การครอบครองคาบสมุทรมลายูของมหาอำนาจตะวันตก

จัดทำข้อมูลโดย : สุมาลี สุขดานนท์
ปีที่จัดทำ : พฤษภาคม 2554

        ในประวัติศาสตร์คาบสมุทรมลายูถูกครอบครองโดยมหาอำนาจตะวันตกหลายครั้ง ได้แก่ โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ (ฮอลันดา หรือ ดัทช์) และอังกฤษ ก่อนจะจัดตั้งเป็นประเทศสหพันธรัฐมาเลเซียในปัจจุบัน

คาบสมุทรมลายูก่อนการยึดครองของตะวันตก
        ในช่วง 100 ปีก่อนคริสตกาลจนถึงประมาณ ค.ศ. 1400 คาบสมุทรมลายูอยู่ภายใต้อิทธิพลของศาสนาฮินดู ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1400-1511 ก็เปลี่ยนไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของศาสนาอิสลาม1

อาณาจักรมะละกาในศตวรรษที่ 15
ที่มา: Wikipedia. Malacca Sultanate [Online]. Available from:
http://en.wikipedia.org/wiki/Malacca_ Sultanate [3 May, 2011].
คาบสมุทรมลายูแบ่งออกเป็นรัฐต่าง ๆ แต่ละรัฐมีผู้ปกครองของตนเอง รัฐที่สำคัญ คือ สองรัฐทางใต้ของคาบสมุทรมลายู ได้แก่ มะละกาและยะโฮร์ ซึ่งทั้งสองรัฐได้ขยายอิทธิพลเป็นจักรวรรดิ
        ในปี ค.ศ. 1402 สุลต่านอิสคานดาร์ ชาห์ (Sultan Iskandar Shah, 1400-1414) ได้ก่อตั้งอาณาจักรมะละกาขึ้น ก่อนที่มหาอำนาจตะวันตกจะครอบครองมะละกา มะละกาเป็นที่หมายปองของอาณาจักรต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ได้แก่ อาณาจักรมัชปาหิตในชวาตะวันออกได้ยกทัพมาตีมะละกาหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จจนกระทั่งอาณาจักรนี้ล่มสลายไปในศตวรรษที่ 15 และอาณาจักรสยามยกทัพมาตีมะละกาถึงสามครั้งแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน2 ในปี 1409 สุลต่านอิสคานดาร์ ชาห์ ได้เสด็จไปถวายเครื่องบรรณาการแก่จักรพรรดิจีนซึ่งตรงกับราชวงศ์หมิง เพื่อขอให้จีนคุ้มครองจากการรุกรานของสยาม3 อย่างไรก็ดีตามหลักฐานที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารของไทยและของจีนได้บันทึกไว้ว่าในสมัยอยุธยาตอนต้นเมืองมลายูและมะละกาเป็นประเทศราชของไทย ผู้ครองนครได้ถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองแก่สยามเป็นประจำทุกปี4

        ในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 และต้นศตวรรษที่ 16 มะละกาได้ขยายเป็นจักรวรรดิครอบครองพื้นที่ทั้งหมดของคาบสมุทรมาลายูและบางส่วนของเกาะสุมาตรา มะละกาได้เปลี่ยนสถานภาพจากเมืองท่าเล็ก ๆ เป็นชุมทางการค้าการขนส่งทางทะเล และเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทำหน้าที่เป็นประตูการค้าระหว่างหมู่เกาะเครื่องเทศหรือหมู่เกาะโมลุกกะ (ประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน) กับตลาดทั้งในยุโรปและเอเชีย ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มะละกาประสบความสำเร็จ คือ มะละกาตั้งอยู่ในแนวลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งช่วยให้เรือสำเภาทั้งจากตะวันตกและตะวันออกสามารถแล่นถึงกันได้ตลอดทั้งปี5

        เมื่อมหาอำนาจตะวันตกยึดเมืองมะละกา สุลต่านอาห์เหม็ด ชาห์ (Sultan Ahmad Shah, 1511-1513) สุลต่านองค์สุดท้ายของมะละกาได้หนีไปยะโฮร์และใช้ยะโฮร์เป็นฐานที่มั่นในการต่อสู้เพื่อชิงมะละกาคืนมาแต่ไม่เป็นผลจึงหนีไปเปรัคและสวรรคตในปี ค.ศ. 1528 พระโอรสองค์โต สุลต่าน มุซาฟาร์ ชาห์ (Sultan Muzaffar Shah, 1528-1549) ได้ก่อตั้งเมืองใหม่ในปีเดียวกันที่เปรัคซึ่งเป็นเมืองที่อุดมด้วยดีบุก6 และพระโอรสองค์รองสุลต่านอัลเลาะด์ดิน ไรยัท ชาห์ (Sulant Alauddin Riayat Shah, 1528-1564) ตั้งมั่นอยู่ที่ยะโฮร์และสถาปนาอาณาจักรใหม่ขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำยะโฮร์7 ได้ขยายอำนาจขึ้นเป็นจักรวรรดิครอบครองยะโฮร์ สิงคโปร์และหมู่เกาะรีเยา (Riau) และเป็นศูนย์กลางการค้าแห่งใหม่แทนมะละกา8

        อาจกล่าวได้ว่าการล่มสลายของจักรวรรดิมะละกาและยะโฮร์ทำให้มหาอำนาจทั้งในและนอกภูมิภาคผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาครอบครองคาบสมุทรมลายู

