เมตร นอกฝั่งประกอบด้วยเขื่อนกั้นคลื่นความยาว 1,500 เมตร ทำให้สามารถบรรทุกขนถ่ายสินค้าได้ตลอดทั้งปี พื้นที่เก็บรักษาสินค้าประกอบด้วยโรงพักสินค้า เนื่องจากท่าเรือได้รับอนุมัติเป็นเขตทำเนียบท่าเรือ โรงพักสินค้าจึงได้รับอนุมัติจากศุลกากรให้สามารถทำการตรวจปล่อยสินค้านำเข้า – ส่งออกได้โดยอยู่ในความดูแลของด่านศุลกากรประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงคลังสินค้าทัณฑ์บน อีกทั้งยังมีลานสินค้ากลางแจ้งซึ่งอยู่นอกเขตทำเนียบท่าพื้นที่ 69 ไร่ จำแนกเป็นลานสินค้าทั่วไป 46 ไร่ สินค้าเทกอง 23 ไร่ และลานตู้สินค้าขีดความสามารถ 300 ทีอียู

รูปที่ 2 สภาพทั่วไปท่าเรือประจวบ
ที่มา: ภาพถ่ายโดยสุมาลี สุขดานนท์ เก็บข้อมูลภาคสนาม 28 เมษายน 2560.

ชุมพร

จังหวัดชุมพรเป็นจังหวัดแรกของภาคใต้ เป็นจังหวัดที่มีชายฝั่งทะเลยาวที่สุดในอ่าวไทยฝั่งตะวันตก คือ 248 กิโลเมตร มีอำเภอที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเล 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ปะทิว สวี หลังสวน ทุ่งตะโก และละแม ท่าเรือในจังหวัดชุมพรมีทั้งสิ้น 19 ท่า เป็นท่าเรือสินค้า 1 เป็นท่าเรือน้ำมัน ท่าเรือประมง 13 ท่า และท่าเรือโดยสาร 5 ท่า ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง หลังสวน และทุ่งตะโก

สุราษฎร์ธานี

ชายฝั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีความยาว 166 กิโลเมตร อำเภอที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งอ่าวไทย 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ท่าชนะ ไชยา ท่าฉาง พุนพิน กาญจนดิษฐ์ และอีกหนึ่งอำเภอ คือ เกาะสมุยเป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ในอ่าวไทย จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีนับเป็นจังหวัดที่มีท่าเรือมากที่สุด คือ 18 ท่า ตั้งอยู่ที่ปากแม่น้ำตาปี ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ท่าเรือประมง 8 ท่า ส่วนใหญ่ตั้งอยู่อำเภอดอนสัก ท่าเรือโดยสาร 7 ท่าเป็นท่าเรือโดยสารเพื่อไปยังเกาะสมุยจึงตั้งอยู่ที่อำเภอดอนสักและอำเภอเกาะสมุย

ท่าเรือ เอ็น พี มารีน นับเป็นท่าเรือสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่ตำบลบางกุ้ง ห่างจากปากแม่น้ำตาปี 14.2 ไมล์ทะเล หรือ 26.27 กิโลเมตร (1 ไมล์ทะเล = 1.85 กิโลเมตร) ท่าเรืออยู่ในเครือ SC Group ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งชายฝั่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าตู้ ประกอบด้วยท่าเทียบเรือ 1 ท่า ความยาวหน้าท่า 408 เมตร มีความลึกหน้าท่าประมาณ 6 เมตร สามารถรองรับขนาดของเรือ 2,800 ตันกรอส ท่าเรือมีพื้นที่ 20 ไร่ ประกอบด้วยลานวางสินค้าที่มีขีดความสามารถรองรับได้ 4,000 ทีอียู ซึ่งในปัจจุบันท่าเรือใกล้เต็มขีดความสามารถแล้ว บริษัทจึงมีแผนที่จะก่อสร้างท่าเทียบเรือเพิ่มเติมอีกสองท่า โดยหนึ่งท่ากำลังจะดำเนินการก่อสร้าง ส่วนอีกท่ากำลังอยู่ในขั้นตอนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)1

รูปที่ 3 สภาพทั่วไปท่าเรือ เอ็น พี มารีน
ที่มา: ภาพถ่ายโดยสุมาลี สุขดานนท์ เก็บข้อมูลภาคสนาม 25 เมษายน 2560.

นอกจากนี้ยังมีท่าเรือท่าทองซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณฝั่งแม่น้ำตาปี ท่าเรือแห่งนี้ก่อสร้างในปี 2525 โดยกรมเจ้าท่า แล้วเสร็จในปี 2528 เมื่อท่าเรือก่อสร้างแล้วเสร็จกรมเจ้าท่าได้ส่งมอบท่าเรือให้แก่กรมธนารักษ์ หลังรับมอบท่าเรือแล้วกรมธนารักษ์ได้มอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นผู้หาผลประโยชน์ เนื่องจากไม่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการบริหารและจัดการท่าเรือจึงได้เปิดให้เอกชนประมูลและรับไปประกอบการ ปัจจุบันบริษัท ไทยปิโตรเลียมเซอร์วิส จำกัด เข้าประกอบการท่าเรือท่าทองโดยทำสัญญากับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี สิ่งอำนวยความสะดวกในท่าเรือประกอบด้วยท่าเทียบเรือ 1 ท่า กว้าง 80.6 เมตร ยาว 193.6 เมตร หน้าท่าลึก (น้ำขึ้น) 4.8 เมตร หน้าท่าลึก (น้ำลง) 3.5 เมตร สามารถรองรับสินค้าได้ประมาณ 250,000 เมตริกตัน/ปี นอกจากนี้ท่าเรือยังมีโรงพักสินค้า 2 หลัง ความจุ 10,000 ลูกบาศก์เมตร ลานสินค้ากลางแจ้งขนาด 22,000 ตารางเมตร สินค้าผ่านท่าส่วนใหญ่เป็นสินค้าขาออกที่สำคัญได้แก่ ยิปซั่ม ซึ่งขนขนส่งในรูปสินค้าเทกอง เนื่องจากอยู่ใกล้กับแหล่งแร่ยิปซั่มในอำเภอทุ่งใหญ่ และฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอนาสาร และเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี2 นอกจากนี้ยังมีสินค้าทั่วไป สินค้าเหล่านี้ขนส่งโดยเรือลำเลียงเพื่อบรรทุกลงเรือเดินสมุทร ณ จุดทอดสมอสุราษฎร์ธานี ในอ่าวไทย3

