ท่าเรือฮ่องกง

จัดทำข้อมูลโดย : สุมาลี สุขดานนท์
ปีที่จัดทำ : มีนาคม 2554

Image from unsplash.com
ท่าเรือฮ่องกงเป็นท่าเรือหลักของโลกมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในอดีตเคยเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างยุโรปและตะวันออกไกล ในปัจจุบันเป็นท่าเรือตู้สินค้าที่พลุกพล่านที่สุดในโลก เป็นท่าเรือที่ตู้สินค้าเปลี่ยนถ่ายเรือที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้ยังเป็นท่าเรือที่ทำการรวบรวมและกระจายสินค้าให้กับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนทั้งในอดีตเมื่อฮ่องกงยังอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษและปัจจุบันเมื่อฮ่องกงกลับมาอยู่ในอาณัติของสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 19971
สงครามฝิ่นกับท่าเรือฮ่องกง
ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1800 เกาะฮ่องกงยังเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ซึ่งเป็นที่ซ่องสุ่มของโจรสลัด ในปีค.ศ. 1821 พ่อค้าชาวอังกฤษได้ใช้ฮ่องกงเป็นท่าเรือในการขนถ่ายฝิ่นเพื่อส่งเข้าไปขายในประเทศจีน2

ที่มา: Port of Hong Kong Handbook 2010. [Online]. Available from: http:viewer.zmags.com/publication/b54b93b8[7 March 2011].
ท่าเรือฮ่องกงได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วประกอบกับมีอ่าวจอดเรือที่เหมาะกับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่จนกลายเป็นสถานีการค้าที่สำคัญของอังกฤษในตะวันออกไกล หลังสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 (ค.ศ.1839-1842) ซึ่งเป็นสงครามระหว่างจีนและอังกฤษ โดยจีนเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ภายใต้สนธิสัญญานานกิง ค.ศ. 1842 จีนต้องยกเกาะฮ่องกงรวมถึงเกาะเล็กเกาะน้อยที่อยู่รอบ ๆ ให้เป็นเขตเช่าของอังกฤษ ต่อมาจีนทำสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 (ค.ศ.1856-1860) กับอังกฤษและมหาอำนาจตะวันตกอื่น จีนแพ้สงครามอีกครั้ง ภายใต้สนธิสัญญาเทียนจิน ค.ศ.1842 และข้อตกลงปักกิ่ง ค.ศ. 1860 มีผลทำให้ฮ่องกง คาบสมุทรเกาลูนและพื้นที่ที่เป็นเขตซินเจี้ยในปัจจุบันให้เป็นเขตเช่าของอังกฤษ 99 ปี (ค.ศ.1898-1997)
ตั้งแต่สงครามฝิ่นครั้งที่ 1 เป็นต้นมาท่าเรือฮ่องกงได้รับการประกาศให้เป็นท่าเรือปลอดภาษี (Free Port) และทำหน้าที่เป็นท่าเรือที่ทำการรวบรวมและกระจาย (Entrepot Port) สินค้านำเข้าและส่งออกไปยังจีนให้แก่จักรวรรดิอังกฤษ3 จนได้รับสมญานามว่า “อัญมณีแห่งตะวันออก”
ทำเลที่ตั้งท่าเรือ
ท่าเรือฮ่องกงตั้งอยู่บนคาบสมุทรเกาลูนซึ่งตั้งอยู่ที่ปากแม่น้ำจูเจียง (แม่น้ำจูเจียงเป็นแม่น้ำที่มีความยาวเป็นอันดับสามของจีน รองจากแม่น้ำฉางเจียงหรือแม่น้ำซีเกียง และแม่น้ำหวางเหอหรือฮวงโห) โดยคาบสมุทรเกาลูนเป็นส่วนหนึ่งของเขตปกครองพิเศษฮ่องกงซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นในมณฑลกวางตุ้ง หนึ่งในแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของจีน จึงทำให้ท่าเรือฮ่องกงเป็นท่าเรือที่ทำหน้าที่เป็นประตูการค้าที่สำคัญของจี