โปรตุเกส...ตะวันตกชาติแรกในคาบสมุทรมลายู
        โปรตุเกสนับเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่ครอบครองและทำการค้าในบริเวณนี้ วัตถุประสงค์เพื่อผูกขาดการค้าเครื่องเทศ เช่น พริกไทย กานพลู อบเชย เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการของยุโรป ในปี ค.ศ.1498 กองเรือโปรตุเกสเดินทางถึงอินเดียโดยขึ้นฝั่งที่มะละบาร์ชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย และในปี ค.ศ. 1502 ได้จัดตั้งสถานีการค้า ณ เมืองโคชิน (Cochin หรือ Kochi) ต่อมาในปี ค.ศ.1505 ได้ส่งอุปราชมาประจำอินเดีย และผูกขาดการค้าเครื่องเทศในมหาสมุทรอินเดียสืบแทนอินเดียและเติร์ก โดยในปี ค.ศ. 1509 ได้ยึดครองเมืองกัว (Goa) ในอินเดีย เมืองออร์มุส (Ormuz) บริเวณอ่าวเปอร์เซีย และควบคุมเส้นทางการค้าไปยังหมู่เกาะโมลุกกะและชายฝั่งมลายู9

อาณาจักรโปรตุเกส
ที่มา : Wikimedia. The Portuguese Empire [Online]. Available from : http://upload.wikimedia.org/wikipedia/ commons/thumb/7/73/The_Portuguese_Empire.png/800px-The_Portuguese_Empire.png [11 June 2011].

        ในวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1509โปรตุเกสนำกองเรือมาถึงมะละกา และขอเจรจาการค้ากับสุลต่านอาห์เหม็ด ชาห์ แห่งมะละกาซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าเครื่องเทศในสมัยนั้น แต่ไม่สำเร็จและกลายเป็นความขัดแย้งจึงเกิดการสู้รบกัน

หมู่เกาะโมลุกกะ หรือหมู่เกาะเครื่องเทศ
ที่มา: วิกิพีเดีย. หมู่เกาะโมลุกกะ [สายตรง]. แหล่งที่มา:
http://th.wikipedia.org [1 มิถุนายน 2554].
โปรตุเกสได้รับชัยชนะสามารถยึดครองมะละกาได้ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1511 และได้จัดตั้งให้เมืองนี้เป็นสถานีการค้าแห่งใหม่ของโปรตุเกสในเอเชีย และนำมาสู่การเปิดการค้ากับศูนย์อำนาจอื่นๆ ในภูมิภาค คือ สยาม พะโค ปาไซ และปัตตานี นอกจากนี้ยังได้แต่งกองเรือค้นหาเส้นทางการค้าไปยังจีนและญี่ปุ่น10

        ต่อมาโปรตุเกสทราบว่ามะละกาเคยส่งบรรณาการให้แก่กษัตริย์ไทย ในปี ค.ศ.1519 จึงแต่งทูตเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาโดยอาศัยสำเภาจีนเพื่อเจรจาการค้าและขอเมืองมะละกาจากไทย สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงเห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ในมะละกาหันไปนับถือศาสนาอิสลาม ประกอบกับไทยได้ทอดทิ้งมะละกามาช้านานเพราะหนทางไกล จึงทรงยอมรับไมตรีและยอมยกเมืองมะละกาให้โปรตุเกส นับเป็นครั้งแรกที่ไทยเสียดินแดนในคาบสมุทรมลายูให้แก่มหาอำนาจตะวันตก โปรตุเกสครอบครองมะละกาอยู่ 130 ปี ก็เสียมะละกาให้แก่ฮอลันดาในปี ค.ศ.1641 ซึ่งได้เข้ามายึดเซลังงอร์และเปรัคเป็นสถานีการค้า11

        
ฮอลันดากับการขยายอิทธิพลทางการค้าในคาบสมุทรมลายู
        ต้นศตวรรษที่ 17 ฮอลันดาได้เดินทางเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเริ่มต้นการแผ่อิทธิพลเข้าไปยังคาบสมุทรมลายูโดยการยึดมะละกาจากโปรตุเกสที่เริ่มเสื่อมอำนาจ ด้วยเล็งเห็นว่ามะละกาเป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญในการทำการค้าบริเวณตะวันออกไกลสามารถเดินเรือในเส้นทางการค้าที่สำคัญ คือ จากหมู่เกาะเครื่องเทศไปยังจีนและญี่ปุ่นได้ โดยมีบริษัท Dutch East India Company หรือ Verenigde Oostindische Compagnie (VOC) เป็นหัวเรือใหญ่ในการทำการค้า การยึดมะละกาได้รับการสนับสนุนจากสุลต่านอัลเลาะด์ดิน ไรยัท ชาห์ แห่งยะโฮร์ ซึ่งนอกจากจะมีจุดประสงค์เพื่อรักษาอำนาจในบัลลังก์แล้ว ยังเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีที่ต้องเสียมะละกาให้แก่โปรตุเกสตั้งแต่ครั้งพระราชบิดา โดยได้ลงนามในสนธิสัญญาร่วมกันในปี 1608 และในปี 1641 และสามารถยึดมะละกาจากโปรตุเกสได้สำเร็จ ซึ่งตามสนธิสัญญามะละกาเป็นดินแดนในอาณัติของฮอลันดา และฮอลันดาจะไม่รุกรานยะโฮร์12

        หลังจากที่ครอบครองมะละกาฮอลันดายังทำข้อตกลงทางการค้าและการลงทุนในเหมืองดีบุกกับเมืองต่าง ๆ ในคาบสมุทรมลายู ได้แก่ ไทรบุรี (หรือรัฐเคดาห์ในปัจจุบัน) ในปี 1642 อุยังสาลัง (Ujung Salang หรือ ภูเก็ตในปัจจุบัน) ในปี 1643 บังเครี (Bangkeri) ในปี 164513เปรัค ในปี 165014และในปี 1651 ได้ก่อตั้งค่ายทหารในเปรัค แต่ภายหลังทิ้งร้างเนื่องจากถูกรัฐต่าง ๆ โจมตี15

