การขนส่งทางลำน้ำของประเทศจีน

จัดทำข้อมูลโดย : สุมาลี สุขดานนท์

ปีที่จัดทำ : มีนาคม 2559

ประเทศจีนตั้งอยู่ทางเอเชียตะวันออกมีพื้นที่ 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศจีน ทางด้านตะวันตกเป็นเทือกเขาและที่ราบสูงซึ่งต่อเนื่องมาจากเทือกเขาหิมาลัย และค่อยลาดลงทางด้านตะวันออก แม่น้ำส่วนใหญ่เกิดจากที่ราบสูงในภาคตะวันตกและไหลลงสู่ทะเลในภาคตะวันออก แม่น้ำที่สำคัญได้แก่ แม่น้ำเหลืองหรือฮวงโหไหลลงสู่ทะเลป๋อไห่ แม่น้ำเว่ยไหลลงสู่ทะเลเหลือง แม่น้ำแยงซีไหลลงสู่ทะเลจีนตะวันออก และแม่น้ำจูจียงไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ ในภาคเหนือมีแม่น้ำเฮยหลงเจียงซึ่งเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างจีนและรัสเซีย แม่น้ำเหล่านี้ใช้เป็นเส้นทางสัญจรและขนส่งสินค้ามาตั้งแต่โบราณ นอกจากแม่น้ำแล้วเส้นทางน้ำที่ใช้ในการเดินเรือและขนส่งสินค้าในประเทศจีนยังประกอบด้วย คูคลองทั้งที่เป็นธรรมชาติและที่ขุดขึ้น ที่สำคัญได้แก่ แยงซีเจียง คลองใหญ่ และจูเจียง โดยมีรายละเอียดดังนี้

แยงซีเจียง

แยงซีเจียง หรือ หยางจื่อเจียง หรือ ฉางเจียง มีต้นกำเนิดอยู่ใต้ธารน้ำแข็งทางทิศตะวันตกของภูเขาเก้อลาตานตง ในมณฑลชิงไฉ่ ไหลผ่านเขตปกครองตนเองทิเบต มณฑลเสฉวน มหานครฉงชิ่ง มณฑลยูนนาน หูหนาน หูเป่ย เจียงซี อานฮุย เจียงซู และไหลลงสู่ทะเลจีนที่อำเภอจงหมิง ในมหานครเซี่ยงไฮ้ แม่น้ำแยงซีมีความยาวประมาณ 6,300 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดของประเทศจีนและทวีปเอเชีย และมีความยาวเป็นอันดับ 3 ของโลก ประกอบด้วยแม่น้ำสาขาประมาณ 3,600 สายซึ่งสามารถใช้เดินเรือได้มีความรวมกันถึง 70,000 กิโลเมตร หรือร้อยละ 70 ของเส้นทางเดินทางทางลำน้ำของประเทศจีน1 แม่น้ำแยงซีแบ่งออกเป็น 3 ตอน

ตอนบน ตั้งแต่ต้นกำเนิดแม่น้ำในมณฑลชิงไห่ ถึงเมืองอี้ชางในมณฑลหูเป่ย เป็นช่วงที่ยาวที่สุดโดยมีความยาว 4,529 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 70 ของความยาวแม่น้ำทั้งหมด แม่น้ำแยงซีช่วงต้นน้ำส่วนใหญ่ไหลผ่านหุบเขา ใช้เป็นเส้นทางขนส่งได้น้อยมาก ช่วงที่สำคัญคือช่วงที่ไหลเข้าสู่มณฑลเสฉวนผ่านมหานครฉงชิ่ง ระยะทาง 1,040 กิโลเมตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองอู่ฮั่นในมณฑลหูเป่ยซึ่งแม่น้ำฮั่นมาบรรจบกับแม่น้ำแยงซีเป็นที่ตั้งของท่าเรือในแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน และที่เมืองอี้ชางได้มีการก่อสร้างเขื่อนซานเสียต้าป้า หรือเขื่อนสามหุบเขา ซึ่งเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเริ่มก่อสร้างใน ค.ศ. 2009 เขื่อนนี้นอกจากจะใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว ยังใช้ในการเดินเรือ ซึ่งคาดว่าเมื่อเขื่อนนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยให้เรือลำเลียงขนาด 10,000 เดทเวทตันซึ่งใช้ขนส่งตู้สินค้าจากเซี่ยงไฮ้ถึงฉงชิ่งสามารถเดินเรือได้ตลอดปี2