รูปที่ 4 สภาพทั่วไปท่าเรือท่าทอง
ที่มา: ภาพถ่ายโดยสุมาลี สุขดานนท์ เก็บข้อมูลภาคสนาม วันที่ 14 มกราคม 2551.

นครศรีธรรมราช

จังหวัดนครศรีธรรมราชมีชายฝั่งทะเลยาว 245 กิโลเมตรรองจากจังหวัดชุมพรและประจวบคีรีขันธ์ อำเภอที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งมี 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ขนอม สิชล ท่าศาลา ปากพนัง และหัวไทร มีท่าเรือทั้งหมด 30 ท่า เป็นท่าเรือสินค้า 5 ท่า เป็นท่าเรือสินค้าเทกองและสินค้าเหลว ท่าเรือประมง 24 ท่า ตั้งกระจายอยู่ในอำเภอชายฝั่งต่าง ๆ และท่าเรือโดยสาร 1 ท่า ตั้งอยู่ที่อำเภอปากพนัง

รูปที่ 5 ลักษณะทั่วไปของท่าเทียบเรือของท่าเรือขนอม
ที่มา: ภาพถ่ายโดยสุมาลี สุขดานนท์ เก็บข้อมูลภาคสนาม วันที่ 14 มกราคม 2551.

สงขลา

จังหวัดสงขลามีชายฝั่งทะเลยาว 158 กิโลเมตร มีอำเภอที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งมี 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ สิงหนคร จะนะ และเทพา มีท่าเรือทั้งหมด 13 ท่า ประกอบด้วยท่าเรือสินค้า 8 ท่า เป็นท่าเรือสินค้าทั่วไปและสินค้าเหลว ตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองและสิงหนคร ท่าเรือประมง 2 ท่า อยู่ที่อำเภอเมือง และท่าเรือโดยสาร 3 ท่า ตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองและสทิงพระ ท่าเรือทั้งหมดส่วนใหญ่ตั้งอยู่รอบ ๆ ทะเลสาบสงขลา ท่าเรือสงขลาเป็นท่าเรือสินค้าทั่วไปที่ใหญ่ที่สุดในชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันตก ตั้งอยูที่ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร ท่าเรือบริหารและประกอบการโดยบริษัท เจ้าพระยาท่าเรือสากล จำกัด ภายใต้การกำกับดูแลของกรมเจ้าท่า โดยทำสัญญาสัมปทานกับกรมธนารักษ์ สินค้าผ่านท่าเรือส่วนใหญ่เป็นยางพาราซึ่งขนส่งในรูปตู้สินค้า

ปัตตานี

จังหวัดปัตตานีมีชายฝั่งทะเลยาว 139 กิโลเมตรรองจากจังหวัดชุมพร อำเภอที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งมี 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง หนองจิก ยะหริ่ง ปานาเระ สายบุรี และไม้แก่น ปัตตานีมีท่าเรือสินค้า 1 ท่าและท่าเรือประมง 1 ท่า ซึ่งปิดให้บริการแล้ว

นราธิวาส

จังหวัดนราธิวาสเป็นจังหวัดชายฝั่งที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย ชายฝั่งมีความยาวเพียง 58 กิโลเมตร อำเภอที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งมี 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง และตากใบ มีท่าเรือเพียง 1 ท่าเป็นท่าเรือประมง ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง


1 สุมาลี สุขดานนท์, การใช้ประโยชน์จากการขนส่งชายฝั่งเพื่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าชายแดนไทย–พม่า. (กรุงเทพ ฯ : สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2561) หน้า 40.

2ศูนย์การเรียนรู้อุตสหากรรมเหมืองแร่. แร่/แร่อุตสหกรรม/แร่ยิปซั่ม [ออน์ไลน์]. แหล่งที่มา http://lc.dpim.go.th/kb/384 [5 กุมภาพันธ์ 2561].

3สุมาลี สุขดานนท์ และคณะ, การศึกษาประเมินสถานภาพการใช้ท่าเรือไทย (กรุงเทพ ฯ : สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553) หน้า 334 – 335.

4เรื่องเดียวกัน, หน้า 337 – 338.

[seed_social]
บทความก่อนหน้า
ท่าเรือในชายฝั่งอันดามัน
บทความถัดไป
ท่าเรือไซ่ง่อน (Saigon Port)
Google Map
ท่านคือผู้เข้าชมคนที่
Visit counter For Websites
นับตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566
Facebook
Twitter