        ช่วงที่ฮอลันดาครอบครองมะละกาการค้าไม่เจริญรุ่งเรืองเช่นในช่วงโปรตุเกส เพราะฮอลันดามีศูนย์กลางการค้าอยู่ที่เมืองปัตตาเวีย (ปัจจุบันคือ กรุงจาร์กาตาในประเทศอินโดนีเซีย) ประกอบกับการดำเนินนโยบายผูกขาดการค้าของ VOC ทำให้สุลต่านแห่งยะโฮร์ทำการเปิดเมืองท่าแห่งใหม่ที่เกาะรีเยาเพื่อทำการค้าของตนและให้บริการแก่พ่อค้าทั่วไป ส่งผลให้ในทศวรรษที่ 1770 รีเยาเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางการค้าแห่งใหม่สืบแทนมะละกา และสุลต่านแห่งยะโฮร์ขยายอิทธิพลทางการค้าและทางทหารในคาบสมุทรมะละกา แม้ว่าฮอลันดาจะไม่พอใจแต่ก็เห็นว่าความเข้มแข็งของยะโฮร์เป็นประโยชน์ต่อฮอลันดาเพราะสามารถสกัดอิทธิพลของมหาอำนาจตะวันตกอื่นที่แผ่เข้ามาในมะละกา16


เมืองสำคัญในคาบสมุทรมลายู
ที่มา : Marco Ramerini. HISTORY OF COLONIAL - MALAYSIA DUTCH MALACCA [Online].
Available from: http://www.colonialvoyage.com/malaccaNL.html [30 March 2011].
        ในช่วงปี 1722 ฮอลันดาสู้รบอยู่บ่อยครั้งกับชาวบูกิส (Bugis) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักของพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันตกเฉียงใต้ของสุลาเวสี (Sulawesi หรือ Celebe) ปัจจุบัน คือ อินโดนีเซีย ได้บุกยึดยะโฮร์และรีเยา และขยายอิทธิพลไปถึงเมืองเซลังงอร์ ซึ่งอยู่ทางเหนือของมะละกา ในช่วงปี 1756-1757 ได้ยึดเมืองมะละกา แต่ฮอลันดาสามารถยึดคืนมาได้ด้วยกองกำลังเสริมจากปัตตาเวีย ในช่วงนี้เองอังกฤษก็เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในคาบสมุทรมลายู โดยเริ่มจากการซื้อขายดีบุกที่บริเวณรีเยา ในปี 1781 อังกฤษสามารถครอบครองค่ายทหารของฮอลันดาที่เปรัคซึ่งถือเป็นเมืองหน้าด่านของฮอลันดา จากนั้นในปี 1786 อังกฤษตั้งสถานีการค้าขึ้นที่เมืองปีนัง การแผ่ขยายอิทธิพลของอังกฤษ ทำให้ฮอลันดาตัดสินใจตีเมืองรีเยาของบูกิส ในวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ.1784 บูกิสยอมจำนนต่อฮอลันดา ฮอลันดาได้ก่อสร้างป้อมปราการที่รีเยา บนคาบสมุทรมลายูได้ผนวก ยะโฮร์ เซลังงอร์ เปรัค ตรังกานู และปาหัง ไว้ในอาณานิคม ซึ่งสามารถสกัดอิทธิพลของอังกฤษที่ขยายเข้ามาในคาบสมุทรมลายู17

        การแข่งขันเพื่อขยายอิทธิพลของมหาอำนาจตะวันตกทั้งสองยุติลงโดย สนธิสัญญาแองโกล-ดัทช์ (Anglo-Dutch Treaty 1824) ซึ่งทั้งสองชาติลงนาม ณ กรุงลอนดอน ในวันที่ 17 มีนาคม 1824 (สนธิสัญญาฉบับนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สนธิสัญญาลอนดอน) เพื่อยุติความบาดหมางทั้งที่เกิดขึ้นจากการที่อังกฤษครอบครองทรัพย์สินของฮอลันดาระหว่างสงครามนโปเลียนรวมถึงสิทธิในการค้าของทั้งสองประเทศในหมู่เกาะเครื่องเทศ ภายใต้สนธิสัญญาลอนดอนทั้งสองประเทศตกลงที่จะแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในคาบสมุทรมลายู โดยอังกฤษยกเบนคูเลน (Bencoolen หรือ Bengkulu) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะสุมาตราให้กับฮอลันดา และฮอลันดามอบมะละกาให้แก่อังกฤษเป็นการตอบแทน18


การครอบครองคาบสมุทรมลายูของอังกฤษ
        อังกฤษเป็นมหาอำนาจตะวันตกชาติสุดท้ายที่ครอบครองคาบสมุทรมลายู การครอบครองรัฐต่าง ๆ ของอังกฤษแบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ อาณานิคมช่องแคบ สหพันธ์รัฐมลายา และรัฐนอกสหพันธ์มลายา ซึ่งแต่ละแบบมีวิธีการที่แตกต่างกัน