ที่มา: Hong Kong Port Development Council. Hong Kong Port Facilities/the Port of Ho
สิ่งอำนวยความสะดวกในท่าเรือ
สิ่งอำนวยความสะดวกในท่าเรือฮ่องกงแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
1. ท่าเทียบเรือ ประกอบด้วยท่าเทียบเรือสินค้าและท่าเทียบเรือโดยสาร ได้แก่
– ท่าเทียบเรือตู้สินค้า ตั้งอยู่ในแอ่งจอดเรือไควชุง-ชิงอี (Kwai Chung-Tsing Yi Basin) ซึ่งมีระดับน้ำลึกถึง 15 เมตร เป็นที่ตั้งของท่าเทียบเรือตู้สินค้า 9 ท่า ประกอบด้วยท่าเทียบเรือย่อย (Berth) 24 ท่า ความยาวหน้าท่ารวม 7,694 เมตร พื้นที่รวม 279 เฮคเตอร์ มีขีดความสามารถในการรับตู้สินค้าไม่ต่ำกว่า 19 ล้านTEUs ต่อปี4
– ท่าเทียบเรือแม่น้ำ จำนวน 1 ท่า ประกอบด้วยท่าเทียบเรือย่อย 49 ท่า ความยาวหน้าท่า 3,000 เมตร พื้นที่รวม 65 เฮคเตอร์5 ตั้งอยู่บริเวณตุนเหมิน (Tuen Mun) ท่าเรือแม่น้ำเหล่านี้เป็นท่าเรือที่ทำการรวบรวมสินค้า ทั้งสินค้าตู้ สินค้าทั่วไป และสินค้าเทกอง และขนส่งระหว่างท่าเรือฮ่องกงและท่าเรือในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง6

ที่มา: River Trade Terminal Co., Ltd. Company Profile. [Online].
Available from: http;//www.rttc.com.hk/fac_layout_ter.html12 March, 2011].
– ท่าเทียบเรือ PCWAs (Public Cargo Working Areas) เป็นท่าเทียบเรือซึ่งจัดสรรให้ผู้ประกอบการใช้ในการบรรทุกขนถ่ายสินค้าทั้งสินค้าบรรจุตู้และไม่บรรจุตู้ที่ขนส่งโดยเรือลำเลียง ในปัจจุบัน PCWAs มีทั้งสิ้น 8 แห่ง กระจายอยู่ตามชายฝั่ง โดยมีความยาวหน้าท่ารวมกัน 6,672 เมตร ท่าเทียบเรือเหล่านี้บริหารจัดการโดย กรมเจ้าท่า (Marine Department) ของฮ่องกง แต่ประกอบการโดยเอกชน7
– ท่าเทียบเรือโดยสารข้ามแดน (Cross-boundary Ferry Terminals) จำนวน 4 ท่า เป็นท่าเทียบเรือของรัฐ 3 ท่า และท่าเทียบเรือเอกชน 1 ท่า ตั้งอยู่ในเกาะฮ่องกง คาบสมุทรเกาลูน และท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกงซึ่งตั้งอยู่บนเกาะต้าหยูซาน โดยสามารถข้ามแดนไปยังมาเก๊าและประเทศจีน 8
2. ที่จอดเรือกลางน้ำ ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นที่จอดเรือเพื่อรอเทียบ หรือเพื่อหลบพายุแล้ว ยังใช้ในการบรรทุกขนถ่ายสินค้ากลางน้ำ ประกอบด้วย
– ทุ่นผูกเรือกลางน้ำ เป็นทุ่นผูกเรือกลางน้ำของรัฐจำนวน 17 ทุ่น9 และเอกชนจำนวน 1,862 ทุ่น ทุ่นผูกเรือของรัฐแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ10
>> Class A สำหรับเรือที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 183 เมตร กินน้ำลึก 6.4-10.8 เมตร จำนวน 13 ทุ่น
>> Class B สำหรับเรือที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 137 เมตร กินน้ำลึก 4.8-9.7 เมตร จำนวน 4 ทุ่น
– ที่จอดทอดสมอ จำนวน 24 แห่ง ครอบคลุมพื้นน้ำ 4,357 เฮคเตอร์11
– ที่กำบังมรสุม จำนวน 14 แห่ง ครอบคลุมพื้นน้ำ 423 เฮคเตอร์12


Available from: http:viewer.zmags.com/publication/b54b93b8 [7 March 2011].