ตอนกลาง ตั้งแต่เมืองอี้ฉางในมณฑลหูเป่ย ถึงเมืองจิ่วเจียงในมณฑลเจียงซี

ตอนล่าง ตั้งแต่เมืองจิ่วเจียงถึงปากแม่น้ำที่มหานครเซี่ยงไฮ้ เป็นช่วงที่มีความสำคัญทั้งด้านการเดินเรือ และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ซึ่งหมายถึง แม่น้ำแยงซีก่อนไหลลงสู่ทะเลความยาวประมาณ 350 กิโลเมตรและแม่น้ำสาขา ปริมาณการขนส่งสินค้าในช่วงสั้น ๆ นี้ คิดเป็น 2 ใน 3 ของปริมาณการขนส่งทั้งหมดในเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำแยงซีซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น 2,838 กิโลเมตร3 บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศจีน โดยอยู่ภายใต้เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี ซึ่งประกอบด้วย มหานครเซี่ยงไฮ้ ตอนเหนือของมณฑลเจียงซู ตอนใต้ของมณฑลเจ้อเจียง และตอนกลางและตะวันออกของมณฑลอานฮุย4 บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของท่าเรือเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน และมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือสูงที่สุดในโลก โดยในปี 2012 มีตู้สินค้าผ่านท่าสูงถึง 32.5 ล้านทีอียู และท่าเรือหนิงโป ในมณฑลเจ้อเจียง ซึ่งมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือ 15 ล้านทีอียู สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก5

รูปที่ 1 เส้นทางการไหลของแม่น้ำแยงซี
ที่มา: http://zh.wikipedia.org/wiki/%E9%95%BF%E6%B1%9F#mediaviewer/File:Map_of_the_Yangtze_River.gif

คลองใหญ่

คลองใหญ่ หรือ ต้าวิ่นเหอ เป็นโครงข่ายคลองที่ขุดขึ้นตั้งแต่สมัยโบราณ บางช่วงมีอายุกว่า 1,400 ปี ประกอบด้วยคลอง 2 คลองคือ

คลองสุยถัง เป็นคลองที่ขุดขึ้นเมื่อราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581–619) เรืองอำนาจและสามารถปกครองแผ่นดินจีนทั้งตอนเหนือและตอนใต้ จึงได้ทำการขุดคลองโดยใช้แรงงานคนเพื่อเชื่อมต่อแม่น้ำลำคลองตามธรรมชาติที่มีอยู่เพื่อให้เป็นโครงข่ายคมนาคมเชื่อมต่อเหนือและใต้ ทั้งนี้เนื่องจากแม่น้ำส่วนใหญ่ของจีนไหลจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก ศูนย์กลางของคลองอยู่ที่เมืองลั่วหยาง ทางเหนือไปถึงเมืองจัวจุ้นหรือเมืองจัวโจวในมณฑลเหอเป่ยซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองปักกิ่งในปัจจุบัน ทางใต้ไปถึงเมืองหยูหางหรือเมืองหางโจวในมณฑลเจ้อเจียงในปัจจุบัน ทางตะวันตกไปถึงเมืองต้าซิ่งหรือฉางอาน หรือเมืองซีอานในมณฑลส่านซีในปัจจุบัน ระยะทางรวมทั้งสิ้น 2,700 กิโลเมตร นับเป็นคลองขุดที่เก่าแก่และยาวที่สุดในโลก เชื่อมต่อแม่น้ำสายสำคัญ คือ แม่น้ำฮวงโหหรือแม่น้ำเหลือง แม่น้ำแยงซี แม่น้ำเว่ย แม่น้ำไห่เหอ และแม่น้ำเฉียนถัง (รูปที่ 2) หลังราชวงศ์สุยคลองก็ยังคงในเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญระหว่างภาคเหนือกับภาคใต้ของจีน จนกระทั้งถึงราชวงศ์หยวนเนื่องจากเมืองหลวงตั้งอยู่ที่ต้าตูหรือปักกิ่งในปัจจุบันจึงได้มีการตัดคลองให้ใหม่โดยไม่ผ่านเมืองลั่วหยาง ทำให้คลองมีระยะทางสั้นลงกว่า 900 กิโลเมตร และได้เรียกชื่อคลองใหม่ว่า คลองปักกิ่ง–หางโจว ซึ่งเป็นส่วนที่ปรากฏในปัจจุบัน ในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีน คลองปักกิ่ง–หางโจวยังคงเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญเนื่องจากเมืองหลวงยังคงอยู่ที่ปักกิ่ง

รูปที่ 2 เส้นทางคลองสุยถัง
ที่มา: วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. คลองใหญ่ (ประเทศจีน) [สายตรง].
แหล่งที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/คลองใหญ่_(ประเทศจีน) [5 ธันวาคม 2557]