ดินแดนในคาบสมุทรมลายู ใน ปี ค.ศ.2465
ที่มา : วิกิพีเดีย. สหพันธรัฐมลายู [สายตรง]. แหล่งที่มา :
http://th.wikipedia.org/wiki/สหพันธรัฐมลาย [31 มีนาคม 2554].
หมายเหตุ: สีแดง คือ อาณานิคมช่องแคบ
สีเหลือง คือ ดินแดนในสหพันธรัฐมลายู
สีน้ำเงิน คือ ดินแดนนอกสหพันธรัฐมลายู
แต่ส่วนใหญ่อาศัยการแทรกแซงทางการเมืองซึ่งมีความขัดแย้งกันอยู่เป็นทุนเดิมและแสวงหาแนวร่วมด้านผลประโยชน์ กล่าวคือ คาบสมุทรมลายูประกอบด้วยรัฐน้อยใหญ่มากมาย อาทิ ยะโฮร์ เซลังงอร์ เปรัค ปาหัง ตรังกานู แต่ละรัฐมีผู้ปกครองของตน ทำให้คาบสมุทรมลายูไม่มีความเป็นเอกภาคในการปกครองและขาดเสถียรภาพทางการเมือง อังกฤษอาศัยจุดอ่อนนี้ในการครอบครองรัฐต่าง ๆ อย่างเป็นค่อยเป็นค่อยไป แม้จะใช้เวลาที่ยาวนานแต่ก็สามารถครอบครองคาบสมุทรมลายูได้อย่างเบ็ดเสร็จ
1. อาณานิคมช่องแคบ (Straits Settlement)
         อาณานิคมช่องแคบ ก่อตั้งในปี 1826 ในระยะเริ่มต้นประกอบด้วยดินแดน 3 ส่วน คือ ปีนัง ดินดิงส์ (Dindings) และโพรวินซ์ เวลเลสลีย์ (Province Wellesley) พื้นที่ชายฝั่งตะวันตกของรัฐเคดะห์ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเกาะปีนัง) มะละกา และสิงคโปร์ ต่อมาในปี 1846 เมื่อสุลต่านแห่งบรูไนบนเกาะบอร์เนียวยกเมืองลาบวน (Labaun) ให้แก่อังกฤษ จึงได้รวมลาบวนไว้ในอาณานิคมช่องแคบ เดิมอาณานิคมช่องแคบอยู่ในความดูแลของบริษัทอินเดียตะวันออก ต่อมาในอังกฤษได้ส่งข้าหลวงมาควบคุมและขึ้นตรงต่อรัฐบาลอังกฤษที่อินเดีย ในวันที่ 1 เมษายน 1867 ได้เปลี่ยนไปสังกัดสำนักงานอาณานิคมในกรุงลอนดอนและเรียกดินแดนเหล่านี้ว่า Crown Colony โดยอังกฤษส่งข้าหลวง (Governor) มาปกครองและบริหารรัฐเหล่านี้โดยขึ้นตรงกับกษัตริย์อังกฤษ19 วิธีครอบครองรัฐต่าง ๆ ในอาณานิคมช่องแคบมีดังนี้

        - ปีนัง (Penang)
        ปีนัง เป็นเกาะอยู่ทางฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายู มีชื่อที่เรียกหลากหลาย เช่น เกาะหมาก (ในภาษาไทย) ปูเลา ปีนัง (ในภาษามลายู) และเกาะพรินซ์ออฟเวลล์ (ในสมัยอังกฤษปกครอง) ปีนังเป็นอาณานิคมแห่งแรกของอังกฤษในคาบสมุทรมลายู
        อังกฤษเริ่มเข้ามาเกาะปีนังในปี 1771 ขณะนั้นปีนังเป็นส่วนหนึ่งของเคดาห์ (Kedah) นายฟรานซิล ไลท์ ผู้แทนของบริษัทอินเดียตะวันออกเจรจากับสุลต่านมูฮัมหมัด จีวา (Sultan Muhammad Jiwa) แห่งเคดาห์เพื่อขอการจัดตั้งสถานีการค้าในปีนัง ในช่วงนั้นเคดาห์ หรือไทรบุรีเป็นเมืองขึ้นของสยามและต้องส่งบรรณาการแก่สยามทุกปี สุลต่านจึงยอมให้อังกฤษจัดตั้งสถานีการค้าเพื่อแลกกับการคุ้มครองจากอังกฤษ ปีนังจึงเป็นรัฐแรกที่ถูกอังกฤษครอบครองและจัดตั้งเป็นสถานีการค้าแห่งแรกของอังกฤษในคาบสมุทรมลายูในปี 179020

        -สิงคโปร์ (Singapore)
        ในปี ค.ศ.1818 เซอร์ แสตมฟอร์ด แรฟเฟิล ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลอังกฤษให้เป็นผู้ว่าการอาณานิคมของอังกฤษในเบนคูเลน แต่เนื่องจากบริเวณนี้ฮอลันดาผูกขาดทางการค้าอยู่ เซอร์แรฟเฟิลจึงคิดหาสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อจัดตั้งสถานีการค้าแห่งใหม่และเพื่อคานอำนาจของฮอลันดา เขาได้ออกสำรวจและเดินทางถึงสิงคโปร์ในวันที่ 29 มกราคม 1819 เซอร์แรฟเฟิลพบว่าสิงคโปร์มีทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมจะเป็นศูนย์กลางการค้าของอังกฤษในภูมิภาคนี้21
        ขณะนั้นเกาะสิงคโปร์เป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ตั้งอยู่บนปากแม่น้ำสิงคโปร์ และเป็นส่วนหนึ่งของยะโฮร์ เซอร์แรฟเฟิลเจรจากับสุลต่าน อับดุล ราห์มาน มอสแซน (Sultan Abdul Raman Mauzzan, 1812-1819) แห่งยะโฮร์เพื่อจัดตั้งสถานีการค้าบนเกาะสิงคโปร์ แต่ถูกปฏิเสธ ทั้งนี้เพราะยะโฮร์อยู่ภายใต้อำนาจของฮอลันดาและบูกิส ต่อมาอังกฤษได้สืบทราบว่าการที่สุลต่าน อับดุล ราห์มาน มอสแซน ได้ครองราชย์เป็นเพราะพระเชษฐา ตนกูฮุสเซน ชาห์ หรือ ตนกูลอง (Tengku Hussein Shah หรือ Tengku Long) ซึ่งมีสิทธิ์ในการครอบครองราชย์ไม่ประทับอยู่ที่ยะโฮร์ในขณะที่อดีตสุลต่านสวรรคต จึงเสียสิทธิ์ในการครองบัลลังก์ เซอร์แรฟเฟิลจึงได้สมคบกับตนกูฮุสเซน ชาห์ ซึ่งถูกเนรเทศไปอยู่ที่รีเยาให้กลับมาเป็นสุลต่านแห่งยะโฮร์ ช่วยให้อังกฤษสามารถครอบครองสิงคโปร์ โดยในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1819 เซอร์แรฟเฟิล โดยบริษัทอินเดียตะวันออก และสุลต่านฮุสเซน ซาห์ (Sulantan Hussein Shah, 1819 - 1835) ได้ลงนามอย่างเป็นทางการเพื่อขอใช้เกาะสิงคโปร์ เมื่ออังกฤษได้จัดตั้งอาณานิคมช่องแคบซึ่งประกอบด้วย ปีนัง ดินดิงส์ มะละกา และสิงคโปร์ ได้กำหนดให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการค้าและการปกครองของอาณานิคมช่องแคบ22

