จัดทำข้อมูลโดย : สุมาลี สุขดานนท์
ปัจจุบันท่าเรือสิงคโปร์เป็นท่าเรือตู้สินค้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดย เฉพาะอย่างยิ่ง การเป็นท่าเรือที่ตู้สินค้าเปลี่ยนถ่ายเรือ (Transshipment Hub) ที่ใหญ่ที่สุดของโลก ท่าเรือสิงคโปร์มีสายเรือที่แวะจอดเพื่อขนส่งตู้สินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกถึง 160 เที่ยวต่อวัน สามารถเชื่อมต่อกับท่าเรือต่าง ๆ ประมาณ 600 ท่า ใน 123 ประเทศทั่วโลก2 จุดเริ่มต้นของท่าเรือสิงคโปร์ยุคใหม่ ท่าเรือสิงคโปร์ในยุคใหม่เริ่มต้นเมื่อ เซอร์ โธมัส แสตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ (Sir Thomas Stamford Raffles) ผู้ว่าราชการอังกฤษและคณะมาถึงเกาะสิงคโปร์เมื่อวันที่ 28 มกราคม ค.ศ.1819 เพื่อก่อตั้งสถานีการค้าของบริษัท อินเดียตะวันออก ของอังกฤษ ณ เกาะสิงคโปร์
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1819 เมื่อเซอร์แรฟเฟิลส์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Master Attendant (Harbour Master) ได้ประกาศให้ท่าเรือสิงคโปร์เป็นท่าเรือปลอดภาษี (Free Port) โดยเปิดให้สินค้าที่ขนส่งโดยเรือทุกชาติสามารถบรรทุกขนถ่ายได้โดยไม่ต้องเสียภาษี เมื่อสิงคโปร์เป็นประเทศเอกราชในปี ค.ศ. 1965 ได้พัฒนาท่าเรือสิงคโปร์โดยยังคงบทบาทในการเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างยุโรป ตะวันออกกลาง ตะวันออกไกล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อเมริกา และออสเตรเลีย และเป็นท่าเรือปลอดภาษีมาจนถึงปัจจุบัน จากฝั่งแม่น้ำสู่ฝั่งทะเล ท่าเรือสิงคโปร์ในยุคแรกตั้งอยู่ที่ปากแม่น้ำสิงคโปร์ ปริมาณเรือและสินค้าที่ผ่านท่าเรือได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งปี ค.ศ. 1834 ได้เกิดปัญหาท่าเรือแออัดขึ้นในท่าเรือ ในปี ค.ศ. 1845 ได้มีการสำรวจชายฝั่งเพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือ Keppel
ในปี ค.ศ. 1852 ท่าเทียบเรือ Keppel ได้รับการได้ปรับเปลี่ยนจากเดิมเป็นท่าเทียบเรือที่ให้บริการเติมเชื้อเพลิงถ่านหินให้เรือเดินสมุทรมาเป็นท่าเทียบเรือรับสินค้า และท่าเทียบเรือ Keppel เป็นท่าเทียบเรือหลักของท่าเรือสิงคโปร์ต่อมาอีก 50 ปี ทำเลที่ตั้งท่าเรือ ท่าเรือสิงคโปร์ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของคาบสมุทรมลายู ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ ละติจูดที่ 1 ํ 17' 34" เหนือ ลองติจูดที่ 103 ํ 43' 31" ตะวันออก อยู่ห่างจากท่าเรือยะโฮร์ (Port of Johor) ของมาเลเซีย และห่างจากท่าเรือปาเลมบัง (Port of Palembang) ของอินโดนีเซียประมาณ 250 ไมล์ทะเลทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ4 ท่าเรือสิงคโปร์ตั้งอยู่ในเส้นทางหลักของทางเดินเรือหรือเส้นทางการค้าที่สำคัญของโลก (Crossroads of International Trade) เนื่องจากตั้งอยู่บนปลายสุดของคาบสมุทรมลายู ระหว่างช่องแคบมะละกาและช่องแคบสิงคโปร์ ดังนั้น เรือที่จะเดินทางระหว่างยุโรป ตะวันออกกลาง ตะวันออกไกล ไปจนถึงชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องผ่านช่องแคบนี้ ทั้งนี้เพราะเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุด กล่าวได้ว่าท่าเรือแห่งนี้เป็นจุดเชื่อมระหว่างยุโรปและตะวันออกไกล หรือมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก5 ท่าเทียบเรือ ท่าเรือสิงคโปร์เป็นท่าเรือชายฝั่งธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่สามารถรับเรือที่มีความยาวมากกว่า 500 ฟุต และมีร่องน้ำกว้างกว่า 26-30 