ท่าเรือตำมะลัง

จัดทำข้อมูลโดย : สุมาลี สุขดานนท์
ปีที่จัดทำ : มีนาคม 2559

        สตูลเป็นจังหวัดสุดชายแดนด้านฝั่งอันดามัน เนื่องจากด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกเป็นทิวเขา ส่วนภาคตะวันตกติดกับทะเลอันดามัน จึงมีลักษณะเป็นที่ราบสลับกับภูเขา ๆ ที่สำคัญ คือ ภูเขาสันกาลาคีรี ซึ่งเป็นเส้นกันเขตแดนกับรัฐปะลิสของประเทศมาเลเซียระยะทาง 56 กิโลเมตร พื้นที่ค่อยๆ ลาดเอียงไปทางด้านตะวันตก และด้านทิศใต้มีที่ราบแคบ ๆ ขนานกับชายฝั่งทะเล ถัดจากที่ราบเป็นป่าชายเลนประเภทป่าแสมหรือป่าโกงกางอยู่เป็นจำนวนมาก จังหวัดสตูลเป็นจังหวัดที่ไม่มีแม่น้ำ มีแต่ลำน้ำหรือลำคลองสายสั้น ๆ ที่เกิดจากภูเขาที่อยู่รอบ ๆ1 จังหวัดสตูลมีท่าเรือเพียงแห่งด้วย คือ ท่าเรือตำมะลัง ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร และการท่องเที่ยว


ทำเลที่ตั้ง
        ท่าเรือตำมะลังตั้งอยู่ที่ละติจูดที่ 6 ํ 32' 0.50" เหนือและลองกิจูดที่ 100 ํ 4' 8.81" ตะวันออก2 ตั้งอยู่ริมฝั่งคลองตำมะลัง หมู่ที่ 3 บ้านตำมะลังใต้ ตำบลตำมะลัง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล


แผนที่แสดงที่ตั้งท่าเรือตำมะลัง
ที่มา: Longdo Map. [Online]. Available from: http://map.longdo.com/p/A10035684 [28 November, 2015].


การบริหารและประกอบการท่าเรือ
         ท่าเรือตำมะลังก่อสร้างโดยกรมเจ้าท่า เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจึงดำเนินการโอนให้กรมธนารักษ์เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ ในระยะแรกบริหารจัดการโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล แต่ประสบปัญหาด้านการบริหารจัดการและการเงิน จึงเปิดประมูลให้เอกชนเป็นผู้เข้ามาบริหารจัดการ โดยบริษัท อันดามันบิสเนส ซึ่งเป็นบริษัทเดินเรือในเส้นทางสตูล–ลังกาวี เป็นผู้ชนะการประมูล และประกอบการท่าเทียบเรือแห่งนี้มาตลอด และได้ทำสัญญากับกรมธนารักษ์โดยต้องดำเนินการต่อสัญญาทุก 3 ปี3

สิ่งอำนวยความสะดวกในท่าเรือ
        ท่าเรือตำมะลังประกอบด้วยท่าเทียบเรือ 2 ท่า โดยมีรายละเอียดดังนี้
        - ท่าเทียบเรือโดยสาร ความยาวหน้าท่าประมาณ 70 เมตร สามารถรองรับเรือได้ไม่เกิน 500 ตันกรอส4 มีร่องน้ำลึกประมาณ 1 เมตรเมื่อน้ำขึ้นสูงสุด เรือที่เทียบท่าส่วนใหญ่มีขนาดประมาณ 25 ตันกรอส

สภาพทั่วไปท่าเทียบเรือโดยสาร
ที่มา: ภาพถ่ายโดย สุมาลี สุขดานนท์ 13 มกราคม 2552.


        - ท่าเทียบเรือสินค้าศุลกากร อยู่ในความดูแลเของด่านศุลกากรสตูล ประกอบด้วยท่าเทียบเรือ 1 ท่า ความยาวหน้าท่า 150 เมตร กว้าง 25 เมตร สามารถรับน้ำหนักได้ 3 ตัน/ตารางเมตร หน้าท่าน้ำลึกเพียง 3.5 เมตรเมื่อน้ำขึ้นสูงสุด5

สภาพทั่วไปท่าเทียบเรือสินค้า และการบรรทุกขนถ่ายสินค้า
ที่มา: ภาพถ่ายโดย สุมาลี สุขดานนท์ 19 พฤษภาคม 2558.


เรือและสินค้าผ่านท่าเรือ
         ร่องน้ำที่เข้าสู่ท่าเรือมีความกว้าง 60 เมตร เรือที่เข้าเทียบท่ามีขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส ระดับน้ำหน้าท่าลึกประมาณ 4 เมตร6 เรือที่เข้าที่เทียบท่ามีทั้งเรือโดยสาร และเรือสินค้า

สภาพร่องน้ำเข้าสู่ท่าเรือตำมะลัง
ที่มา: ภาพถ่ายโดย สุมาลี สุขดานนท์ 19 พฤษภาคม 2558.