3. สิ่งอำนวยความสะดวกที่สนับสนุนการปฏิบัติงานของท่าเรือ
– สิ่งอำนวยความสะดวกนอกท่าเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานบรรทุกขนถ่ายของท่าเรือฮ่องกง ได้แก่ ศูนย์รวบรวมตู้สินค้า ลานวางเรียงตู้สินค้า ศูนย์จอดรถขนส่งตู้สินค้าและโรงซ่อมรถ สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่ซินเจี้ย (New Territories) โดยมีพื้นที่รวม 414 เฮคเตอร์13
– อู่ซ่อมเรือ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ14
>> อู่ซ่อมเรือขนาดเล็กที่ขนส่งภายในประเทศ อู่เหล่านี้ตั้งอยู่ในทำเล 11 แห่งรอบชายฝั่ง
>> อู่ลอยและอู่ซ่อมเรือเดินสมุทร ซึ่งมีอยู่ 3 อู่ และทั้งหมดตั้งอยู่นอกชายฝั่งชิงอี
การบรรทุกขนถ่ายสินค้า
ท่าเรือฮ่องกงเป็นหนึ่งในท่าเรือที่มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าสูงที่สุดในโลก

ที่มา: Port of Hong Kong Handbook 2010, p. 5. [Online].
Available from: http:viewer.zmags.com/publication/b54b93b8 [7 March 2011].
ระหว่างปี 2542-2547 เป็นท่าเรือที่มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก15 ในแต่ละปีมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือสูงกว่า 20 ล้านTEUs ท่าเทียบเรือที่ทำการบรรทุกขนถ่ายสินค้าประกอบด้วยท่าเทียบเรือสินค้าตู้ ท่าเรือแม่น้ำ ท่าเทียบเรือ PCWAs ซึ่งประมาณร้อยละ 72 ของตู้สินค้าผ่านท่าเรือบรรทุกและขนถ่ายที่ท่าเทียบเรือตู้สินค้าไควชุง-ชิงอี16
นอกจากการบรรทุกขนถ่ายสินค้า ณ ท่าเทียบเรือแล้ว ตู้สินค้าอีกประมาณร้อยละ 28 เป็นการบรรทุกขนถ่ายกลางน้ำ (Mid-stream Operations)17 ตู้สินค้าบรรทุกโดยเรือลำเลียงที่มีอุปกรณ์ยกขนตู้ในตัวระหว่างท่าเทียบเรือ PCWAs และทุ่นผูกเรือกลางน้ำหรือที่จอดทอดสมอซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 12 แห่งในอ่าววิคตอเรีย ครอบคลุมพื้นน้ำ 34.6 เฮคเตอร์ เป็นแนวยาวทั้งสิ้น 3,513 เมตร18 เรือตู้สินค้าที่ขนถ่ายกลางน้ำมีทั้งเรือตู้สินค้าขนาดเล็ก หรือเรือ Feeder และเรือขนาดใหญ่ซึ่งบรรทุกตู้สินค้า 2,000-4,000 TEUs19
การบรรทุกขนถ่ายกลางน้ำอยู่คู่กับท่าเรือฮ่องกงซึ่งเป็นท่าเรืออันดับหนึ่งของโลกมาตั้งแต่อดีตเมื่อการขนส่งทางทะเลยังใช้เรือสำเภาจนถึงปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าเป็นท่าเรือตู้สินค้าที่สำคัญของโลกเพียงแห่งเดียวที่ยังใช้การบรรทุกขนถ่ายวิธีนี้อยู่ ในแรกเริ่มที่เรือใช้บริการการขนถ่ายสินค้ากลางน้ำเนื่องจากเสียค่าใช้จ่ายถูกกว่าการเข้าเทียบท่า ต่อมาการบรรทุกขนถ่ายสินค้ากลางน้ำกลายเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากท่าเรือประสบปัญหาขาดแคลนพื้นที่ในการขยายท่าเรือเพื่อรองรับปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
แม้ว่าการบรรทุกขนถ่ายสินค้ากลางน้ำเป็นวิธีบรรทุกขนถ่ายสินค้าที่เก่าแก่และมักจะถูกมองว่าเป็นวิธีการบรรทุกขนถ่ายสินค้าที่ล้าสมัย สาเหตุหนึ่งที่การบรรทุกขนถ่ายสินค้ากลางน้ำเสื่อมความนิยมเป็นเพราะการปฏิบัติงานกลางน้ำกระทำได้ยากกว่าและเสียเวลามากกว่าบนท่าเทียบเรือ อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการที่สินค้าเสียหายง่ายกว่าบนฝั่ง อย่างไรก็ตามท่าเรือฮ่องกงกลับสามารถปฏิบัติงานบรรทุกขนถ่ายสินค้ากลางน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ อัตราในการยกขนตู้สินค้าโดยเฉลี่ย 15 ตู้/ชั่วโมง หรือ 4 นาทีต่อตู้20 โดยเรือลำเลียงจะจอดเทียบเดินสมุทรทั้งซ้ายและขวาและยกขนตู้สินค้าพร้อมกัน
การบรรทุกขนถ่ายสินค้ากลางน้ำดำเนินการโดยผู้ประกอบการเอกชนดังนี้21
– China Merchant Container Services Ltd.