        - มะละกา (Malacca)
        ดังได้กล่าวมาข้างต้น ตามสนธิสัญญาแองโกล-ดัทช์ (Anglo-Dutch Treaty 1824) อังกฤษและฮอลันดาตกลงที่จะแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในคาบสมุทรมลายู โดยอังกฤษยกเบนคูเลน ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะสุมาตราให้กับฮอลันดา และฮอลันดามอบมะละกาให้แก่อังกฤษเป็นการตอบแทน

2.
สหพันธรัฐมลายา (Federated Malaya States)
        สหพันธรัฐมลายาประกอบด้วยรัฐเซลังงอร์ เปรัค ปาหัง และเนกรี แซมบิลัน ก่อนที่จะมีการจัดตั้งสหพันธรัฐมลายา แต่ละรัฐมีสุลต่านเป็นผู้ปกครอง และอังกฤษส่งข้าหลวงประจำ (Resident) เพื่อดูแลการค้าและผลประโยชน์ของอังกฤษในรัฐต่าง ๆ รวมทั้งให้คำปรึกษาสุลต่านในด้านการเก็บภาษีอากร เมื่อมีการรวมรัฐทั้งสี่และจัดตั้งเป็นสหพันธรัฐมลายาในปี ค.ศ.1895 จึงได้แต่งตั้ง ข้าหลวงใหญ่ (High Commissionor) เป็นผู้ปกครองสูงสุดของสหพันธรัฐมาลายูรวมถึงอาณานิคมช่องแคบ23 การได้มาซึ่งรัฐในสหพันธรัฐมลายามีดังนี้

        - เซลังงอร์ (Selangor)         ในศตวรรษที่ 19 เซลังงอร์มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเนื่องจากได้สำรวจพบแหล่งแร่ดีบุกอีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญ ในช่วงนี้เองมีชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่เข้ามาขายแรงงานในเซลังงอร์เป็นจำนวนมาก ชาวจีนเหล่านี้ได้รวมตัวกันอย่างลับ ๆ และร่วมมือกับชนชั้นผู้นำเพื่อควบคุมเหมืองดีบุก24 ในระหว่าง ค.ศ.1867-1874 ความขัดแย้งได้ลุกลามเป็นสงครามกลางเมืองซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างผู้ปกครองเซลังงอร์และผู้ปกครองเมืองแคลงเพื่อยึดครองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการปกครอง ซึ่งรู้จักกันในนาม สงครามกลางเมืองเซลังงอร์หรือสงครามแคลง เหตุการณ์นี้เปิดช่องให้อังกฤษซึ่งในขณะนั้นมีบทบาทในเศรษฐกิจของเซลังงอร์ยื่นข้อเสนอให้สุลต่านแห่งเซลังงอร์ยอมรับให้มีข้าหลวงอังกฤษประจำเซลังงอร์ เพื่อให้ความช่วยเหลือในการยุติความขัดแย้งและสงครามกลางเมือง หลังจากที่เซลังงอร์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ในปี 1896 ข้าหลวงประจำของอังกฤษเซอร์แฟรง สเวทเทนแฮม (Sir Frank Swettenham) ได้ประสานให้มีการรวมเซลังงอร์ เนเกรี เซมบิแลน เปรัค และปาหัง เพื่อจัดตั้งเป็นสหพันธรัฐมาเลย์ โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองกัวลาลัมเปอร์ในเซลังงอร์25

        - เปรัค (Perak)         เปรัคก่อตั้งขึ้นในปี 1528 หลังจากที่อาณาจักรมะละกาล่มสลาย โดยราชบุตรองค์โตของสุลต่านอาห์เหม็ด ชาห์ สุลต่านองค์สุดท้ายแห่งมะละกา คือ สุลต่าน มุซาฟาร์ ชาห์ เนื่องจากเปรัคอุดมด้วยแร่ดีบุก จึงเป็นที่หมายปองของรัฐต่าง ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค ในศตวรรษที่ 19 บูกิส อาเจะห์ และสยามต่างพยายามที่จะครอบครองเปรัค ในขณะนั้นอังกฤษได้เข้ามามีอิทธิพลในคาบสมุทรมลายู โดยได้ครอบครองปีนัง มะละกา และสิงคโปร์ และหมายที่จะครอบครองเปรัคเช่นกัน ในปี 1820 อังกฤษจึงเข้ามาแทรกแซงการรุกรานดังกล่าวทำให้เปรัคสามารถรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของสยาม26

