การพัฒนาขนส่งทางลำน้ำของประเทศจีน
จัดทำข้อมูลโดย : สุมาลี สุขดานนท์
ปีที่จัดทำ : เมษายน 2559
สภาพทั่วไปของการขนส่ง
จากสถิติในปี 2012 เส้นทางการขนส่งทางลำน้ำของประเทศจีนมีความยาวรวมทั้งสิ้น 124,995 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 3 ของเส้นทางคมนาคมในประเทศ ในขณะที่เส้นทางถนนมีทั้งสิ้น 423,750 กิโลเมตร และทางรถไฟมีความยาวทั้งสิ้น 66,298 กิโลเมตร อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 1990 เส้นทางทางลำน้ำในประเทศจีนได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2012 เพิ่มขึ้นจากปี 1990 ร้อยละ 14 และเส้นทางน้ำที่พัฒนาให้ได้มาตรฐานเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี เส้นทางทีได้รับการพัฒนานี้มีสัดส่วนร้อยละ 50 ของเส้นทางลำน้ำทั้งหมด (ตารางที่ 1) สำหรับปริมาณสินค้าที่ขนส่งทางลำน้ำภายในประเทศมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 11 ของปริมาณสินค้าที่ขนส่งภายในประเทศทั้งหมด (รูปที่ 1) โดยมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละประมาณร้อยละ 13 ต่อปี (รูปที่ 2)
นโยบายในการพัฒนาการขนส่งทางลำน้ำของประเทศจีน
หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบลำน้ำของประเทศจีนมี 2 หน่วยงาน คือ กระทรวงทรัพยากรน้ำ (Ministry of Water Resource) เป็นกระทรวงหลักในการพัฒนาลุ่มน้ำทั้งหมดในประเทศจีน เพื่อประโยชน์ทั้งด้านชลประทาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ในการขนส่งทางลำน้ำ รวมถึงการสร้างเขื่อนซึ่งใช้ประโยชน์ 3 ด้าน คือ การชลประทาน การผลิตกระแสไฟฟ้า และการเดินเรือ
อีกหน่วยงานหนึ่ง ได้แก่ กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานที่กำหนดนโยบายและการบริหารจัดการ การขนส่งทางน้ำของประเทศ ตลอดจนออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือและการขนส่งในลำน้ำ ภายใต้กระทรวงคมนาคมมีหน่วยงานระดับปฏิบัติการ ได้แก่ สำนักงานจัดการการเดินเรือในแม่น้ำแยงซี และสำนักงานจัดการการเดินเรือในแม่น้ำจูเจียง นอกจากนี้ในแต่ละมณฑลยังมีสำนักงานที่จัดการการเดินเรือในเรือมณฑล หน่วยงานเหล่านี้ขอบเขตภาระคล้ายคลึงกันแต่ขนาดของพื้นที่แตกต่างกันไป ภาระหน้าที่หลัก ได้แก่ การพัฒนาลุ่มน้ำที่รับผิดชอบตามแผนที่ได้กำหนดไว้ ควบคุมการเดินเรือในลำน้ำรวมถึงการขนส่งตามกฎระเบียบเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินเรือ
การพัฒนาการขนส่งทางลำน้ำของประเทศจีนเริ่มต้นเมื่อ ค.ศ. 1999 กระทรวงคมนาคมได้จัดทำกลยุทธ์การพัฒนาการขนส่งทางลำน้ำ ต่อมาใน ค.ศ. 2002 ได้จัดทำกลยุทธ์การพัฒนาการขนส่งทางลำน้ำ ฉบับที่ 2 ใน ค.ศ. 2005 การพัฒนาการการขนส่งทางลำน้ำได้รับการบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (2006–2010) โดยเน้นที่การพัฒนาลุ่มน้ำแยงซีเป็นหลัก ภายใต้แผนพัฒนาฉบับนี้ ได้มีการจัดตั้งสำนักงานจัดการการเดินเรือในแม่น้ำแยงซี
ใน ค.ศ. 2007 กระทรวงคมนาคมและคณะกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติได้ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาการขนส่งทางลำน้ำและท่าเรือ ค.ศ. 2020 โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ด้าน
โครงสร้างพื้นฐาน มีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้ประโยชน์จากลำน้ำเพื่อการขนส่งโดยการพัฒนาลำน้ำที่มีอยู่ให้อยู่ในมาตรฐานชั้น 3 ขึ้นไปเพิ่มขึ้นจาก 8,687 กิโลเมตร เป็น 14,300 กิโลเมตร และมาตรฐานชั้น 5 จาก 24,000 กิโลเมตร เป็น 36,000 กิโลเมตร1 โดยการขุดลอกร่องน้ำ ปรับปรุงเขื่อนยกระดับน้ำเพื่อการเดินเรือ รวมถึงการพัฒนาท่าเรือที่สำคัญให้สามารถรับเรือสินค้าเทกองและสินค้าตู้ ปัจจุบันลำน้ำที่ใช้ในการเดินเรือแบ่งออกเป็น 7 ชั้น ดังตารางที่ 2
ตารางที่ 2 การจำแนกชั้นลำน้ำของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
เรือที่ใช้ในการขนส่ง เนื่องจากเรือที่ใช้ในการขนส่งส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกิดปัญหาความแออัดในเส้นทางการขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณคลองใหญ่และแม่น้ำแยงซี รวมถึงก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย ใน ค.ศ. 2004 กระทรวงคมนาคมได้ทำการศึกษาเพื่อออกแบบเรือที่ได้มาตรฐาน ต่อมาใน ค.ศ. 2006 ได้จัดทำแนวทางในการยกระดับกองเรือให้ได้มาตรฐาน โดยได้ตั้งเป้าหมายใน ค.ศ. 2010 เรือมาตรฐานจะเริ่มใช้ในคลองใหญ่ แม่น้ำแยงซี จูเจียง และเรือที่ผ่านเขื่อนสามหุบเขา (ซานเซียต้าป้า) และใน 2020 สามารถใช้กับเรือที่ขนส่งในทุกลุ่มน้ำ ในการดำเนินการได้นำเอามาตรการทางเศรษฐกิจมาใช้เพื่อจูงใจให้เจ้าของเรือเปลี่ยนเรือใหม่ โดยเรือเก่าที่ไม่ได้มาตรฐานต้องเสียค่าใช้จ่ายในการใช้ร่องน้ำหรือผ่านประตูน้ำในอัตราที่สูงกว่าเรือใหม่ รวมขึ้นการสนับสนุนทางการเงินจากทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลระดับท้องถิ่นเพื่อให้เจ้าของเรือจัดหาเรือใหม่
ระบบสารสนเทศ ระบบสารสนเทศแม่น้ำยังไม่มีระบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่สามรถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ ใน ค.ศ. 2007 จึงได้มีโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศแม่น้ำ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อการควบคุมการเดินเรือ การติดตามเรือที่ขนส่งสินค้าในลำน้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งสินค้าอันตราย การดำเนินการตามโครงการแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้
– ระยะที่ 1 จัดทำกรอบ (framework) ในการพัฒนาและออกแบบระบบสารสนเทศ
– ระยะที่ 2 เริ่มใช้ระบบที่ได้ออกแบบไว้กับลุ่มน้ำแยงซีตอนบน (จากมหานครฉงชิ่ง ในมณฑลเสฉวนถึงเมืองอี้ชาง ในมณฑลหูเป่ย)
– ระยะที่ 3 เริ่มใช้ระบบที่ออกแบบไว้กับแม่น้ำแยงซีตลอดทั้งลุ่มน้ำ
– ระยะที่ 4 เป็นแผนดำเนินการระยะยาว กล่าวคือ การใช้ระบบสารสนเทศกับทุกลุ่มน้ำ
1 World Bank and The Ministry of Transport, People’s Republic of China, Sustainable Development of Inland Waterway Transport in China (2009) p.36.