– Faith and Safe Transportation Ltd.
– Fat Kee Stevedores Ltd.
– Hoi Kong Container Services Co., Ltd.
– Ocean Crown Transportation Ltd.
– Shenshin Shipping Agency Co., Ltd.
– Tai wah Sea-Land Heavy Transportation Ltd.
– Transward Asia Port Service Ltd.
การบริหารจัดการท่าเรือ
หน่วยงานของรัฐเกี่ยวข้องกับท่าเรือฮ่องกงโดยตรงมี 2 หน่วย ได้แก่
– Hong Kong Port and Maritime Board เป็นหน่วยงานจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1988 เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลในด้านการพัฒนาท่าเรือ และในเดือนธันวาคม 2001 ได้ขยายขอบเขตการดำเนินงานให้ครอบคลุมการขนส่งและโลจิสติกส์ หน่วยงานนี้ประกอบด้วยคณะกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการพัฒนาท่าเรือ (Port Development Committee) ซึ่งทำหน้าที่ในการวางแผนพัฒนาท่าเรือ และคณะกรรมการการขนส่งทางเรือ (Shipping Committee) ซึ่งทำหน้าที่พัฒนาศักยภาพในการแข่งขันเพื่อให้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการขนส่งท่าเรือของโลกู้22
– กรมเจ้าท่า (Marine Department) ทำหน้าที่จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินเรือ อำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยด้านการเดินเรือ รวมถึงการจดทะเบียนเรือและลูกเรือ23
จุดเด่นของท่าเรือฮ่องกง คือ เป็นท่าเรือซึ่งไม่มีการท่าเรือ (Port Authority) เพื่อทำหน้าที่ในการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในท่าเรือ และควบคุมการดำเนินงานของท่าเรือ ดังเช่นท่าเรืออื่น ๆ หน่วยงานทั้งสองที่กล่าวมาข้างต้นทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายในการพัฒนาท่าเรือ และควบคุมกำกับในด้านการเดินเรือเท่านั้น การบริหารจัดการและลงทุนในสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหมดของท่าเรือฮ่องกง รวมถึงการบรรทุกขนถ่ายสินค้า ดำเนินการโดยเอกชน โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ท่าเทียบเรือตู้สินค้า บริหารและประกอบการโดยเอกชน 5 ราย ได้แก่
– Modern Terminals (MTL)
MTL เป็นผู้ประกอบการรายแรกของท่าเรือฮ่องกงโดยเริ่มประกอบการตั้งแต่ ค.ศ. 1972 ปัจจุบันบริหารและประกอบการท่าเทียบเรือตู้สินค้าหมายเลข 1, 2, 5 และ 9 (ด้านใต้) ประกอบด้วยท่าเทียบเรือย่อย 9 ท่า มีความยาวหน้าท่ารวมกัน 2,432 เมตร ระดับน้ำหน้าท่าลึก 15.5 เมตร มีขีดความสามารถในการบรรทุกขนถ่ายสินค้ารวมกัน 7 ล้านTEUsต่อปี24
– Hongkong International Terminals (HIT)
HIT บริหารและประกอบการท่าเทียบเรือตู้สินค้าตั้งแต่ ค.ศ. 1976 โดยเริ่มประกอบการท่าเทียบเรือหมายเลข 4 ปัจจุบัน HIT ประกอบการท่าเทียบเรือทั้งสิ้น 5 ท่า ได้แก่ ท่าเทียบเรือ หมายเลข 4, 6, 7, 9 (ด้านเหนือ) และ 8 (ด้านตะวันออก) สำหรับท่าเทียบเรือหมายเลข 8 บริหารและประกอบการร่วมกับบริษัท COSCO Pacific ผ่านบริษัทร่วมทุน COSCO-HIT ทำให้มีท่าเทียบเรือย่อยรวมทั้งสิ้น 12 ท่า หน้าท่ามีความยาวรวมกัน 4,292 เมตร หน้าท่ามีระดับน้ำลึก 14.2-15.5 เมตร25
รายละเอียดท่าเทียบเรือ บริษัท Hongkong International Terminals (HIT)

Available from: http;//www.hit.com.hk/Print%20version/hongkong/htm. [25 January, 2011].