        ต่อมาเกิดการแย่งชิงสัมปทานเหมืองแร่ระหว่างชาวจีน 2 กลุ่มในเปรัค สุลต่านแห่งเปรัคไม่สามารถปราบปรามได้ เนื่องจากเกิดการแย่งชิงบัลลังก์ในราชสำนักสุลต่าน27 ราชามุดา อับดุลลาห์ (Raja Muda Abdullah) ได้มีสาสน์ถึงข้าหลวงใหญ่ของอาณานิคมช่องแคบแสดงความจำนงค์ยินยอมให้เปรัคอยู่ในอาณัติของอังกฤษหากช่วยให้เขาได้ครองบัลลังก์ ในปี 1874 ทั้งสองได้พบกันที่เกาะปังกอร์ (Pangkor) เพื่อลงนามในสนธิสัญญา (Pangkor Treaty 1874) เพื่อให้อังกฤษช่วยรักษาความสงบในรัฐเปรัค และสนับสนุนให้ราชามุดา อับดุลลาห์เป็นสุลต่านอับดุลลาห์ มูห์หมัด ชาห์ ที่ 2 (Sultan Abullah Muhammad Shah II, 1874-1876) แทนสุลต่าน อิสเมล มอบิดดิน ไรยัท ชาห์ (Sultan Ismail Muabiddin Riayat Shah, 1871-1874) โดยเปรัคยอมให้อังกฤษส่งข้าหลวงมาประจำ อีกทั้งมอบสิทธิในการครอบครองดินดิงส์ (ส่วนหนึ่งของรัฐเปรัคในปัจจุบัน) และเกาะปังกอร์ ให้แก่อังกฤษ28

        - ปาหัง (Pahang)
        ปาหังเป็นรัฐที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดบนคาบสมุทรมลายูเป็นรัฐเก่าแก่ของไทย เคยมีคนไทยเป็นเจ้าเมืองมาแต่โบราณ29 ก่อนหน้านี้ปาหังเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย แต่หลังจากอาณาจักรศรีวิชัยได้ล่มสลายในปี ค.ศ. 1000 ปาหังถูกครอบครองโดยอาณาจักรมัชปาหิต ต่อมาโดยสยาม และสุดท้ายโดยจักรวรรดิมะละกา30

        ในระหว่างปี ค.ศ. 1858-1863 เกิดสงครามกลางเมืองเพื่อแย่งบัลลังก์ระหว่างโอรสสองคนของสุลต่าน สงครามสิ้นสุดโดย วัน อาหมัด (Wan Ahmad) ได้ขึ้นครองบังลังก์ในปี 188731 ในสภาพที่บ้านเมืองอ่อนแอเนื่องจากการสู้รบที่ยาวนาน ทำให้อังกฤษรุกเข้ามาโดยอาศัยเหตุชนวนที่คนจีนในอาณัติของอังกฤษถูกฆ่าตายในเมืองปากัน รัฐบาลอังกฤษที่สิงคโปร์ขอให้จัดการสอบสวน และส่งตัวคนร้ายไปให้อังกฤษที่สิงคโปร์ แต่สุลต่านรัฐปาหังไม่ยอมปฏิบัติตาม แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถต้านทานอิทธิพลของอังกฤษจึงยอมให้อังกฤษส่งข้าหลวงประจำเช่นเดียวกับรัฐอื่นๆ32

        - เนเกรี เซมบิลัน (Negeri Sembilan)
        เนเกรี เซมบิลันอยู่ในสภาวะความขัดแย้งทางการเมืองมาตลอด สาเหตุเนื่องจากเนเกรี เซมบิลันเป็นรัฐที่ก่อตั้งโดยชาวมินังคาเบา (Minangkabau) จากเกาะสุมาตราในศตวรรษที่ 15 ในช่วงแรกเนเกรี เซมบิลันอยู่ภายใต้การปกครองของสุลต่านแห่งยะโฮร์ ต่อมาในศตวรรษที่ 18 ยะโฮร์อ่อนกำลังลงเนื่องจากถูกบูกิสโจมตี เนเกรี เซมบิลันจึงหันพึ่งสุมาตราซึ่งเป็นเชื้อสายเดียวกัน สุมาตราได้ส่ง ราชาเมเลวาร์ (Raja Melewar) มาครองเนเกรี เซมบิลัน แต่เมื่อมาถึงปรากฏว่าราชาคาทิบ (Raja Khatib) ได้ตั้งตนเป็นผู้ปกครองเนเกรี เซมบิลันเรียบร้อยแล้ว ในที่สุดราชาเมเลวอร์ได้ขึ้นครองราชย์ในปี 1773 โดยการรับรองของสุลต่านแห่งยะโฮร์โดยแต่งตั้งให้เป็น ยังดีปอตวนอากงแห่งเนเกรี เซมบิลัน และเมื่อราชาเมเลวาร์สิ้นพระชนม์ทายาทของราชาเมเลวาร์และราชาคาทิบก็ต่อสู้เพื่ออ้างสิทธิ์ในบัลลังก์ จนในปี ค.ศ.1873 การต่อสู้ได้ลุกลามเป็นสงครามกลางเมือง อังกฤษจึงถือเป็นข้ออ้างในส่งกองกำลังเพื่อรักษาผลประโยชน์ของอังกฤษในเมืองซันไกอูจง (Sungai Ujong) และส่งข้าหลวงมาประจำ ต่อมาในปี 1886 ได้ยึดเมือง เจเลบู (Jelebu) และในปี 1895 ได้ยึดเมืองที่เหลือทั้งหมด33