ในปัจจุบันคลองใหญ่มีระยะทางเหลือเพียง 1,794 กิโลเมตร ผ่านมหานครปักกิ่ง มณฑลเหอเป่ย ซานตง เหอหนาน อานฮุย เจียงซู และเจ้อเจียง (รูปที่ 3) ใน ค.ศ. 2002 คลองปักกิ่ง–หางโจวได้รวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของ South–to North Water Diversion ของรัฐบาลจีน และใน ค.ศ. 2013 ได้เปลี่ยนชื่อคลองปักกิ่ง–หางโจวเป็นคลองใหญ่

รูปที่ 3 เส้นทางคลองใหญ่ในปัจจุบัน
ที่มา: วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. คลองใหญ่ (ประเทศจีน) [สายตรง].
แหล่งที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/คลองใหญ่_(ประเทศจีน) [5 ธันวาคม 2557]

คลองเจ้อตง เป็นคลองภายในมณฑลเจ้อเจียงที่เชื่อมภาคตะวันตกและภาคตะวันออกของมณฑล โดยเริ่มที่เมืองหางโจวและสิ้นสุดชายฝั่งภาคตะวันออกที่เมืองหนิงโป ระยะทาง 239 กิโลเมตร (รูปที่ 4) ส่วนแรกของคลองเริ่มขุดขึ้นในสมัยชุนชิว (770–476 ปีก่อนคริตกาล) ตั้งแต่ราชวงศ์หยวนจนถึงราชวงศ์ชิงไม่มีการบำรุงรักษาคลองจึงมีการใช้น้อยลง ตั้งแต่ ค.ศ. 2002–2009 รัฐบาลจีนได้ทำการขุดลอกคลองจนสามารถสัญจรได้ตลอดทั้งปี และใน ค.ศ. 2008 ได้ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของคลองใหญ่

รูปที่ 4 เส้นทางคลองเจ้อตง
ที่มา: วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (ภาษาจีน). คอลงเจ้อตง [สายตรง].
แหล่งที่มา : http://zh.wikipedia.org/wiki/%E6%B5%99%E4%B8%9C%E8%BF%90%E6%B2%B3 [5 ธันวาคม 2557]

จูเจียง

         จูเจียงเป็นแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ของประเทศจีน มีความยาวทั้งสิ้น 2,214 กิโลเมตร6 มีความยาวเป็นอันดับ 3 รองจากแม่น้ำแยงซี และแม่น้ำฮวงโห ลุ่มน้ำจูเจียงประกอบด้วยแม่น้ำสาขาสายสำคัญ ได้แก่ ซีเจียง (แม่น้ำตะวันตก) เป่ยเจียง (แม่น้ำเหนือ) และตงเจียง (แม่น้ำตะวันออก) เนื่องจากแม่น้ำทั้งสามสายไหลลงสู่ทะเลที่กวางโจว ในมณฑลกวางตุ้ง จึงรวมไว้เป็นแม่สาขาของแม่น้ำสายนี้ แม่น้ำจูเจียงแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ

ตอนบน ตั้งแต่ต้นกำเนิดของซีเจียงซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของจูเจียง ต้นกำเนิดของแม่น้ำสายนี้ซึ่งถือเป็นต้นน้ำของจูเจียง อยู่ที่ภูเขาหม่าสงในทิศตะวันออกเฉียงเหนือในมณฑลยูนนาน ซีเจียงมีความยาว 2,145 กิโลเมตร ไหลผ่านมณฑลกุ้ยโจว (ระยะทาง 914 กิโลเมตร) และเข้าสู่มณฑลกวางสีซึ่งมีความยาวถึง 1,161 กิโลเมตร7 จึงเป็นแม่น้ำสายหลักของมณฑลนี้ ซีเจียงประกอบด้วยแม่น้ำสาขาสำคัญ 2 สาย คือ โย่วเจียง (แม่น้ำขวา) และจั่วเจียง (แม่น้ำซ้าย) โดยโย่วเจียง เริ่มเดินเรือตั้งแต่เมืองป่ายเซ่อ ส่วนจั่วเจียงสามารถเดินเรือขนส่งสินค้าได้ตั้งแต่เมืองจงจั่วและเป็นเส้นกั้นเขตเส้นระหว่างจีนกับเวียดนาม จากนั้นแม่น้ำทั้งสองสายก็ไหลมาบรรจบกันที่เมืองหนานหนิง เมืองหลวงของมณฑลกวางสี8