        เรือโดยสารเป็นเรือที่วิ่งประจำระหว่างจังหวัดสตูลกับเกาะลังกาวี โดยมีผู้โดยสารส่วนหนึ่งเป็นนักท่องเที่ยว โดยเฉลี่ยมีจำนวน 6,000–7,000 คนต่อเดือน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย และอีกส่วนหนึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยในจังหวัดสตูลข้ามไปประกอบอาชีพในเกาะลังกาวี ได้แก่ ทำงานบนเรือประมง งานบริการในร้านอาหาร และกิจการอื่นๆ มีจำนวนประมาณ 7,000 คนต่อเดือน เป็นผลให้ปริมาณผู้โดยสารทั้งสองกลุ่มมีจำนวนเท่าๆ กัน เรือที่ใช้ในการขนส่งมีประมาณ 20 ลำ ประกอบด้วยเรือสัญชาติไทยและมาเลเซีย โดยให้บริการวันละ 3 เที่ยว ช่วงฤดูท่องเที่ยวมีปริมาณนักท่องเที่ยวจำนวนมาก จะไม่มีการเพิ่มจำนวนเที่ยวเดินเรือ แต่จะเพิ่มจำนวนเรือหรือขนาดของเรือให้รองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น เส้นทางสตูล–ลังกาวี สามารถเดินเรือได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากมีเกาะต่าง ๆ เป็นแนวป้องกันมรสุม นอกจากยังมีเส้นทางท่องเที่ยวอื่นๆ ได้แก่ ปีนัง–เบลาวันและ ปีนัง–ลังกาวี มีผู้ประกอบการเป็นชาวมาเลเซีย ลังกาวี–หลีเป๊ะ ผู้ประกอบการมีทั้งไทยและมาเลเซีย7

        สำหรับเรือสินค้าต้องเข้าเทียบท่าเรือศุลกากรซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับท่าเรือโดยสาร สินค้าที่ผ่านท่าเรือศุลกากร แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ สินค้าส่งออกไปยังเกาะลังกาวี ส่วนใหญ่เป็นอาหารสด เนื่องจากลังกาวีมีพื้นที่ทำการเกษตรน้อย ร้อยละ 80 ของอาหารต้องนำเข้าจากประเทศไทย และสินค้าอีกส่วนหนึ่งส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย เรือที่ใช้ขนส่งสินค้านั้นเป็นเรือไม้ดัดแปลงมีขนาดปานกลาง เนื่องจากร่องน้ำมีความลึกเพียง 3 เมตร ทั้งนี้ไม่มีสินค้าตู้ผ่านท่าเรือ8

ข้อเสนอแนะในการพัฒนาท่าเรือ
        ท่าเรือตำมะลังมีท่าเทียบเรือยอร์ช แต่ไม่ได้ใช้งานมากว่า 20 ปี ทั้งนี้เพราะร่องน้ำตื้นเขิน เรือขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าเทียบท่าได้ จึงควรมีการขุดลอกร่องน้ำให้สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ได้เพื่อจะได้ใช้งานท่าเรือได้อย่างคุ้มค่ากับเงินที่ได้ลงทุนก่อสร้างและเป็นการสร้างโอกาสด้านการท่องเที่ยวทางทะเลให้กับจังหวัดสตูล9



1สำนักงานจังหวัดสตูล, แผนพัฒนาจังหวัดสตูล พ.ศ. 2557–2560 (ฉบับทบทวน มกราคม 2558) [สายตรง] แหล่งที่มา: https://drive.google.com/folderview?id=0B3_qnPL67w20fmhsektrbDF4U2ZGYVZfQWQ1MDhNaExCNnF1TDg2T3l2NmJkNVFQeW5pM0E&usp=sharing [21 พฤศจิกายน 2558].

2สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5, ข้อมูลท่าเทียบเรือ: ท่าเทียบเรือตำมะลัง [สายตรง]. แหล่งที่มา: http://md5.go.th/index.php/2014-07-26-07-52-5/details/1/101/ข้อมูลท่าเทียบเรือ-ท่าเทียบเรือตำมะลัง [20 พฤศจิกายน 2558].

3สุมาลี สุขดานนท์ และคณะ. รายงานการศึกษาโครงข่ายการค้าและคมนามเชื่อมโยงภาคใต้ตอนล่างของไทยกับเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียเพื่อพัฒนาการค้าและการท่องเที่ยว (กรุงเทพมหานคร: สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559), หน้า 80.

4สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5, ข้อมูลท่าเทียบเรือ: ท่าเทียบเรือตำมะลัง [สายตรง]. แหล่งที่มา: http://md5.go.th/index.php/2014-07-26-07-52-5/details/1/101/ข้อมูลท่าเทียบเรือ-ท่าเทียบเรือตำมะลัง [20 พฤศจิกายน 2558].

5ด่านศุลกากรสตูล สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 กรมศุลกากร. (มปป.) หน้า 12 (อัดสำเนา).

6สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5, ข้อมูลท่าเทียบเรือ: ท่าเทียบเรือตำมะลัง [สายตรง]. แหล่งที่มา: http://md5.go.th/index.php/2014-07-26-07-52-5/details/1/101/ข้อมูลท่าเทียบเรือ-ท่าเทียบเรือตำมะลัง [20 พฤศจิกายน 2558].

7สุมาลี สุขดานนท์ และคณะ. รายงานการศึกษาโครงข่ายการค้าและคมนามเชื่อมโยงภาคใต้ตอนล่างของไทยกับเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียเพื่อพัฒนาการค้าและการท่องเที่ยว หน้า 80. 8เรื่องเดียวกัน, หน้า 81.

9เรื่องเดียวกัน
ท่านคือผู้เข้าชมคนที่
สงวนลิขสิทธิ์ สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชั้น 6 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ถนนพญาไท ปทุมวัน กรุงเทพ ฯ 10330 Email : tri@chula.ac.th