3. รัฐนอกสหพันธรัฐมลายา (Unfederated Malaya States)
        รัฐนอกสหพันธรัฐมลายา ประกอบด้วย รัฐยะโฮร์ และรัฐที่เป็นเมืองขึ้นของสยาม การครอบครองรัฐเหล่านี้อาศัยวิธีการดังนี้

        - ยะโฮร์ (Johor)
        ยะโฮร์เป็นหนึ่งในสองรัฐที่สามารถขยายอำนาจเป็นจักรวรรดิในช่วงที่ฮอลันดาเริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามาในคาบสมุทรมลายู จักรวรรดิยะโฮร์-รีเยา-ลิงกะ (Johor-Riau-Lingga) ประกอบดินแดนในอาณัติด้วย 4 ส่วน คือ มัวร์ (Muar) ปาหัง รีเยา และยะโฮร์ซึ่งรวมถึงสิงคโปร์ แต่ละส่วนมีผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งจากสุลต่านซึ่งประทับอยู่ที่ลิงกะ จักรวรรดิยะโฮร์เรืองอำนาจในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 ถึงศตวรรษที่ 17 แต่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ก็เริ่มเสื่อมอำนาจลงเนื่องจากถูกรุกรานโดยบูกิสและมินังกาเบา34 นอกจากนี้ความเสื่อมถอยของราชสำนักสุลต่านยังเป็นผลมาจากการแทรกแซงของอังกฤษโดยเริ่มต้นจากเซอร์แรฟเฟิล สแตมฟอร์ด ในการสนับสนุนให้ตนกูฮุสเซน ชาห์ ครองราชย์แทนสุลต่าน อับดุล ราห์มาน มอสแซน โดยมุ่งหวังที่จะขอเช่าเกาะสิงคโปร์จากยะโฮร์เพื่อจัดตั้งเป็นสถานีการค้าในปี 1819 ในปีนี้เองจักรวรรดิแยกเป็น 2 ส่วน คือ อาณาจักรยะโฮร์ ซึ่งปกครองโดยชาวเตเมงกองและรัฐสุลต่านรีเยา-ลิงกะซึ่งปกครองโดยบูกิส การแทรกแซงของอังกฤษมากขึ้นตามลำดับจนกระทั่งราชสำนักอ่อนกำลัง ประจวบกับในปลายศตวรรษที่ 19 มีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเพื่อเชื่อมต่อยะโฮร์กับสหพันธรัฐมลายา ทำให้ในปี 1914 ยะโฮร์ต้องยอมอังกฤษส่งข้าหลวงมาประจำ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมอังกฤษในที่สุด35

        - รัฐที่เป็นเมืองขึ้นของสยาม

        รัฐที่เป็นเมืองขึ้นของไทยหรือสยามในเวลานั้น ได้แก่
                - เคดาห์ ซึ่งไทยเรียกว่ามีพรมแดนติดต่อจังหวัดสงขลาของไทย ในช่วงศตวรรษที่ 7 และ 8 ไทรบุรีอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรศรีวิชัย และต่อมาเป็นเมืองขึ้นของไทย36 ดังที่กล่าวมาข้างต้น ในปี 1776 ไทรบุรียอมให้อังกฤษเช่าเกาะปีนัง เพื่อแลกกับการคุ้มครองจากอังกฤษเพื่อให้หลุดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของสยาม อย่างไรก็ตามไทรบุรีเป็นเมืองขึ้นของสยามจนถึงปี ค.ศ. 1811 และอยู่ภายใต้การควบคุมของไทยจนกระทั่งมีการลงนามในสนธิสัญญากรุงเทพ ในปี 190937
                - กลันตัน เป็นรัฐที่มีพรมแดนติดต่อกับจังหวัดนราธิวาสของไทย เป็นเมืองขึ้นเก่าแก่ของไทย ในปี 1411 กลันตันหลุดจากการเป็นเมืองขึ้นของไทย และในปี 1499 เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิมะละกา แต่เมื่อโปรตุเกสครอบครองมะละกา กลันตันอยู่ภายใต้อาณัติของปัตตานี38 และในปี 1812 ก็กลับมาอยู่ในอาณัติของประเทศไทย39
                - ตรังกานู ในศตวรรษที่ 18 ตรังกานูเป็นรัฐอิสระที่มีสุลต่านซึ่งสืบเชื้อสายจากยะโฮร์เป็นผู้ปกครอง ในช่วงนี้การเมืองในตรังกานูถูกครอบงำโดยยะโฮร์ และในศตวรรษที่ 19 ตรังกานูเป็นประเทศราชของสยามและส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายทุกปี40
                - เปอร์ลิส ซึ่งไทยเรียกว่า ปะลิส เป็นรัฐที่มีพรมแดนติดต่อกับจังหวัดสตูลและสงขลาของไทย ในอดีตเปอร์ลิสเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเคดาห์ซึ่งผลัดกันปกครองโดยอาเจะห์และสยาม หลังจากที่เคดาห์กลับมาเป็นของไทยในปี 182141 เนื่องจากอังกฤษเกรงว่าผลประโยชน์ของตนในเปรัคจะถูกคุกคาม ในปี 1826 ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาเบอร์นีย์ (Burney Treaty 1826) โดยอังกฤษยอมรับว่ารัฐทั้งสี่ในภาคเหนือของคาบสมุทรมลายู ได้แก่ เคดาห์ เปอร์ลิส กลันตัน และตรังกานู42 เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม และสยามยอมรับว่าอังกฤษเป็นเจ้าของเกาะปีนัง อีกทั้งให้สิทธิ์อังกฤษในการค้าขายในกลันตันและตรังกานู ผลของสนธิสัญญานี้ทำให้ในปี 1842 สุลต่าน อาห์เหม็ด (Sultan Ahamad Tajuddin Mukarram Shah, 1854-1879) แห่งเคดาห์ ซึ่งถูกเนรเทศและต่อต้านสยามอยู่ถึง 12 ปี (1830-1842) จำยอมรับเงื่อนไขและกลับมาครองบัลลังก์ หลังจากนั้นสยามได้แยกเปอร์ลิสออกจากเคดาห์43