ฟุต (3.4-4.6 เมตร)6 ท่าเรือสิงคโปร์ประกอบท่าเทียบตู้สินค้า 4 ท่า ได้แก่ ท่าเทียบเรือ Brani ท่าเทียบเรือ Keppel ท่าเทียบเรือ Tanjong Pagar และ ท่าเทียบเรือ Pasir Panjang ท่าเทียบเรือเหล่านี้ ใช้อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกัน และมีขีดความสามารถในการรับตู้สินค้ารวมกันในคราวเดียว 35,000 TEUs7 ![]() ที่มา : PSA Singapore. Port Promote Sheet - 2007 [Online]. Available from: http://www.singaporepsa.com [5 February, 2009]. นอกจากนี้ยังประกอบด้วยท่าเรือเทียบเรือเอนกประสงค์ 2 ท่า
- Pasir Panjang Automobile Terminal (PPAT) เป็นท่าเรือเฉพาะกิจที่ขนส่งยานยนต์ เริ่มเปิดให้บริการในวันที่ 1 มกราคม 2009 ประกอบด้วยท่าเทียบเรือย่อย 3 ท่า ลานจอดยานยนต์กลางแจ้ง และลานในร่ม ซึ่งสามารถจอดรถได้ประมาณ 20,000 คัน - ท่าเทียบเรือ Sembawang ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่เมือง Sembawang ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ในสมัยที่อังกฤษยังมีกองทัพอยู่ในสิงคโปร์ได้ใช้ที่นี่เป็นฐานทัพ ในปี ค.ศ. 1971 ได้โอนพื้นที่นี้ให้อยู่ในความดูแลของ PSA และเริ่มก่อสร้างท่าเทียบเรือ Sembawang เพื่อเป็นท่าเทียบเรือเอนกประสงค์ สินค้าที่ขนส่งผ่านท่าเทียบเรือส่วนใหญ่เป็นสินค้าทั่วไป เช่น ผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องจักร อุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก บริเวณท่าเทียบเรือมีสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ คลังสินค้า8 PSA PSA หรือ Port of Singapore Authority เป็นองค์กรที่เป็นเจ้าของท่าเรือสิงคโปร์ มีหน้าที่ บริหารและประกอบการท่าเรือ โดยหน่วยงานนี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ Maritime and Port Authority of Singapore (MPA) และกระทรวงขนส่ง (Ministry of Transport)
PSA ก่อตั้งในปี 1964 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างองค์กรอยู่หลายครั้ง เพื่อให้เหมาะกับการพัฒนาท่าเรือ ครั้งแรกก่อตั้งขึ้นเพื่อรับโอนกิจการท่าเรือมาจาก Singapore Harbour Board ต่อมาในปี 1997 ได้แปรรูปองค์กรมาเป็นบริษัท โดยใช้ชื่อว่า PSA Corporation Limited และในปี 2003 ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรเพื่อให้เหมาะกับบทบาทใหม่ในการเป็นผู้ลงทุนและผู้ประกอบการท่าเรือในต่างประเทศ โดยใช้ชื่อว่า PSA International Pte.,Ltd. หน้าที่หลักของ PSA มีดังนี้ 1. เป็นผู้ประกอบการท่าเรือสิงคโปร์ (Operator Terminal) ได้แก่ ท่าเทียบเรือ Brani ท่าเทียบเรือ Keppel ท่าเทียบเรือ Tanjong Pargar ท่าเทียบเรือ Pasir Panjan และท่าเทียบเรือ Sembawang 2. เป็นผู้ร่วมทุน (Joint Venture) กับบริษัทต่าง ๆ เพื่อประกอบการท่าเทียบเรือในท่าเรือสิงคโปร์ 3. เป็นผู้ลงทุนและประกอบการในท่าเรือประเทศต่าง ๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาใต้ ในนาม PSA International Pte.,Ltd. ท่าเรือเหล่านี้มีขีดความสามารถในการรับตู้สินค้าทั่วโลกรวมกันประมาณ 111 ล้านTEUs9 ต่อปี มีความยาวหน้าท่ารวม 66 กิโลเมตร ในปี 2008 มีตู้สินค้าผ่านท่าทุกท่าเทียบเรือทั่วโลกรวมกัน 63.2 ล้านTEUs ท่าเทียบเรือที่ PSA International Pte., Ltd. ลงทุนและประกอบกิจการมีทั้งสิ้น 42 ท่า ใน 15 ประเทศ การที่ท่าเรือสิงคโปร์สามารถบริหารจัดการท่าเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นผลมาจากการกำหนดนโยบายด้านการขนส่งทางทะเลที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมของรัฐ มีองค์กรเฉพาะเพื่อรับผิดชอบกิจการท่าเรือและพาณิชยนาวี ทำให้ PSA สามารถปรับเปลี่ยนแปลงรูปแบบองค์กรให้สอดคล้องกับบทบาทของท่าเรือสิงคโปร์ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนไปตามพลวัตการขนส่งทางทะเลซึ่งเกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ PSA สามารถบริหารท่าเรืออย่างมีประสิทธิภาพ คือ การบริหารโดยปราศจากการแทรกแซงจากการเมือง ซึ่งเป็นนโยบายหลักของประเทศที่เน้นย้ำการมีภาพลักษณ์ที่โปร่งใส และไม่แทรกแซงการดำเนินงานของภาคธุรกิจไม่ว่าธุรกิจนั้นจะประกอบการโดยรัฐหรือเอกชน งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง สุมาลี สุขดานนท์และคณะ. การศึกษาปัจจัยสู่ความสำเร็จของท่าเรือที่ตู้สินค้าเปลี่ยนถ่ายเรือในเอเชีย. กรุงเทพมหานคร : สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553. อิทธิพล ปานงามและคณะ. การศึกษาปัจจัยเปรียบเทียบศักยภาพของท่าเรือในภูมิภาคอินโดจีน. กรุงเทพมหานคร : สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541. บทความที่เกี่ยวข้อง สุมาลี สุขดานนท์. การครอบครองคาบสมุทรมาลายูของมหาอำนาจตะวันตก. [สายตรง]. สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554 แหล่งที่มา : http://www.tri.chula.ac.th/triresearch/malau/malau.html 1Fernando G. Baptista, Virginia W. Mason and Lisa R. Ritter and group. Trade Route Discovery National Geographic. [Online], Available from: http://ngm.nationalgeographic.com/2009/06/tang-shipwreck/trade-route-illustration [24 November, 2009]. 2Singapore Shipping Association. SSA Directory - Shipping Directory [Online]. Available from: http://www.ssa.org.sg/index.cfm?GPID=212 [7 January, 2009]. 3ทั้งนี้เป็นผลมาจากเรือของบริษัท Penisular & Oriental Steam Navigation (P&O) ซึ่งเป็นเรือกลไฟลำแรกโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงแวะจอดที่ท่าเรือสิงคโปร์ เพื่อเติมเชื้อเพลิง แต่ท่าเรือยังไม่มีการก่อสร้างท่าเทียบเรือเพื่อเก็บรักษาถ่านหิน จึงต้องใช้เรือลำเลียงบรรทุกและเก็บถ่านหิน โดยจอดรอในแม่น้ำสิงคโปร์ เมื่อเรือกลไฟมาถึงจึงบรรทุกลงเรือโดยใช้แรงงาน เป็นผลให้ถ่านหินหลายร้อยตันตกหล่นในทะเลระหว่างการบรรทุกถ่านหินลงเรือ ที่มา : PSA International. Heritage-Aggravition of the Situation. [Online]. Available from: internationalpsa.com/_herritage_b1 [18 September, 2009]. 4Mark E. Waters. Port of Singapore [Online]. Available from: http://www.worldportsource.com/ports/ SGP_ Port_of_Singapore_244.php [5 April, 2010]. 5อิทธิพล ปานงาม และคณะ, การศึกษาเปรียบเทียบศักยภาพของท่าเรือในภูมิภาคอินโดจีน, (กรุงเทพ ฯ: สถาบันพาณิชยนาวี, 2541) หน้า 70. 6Mark E. Waters. Port of Call Information - Port of Singapore [Online]. Available from: http://www.worldportsource.com/ports/SGP_Port_of_Singapore_244.php [5 April, 2010]. 7PSA. Singapore [Online]. Available from : http://www.internationalpsa.com/factsheet/singapore.html [5 February, 2009]. 8PSA Singapore. About Portfolio - Terminal - Multi-Purpose Terminal [Online]. Available from : http://www.singaporepsa.com/terminal.php [25 May, 2010]. 9PSA International. New release-PSA win Seatrade Asia "Continer Terminal Award" for secand year [online]. Available from: http://wwwinternationalpsa.com [5 February 2009]. |
|