– COSCO-HIT Terminals (COSCO-HIT)
COSCO-HIT เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท COSCO Pacific และบริษัท HIT บริหารและประกอบการท่าเทียบเรือหมายเลข 8 (ตะวันออก) ซึ่งประกอบด้วยท่าเทียบเรือย่อย 2 ท่า ความยาวหน้าท่า 640 เมตร ระดับน้ำลึก 15.5 เมตร ขีดความสามารถในการรับตู้สินค้า 1.8 ล้านTEUsต่อปี นอกจากนี้ยังบริหารและประกอบการท่าเทียบเรือลำเลียงซึ่งมีความยาวหน้า 448 เมตร สามารถรับเรือลำเลียงได้ 4-5 ลำในคราวเดียว26
– DP World Hong Kong
DP World เริ่มบริหารและประกอบการท่าเทียบเรือหมายเลข 3 ในปี 1973 ความยาวหน้าท่า 305 เมตร ระดับน้ำลึก 14 เมตร ขีดความสามารถในการรับตู้สินค้า 1.2 ล้านTEUsต่อปี27
– Asian Container Terminals (ACT)
ACT เป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดย บริษัท DP World และ PSA International ซึ่งเป็นบริษัทที่บริหารและประกอการโดยท่าเรือสิงคโปร์ บริษัท ACT บริหารและประกอบการท่าเทียบเรือย่อย 2 ท่าในท่าเทียบเรือหมายเลข 9 โดยเริ่มดำเนินการในเดือนเมษายน ค.ศ. 2004 ซึ่งมีความยาวหน้าท่า 740 เมตร ระดับหน้าท่าลึก 15.5 เมตร ขีดความสามารถในการรับตู้สินค้า 2 ล้านTEUsต่อปี28
2. ท่าเทียบเรือแม่น้ำ ซึ่งมีอยู่ 1 ท่า บริหารและประกอบการโดยบริษัท Hong Kong River Trade Terminal

ที่มา: River Trade Terminal Co., Ltd. Company Profile. [Online]. Available from: http;//www.rttc.com.hk/fac_layout_ter.html [12 March, 2011].
โดยเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท Hutchison Port Holding และ Sun Hung Kai Properties เริ่มประกอบการท่าเทียบเรือแม่น้ำในปี 1999 โดยบรรทุกขนถ่ายสินค้าที่ขนส่งระหว่างท่าเรือแม่น้ำบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงในมณฑลกวางตุ้งในประเทศจีน29
3. ท่าเทียบเรือโดยสารข้ามแดน ซึ่งมีอยู่ 4 ท่า ประกอบด้วย
– ท่าเทียบเรือโดยสารข้ามแดนไปยังมาเก๊า มีผู้ประกอบการ 4 ราย ได้แก่
>> New World First Ferry Services Ltd.
>> Shun Tak-China Travel Ship Management Ltd.
>> Cotai Chu Kong Shipping Management Services Co., Ltd.
>> Macao Dragon Co., Ltd.
– ท่าเทียบเรือโดยสารข้ามแดนไปยังประเทศจีน 5 ราย ได้แก่
>> China Merchant Shipping & Enterprises Co., Ltd.
>> Chu Kong Passenger Transport Co., Ltd.
>> Expert Fortune Ltd.
>> Hong Kong North West Express Ltd.
>> Xiamen United Enterprises (HK) Ltd.
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
อิทธิพล ปานงามและคณะ. การศึกษาปัจจัยเปรียบเทียบศักยภาพของท่าเรือในภูมิภาคอินโดจีน. กรุงเทพมหานคร: สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541.
บทความที่เกี่ยวข้อง
สุมาลี สุขดานนท์. สงครามฝิ่น.[สายตรง]. สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554. แหล่งที่มา :
http://www.tri.chula.ac.th/triresearch/hongport/poppy.html
1วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี. เขตบริหารพิเศษฮ่องกง. [สายตรง] แหล่งที่มา: http://th.wikipedia.org/wiki [14 มีนาคม 2554].
2World Port Source. Port of Hong Kong. [Online] Available from: http://www.worldportsource.com/port/HKG_Port_of_Hong_Kong_77.php [18 January, 2011].