ตอนกลาง นับตั้งแต่เมืองอู๋โจวในมณฑลกวางสีถึงเมืองฝอซานในมณฑลกวางตุ้ง ช่วงก่อนหน้านี้ซีเจียงมีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน แต่ตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนออกสู่ทะเลมีชื่อเรียกว่า ซีเจียง จากเมืองอู๋โจวแม่น้ำซีเจียงไหลเข้าสู่มณฑลกวางตุ้งระยะทาง 171 กิโลเมตรถึงเมืองเซี่ยวซิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือในแม่น้ำที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในลุ่มน้ำจูเจียง และไหลต่อไปบรรจบกับแม่น้ำเป่ยเจียงทางเหนือของเมืองฝอซานและเข้าสู่ตัวเมืองฝอซานซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือเกาหมิง แม่น้ำในช่วงนี้เรือเดินสมุทรสามารถเข้าได้9

รูปที่ 5 เส้นทางการไหลของแม่น้ำจูเจียง
ที่มา : http://zh.wikipedia.org/wiki/%E7%8F%A0%E6%B1%9F#mediaviewer/File:Zhujiangrivermap.png [5 ธันวาคม 2557]

ตอนล่าง เป็นช่วงที่ไหลผ่านเมืองกวางโจว ฝอซาน จงซาน และไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ เป็นช่วงที่มีความสำคัญที่สุดการเดินเรือ เมืองฝอซานประกอบด้วยทางเดินเรือหลายเส้นทาง ที่สำคัญ ได้แก่ ตงผิงซึ่งเชื่อมซีเจียงและเป่ยเจียงทางด้านตะวันออกเข้าสู่ตอนกลางของฝอซานและเป็นที่ตั้งของท่าเรือ 7 ท่า ซึ่งท่าเรือที่สำคัญ 3 ได้แก่ ท่าเรือฝอซานใหม่ ท่าเรือซานสุย และท่าเรือหนานไห่ซานซาน จากนั้นไหลเข้าสู่เมืองกวางโจว เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง ช่วงที่แม่แม่น้ำช่วงนี้เรียกว่า จูเจียง ซึ่งตั้งตามชื่อของเกาะไห่จูสือ ซึ่งเป็นเกาะกลางแม่น้ำในเมืองกวางโจว สองฝั่งแม่น้ำช่วงนี้รวมถึงทางเดินเรือเป็นที่ตั้งของท่าเรือ 5 แห่ง โดยมีท่าเรือกวางโจวเป็นที่เรือใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำจูเจียง เนื่องจากปากแม่น้ำจูเจียงมีขนาดใหญ่เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่สามารถเข้าถึงได้ กวางโจวจึงเป็นเมืองท่าที่สำคัญมาตั้งแต่โบราณ อีกทั้งในปัจจุบันยังที่เชื่อมต่อกับท่าเรือฮ่องกง


1 Yangtze Business Services. Yangtze River Issues [Online]. Available from: http://www.yangzebusinessservices.com/yangtze-river-issues [1 December, 2014].

2Yangtze Business Services. Three Gorges Dam [Online]. Available from: http://www.yangzebusinessservices.com/three-gorges-dam [1 December, 2014].

3Yangtze Business Services. Yangtze River Delta [Online]. Available from: http://www.yangzebusinessservices.com/regional-reports-yangtze-river-delta [1 December, 2014].

4ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง. รู้จักจัก/เขตเศรษฐกิจแยงซีเยง [สายตรง]. 2556. แหล่างที่มา: http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/about-china/yangtze.php [5 ธันวาคม 2557].

5UNCTAD. Review of Maritime Transport [Online]. Available from: http://unctad.org/en/PublicationsLibrary/rmt2013_en.pdf [2 December, 2014].

6Pearl River Water Resource Commission of the Ministry of Water Resource. สภาพทั่วไปของจูเจียง (แปลจากต้นฉบับภาษาจีน). [สายตรง]. แหล่งที่มา: http://www.pearlwater.gov.cn/zjgk/ [7 ธันวาคม 2557].

7วิกิพีเดีย สารานุกรม (ภาษาจีน). ซีเจียง [สายตรง]. แหล่งที่มา: http://zh.wikipedia.org/wiki/%E8%A5%BF%E6%B1%9F [8 ธันวาคม 2557].

8Ivo Kervezee. Inland Waterway Transport in The Pearl River Basin – An Introduction to the Sector and the Market Opportunities (August 2011: p 10) [Online]. Available from: http://china.nlambassade.org/binaries/content/assets/postenweb/c/china/zaken-doen-in-china/sectoren/scheepsbouw/pearl-river-inland-shipping-2011.pdf [7 December, 2014].

9Ivo Kervezee, p. 11.

บทความถัดไป
การพัฒนาขนส่งทางลำน้ำของประเทศจีน
Google Map
ท่านคือผู้เข้าชมคนที่
Visit counter For Websites
นับตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566