3New World Encyclopedia. Hong Kong. [Online]. Available from: http://www.neworldencyclopedia.org/entry/Hong_Kong [1 February, 2011].
4Hong Kong Port Development Council. Hong Kong Port Facilities/Container Terminals. [Online]. Available from: http://www.pdc.gov.hk/eng/facilities/container.htm [25 January, 2011].
5Port of Hong Kong Handbook 2010, p. 5. [Online]. Available from: http:viewer.zmags.com/publication/b54b93b8 [7 March 2011].
6Hong Kong Port Development Council. Hong Kong Port Facilities/River Trade Terminals. [Online]. Available from: http://www.pdc.gov.hk/eng/facilities/river.htm [25 January, 2011].
7Hong Kong Port Development Council. Hong Kong Port Facilities/Public Cargo Working Areas. [Online]. Available from: http://www.pdc.gov.hk/eng/facilities/public.htm [25 January, 2011].
8Port of Hong Kong Handbook 2010, p. 5. [Online].
9Ibid.
10Hong Kong Port Development Council. Hong Kong Port Facilities/Buoys and Anchorages. [Online]. Available from: http://www.pdc.gov.hk/eng/facilities/buoys.htm [23 March, 2011].
11Port of Hong Kong Handbook 2010, p. 5.[Online].
12Ibid.
13Hong Kong Port Development Council. Hong Kong Port Facilities/Port Back-up Facilities. [Online]. Available from: http://www.pdc.gov.hk/eng/facilities/backup.htm [25 January, 2011].
14Hong Kong Port Development Council. Hong Kong Port Facilities/Ship Repair Yards. [Online]. Available from: http://www.pdc.gov.hk/eng/facilities/hip.htm. [25 January, 2011].
15UNCTAD, Review of Maritime Transport 1998 – 2006. (Geneva: United Nations).
16Hong Kong Port Development Council. Hong Kong Port Facilities/the Port of Hong Kong. [Online]. Available from: http://www.pdc.gov.hk/eng/facilities/port.htm [25 January, 2011].
17Ibid.
18Hong Kong Port Development Council. Hong Kong Port Facilities/Mid-stream Sites. [Online]. Available from: http://www.pdc.gov.hk/eng/facilities/midstream.htm [25 January, 2011].
19อิทธิพล ปานงามและคณะ, การศึกษาเปรียบเทียบศักยภาพของท่าเรือในภูมิภาคอินโดจีน. (กรุงเทพฯ:สถาบันพาณิชยนาวี, 2541) หน้า 36.
20เรื่องเดียวกัน.
21Port of Hong Kong Handbook 2010, p. 46. [Online].
22Hong Kong Port and Maritime Board. Background. [Online]. Available from: http://www.pdc.gov.hk/pmb/eng/about/port.htm. [25 January, 2011].
23Marine Department. About Us : Organisation, Functions and Services. [Online]. Available from: http://www.mardep.gov.hk/en/aboutus/dept.html. [10/12/2007].
24Modern Terminals. Operations, Facilities and Equipment. [Online]. Available from: http://www.modernterminals.com/eng/operation/operations/html. [25 January, 2011].Port of Hong Kong Handbook 2010, p. 28-29. [Online].
25Hongkong International Terminals. Our Industry Hong Kong Port Evolution. [Online]. Available from: http;//www.hit.com.hk/Print%20version/hongkong/htm. [25 January, 2011].Port of Hong Kong Handbook 2010, p. 26-27. [Online].
26Hutchison Port Holdings. COSCO-HIT Terminals. [Online]. Available from: http://www.hph.com/globalbusinessaspx?gid=61 [25 January, 2011].
Port of Hong Kong Handbook 2010, p. 31-33. [Online]. Available from: http://viewer.zmags.com/publication/b54b93b8 [7 March, 2011].
27DP World Hong Kong. Company Overview. [Online]. Available from: http://www.dpworldhk.en_csxhk_main.html. [26 January, 2011].
28Asia Container Terminals Ltd. Company Overview. [Online]. Available from: http://www.asiacontainerterminals.com/en_act_main.html. [26 January, 2011].
Asia Container Terminals Ltd. Shareholders. [Online]. Available from: http://www.asiacontainerterminals.com/en_act_shareholders.html. [26 January, 2011].
Port of Hong Kong Handbook 2010, p. 36-37. [Online].
29River Trade Terminal Co., Ltd. Company Profile. [Online]. Available from: http://www.rttc.com.hk/about_us_com.html [12 March, 2011].