        
สนธิสัญญาเบอร์นีย์สิ้นสุดลงเมื่ออังกฤษและไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาแองโกล-สยาม หรือสนธิสัญญากรุงเทพ (Bangkok Treaty หรือ Anglo-Siamese Treaty 1909) ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนดินแดนระหว่างกัน โดยอังกฤษยกเมืองสงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาสให้เป็นของสยาม และอังกฤษได้เมืองเคดาห์ กลันตัน และตรังกานู ส่วนเปอร์ลิสและสตูลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเคดาห์ ให้เปอร์ลิสเป็นของอังกฤษ ส่วนสตูลเป็นของสยาม รัฐเหล่านี้ก่อนได้รับเอกราชแม้จะมีสุลต่านเป็นผู้ปกครอง แต่มีข้าหลวงอังกฤษทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้แก่สุลต่าน44

การจัดตั้งสหพันธ์มลายา
         เมื่ออังกฤษได้ครอบครองรัฐต่าง ๆ ในคาบสมุทรมลายูสำเร็จ จึงพยายามรวบรวมรัฐเหล่าให้เป็นรัฐเดียว และผลักดันให้เกิดสหพันธ์มลายา (Malaya Union) ขึ้น เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ.194645 ซึ่งประกอบด้วยรัฐต่าง ๆ บนคาบสมุทรมลายู และรัฐบนเกาะบอร์เนียว 2 รัฐ คือ ซาบาห์และซาราวัค ในวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1963 ได้รวมกันเป็นประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย ต่อมาในปี 1965 สิงคโปร์ได้แยกออกเป็นประเทศเอกราช รัฐที่เหลือจึงรวมกันเป็นประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน46



1 Asianinfo. Malaysia's History and Background [Online]. Available from:
http://www.asaininfo.org/asinainfo /malaysia/por-history.htm. [3 May, 2011].

2Wikipedia. Malacca Sultanate. [Online]. Available from: http://www.enwikipedia.org/wiki/Malacca_Sultanate. [3 May, 2011].

3Ibid.

4หอมรดกไทย. ประเทศเพื่อนบ้านของไทย : มาเลเซีย [สายตรง] โครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542. แหล่งที่มา: http://www1.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/neighbour/ malaysia2.htm [1 มีนาคม 2554].

5Wikipedia. Malacca Sultanate. [Online].

6Wikipedia. Perak. [Online]. Available from: http://www.enwikipedia.org/wiki/Perak [3 May, 2011].

7Wikipedia. Johor Sultanate [Online]. Available from: http://www.enwikipedia.org/wiki/Sultanate_of_Johor. [3 May, 2011].

8พีเดีย. รัฐยะโฮร์ [สายตรง]. แหล่งที่มา: http://th.wikipedia.org/wiki/ [7 มีนาคม 2554].

9ไกรฤกษ์ นานา. ความสำคัญทางด้านการค้าระหว่างโปรตุเกสกับเอเชียและสยาม [สายตรง]. แหล่งที่มา: http://habb.catholic.or.th/history/history01/protuget13htm [1, มิถุนายน 2554].

10ไกรฤกษ์ นานา. ความสำคัญทางด้านการค้าระหว่างโปรตุเกสกับเอเชียและสยาม [สายตรง].

11หอมรดกไทย. มาเลเซีย [สายตรง]. โครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542. แหล่งที่มา: http://www1.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/neighbour/ malaysia2.htm [29 มีนาคม 2554].

12Wikipedia. Johor Sultanate [Online].

13Marco Ramerini. History of Colonial MayasiadutchMaIacca [Online]. Available from: http://www.colonialvoyage.com/malaccaNL.html [30 March 2011].

14Wikipedia. Perak. [Online].

15Ramerini. History of Colonial MayasiadutchMaIacca [Online].

16Ibid.

17Ibid.

18Ramerini. History of Colonial MayasiadutchMaIacca [Online]. Available from: http://www.colonialvoyage.com/malaccaNL.html [30 March 2011]. และ Wikipedia Anglo-Dutch Treaty of 1824 [Online]. Available from: http://en.wikipedia.org/wiki/Anglo-Dutch_Treaty_of_1824 [28 April, 2011].

19วิกิพิเดีย. อาณานิคมช่องแคบ. [สายตรง]. แห่ลงที่มา: http://wikipedia.org [29 เมษายน 2554].

20Wikipedia. Straits Settlement [Online]. Available from: http://en.wikipedia.org/wiki/Straits_Settlement [30 April 2011].

21Wikipedia. Johor Sultanate [Online].

22Ibid.

23หอมรดกไทย. ประเทศเพื่อนบ้านของไทย: มาเลเซีย [สายตรง].

24Wikipedia. Selangor. [Online]. Available from: http://en.wikipedia.org/wiki/Selangor [2 May 2011].

25Wikipedia. Klang War [Online]. Available from: http://en.wikipedia.org/wiki/Klang_War [7 March 2011].

26Wikipedia. Perak [Online].

27Ibid.

28Wikipedia. Pangkor Treaty of 1874 [Online]. Available from: http://en.wikipedia.org/wiki/ Pangkor_ Treaty_of_1874 [7 March 2011].

29หอมรดกไทย. ประเทศเพื่อนบ้านของไทย : มาเลเซีย [สายตรง].

30Wikipedia. Pahang [Online]. Available from: http://en.wikipedia.org/wiki/Pahang [2 May 2011].

31Ibid.

32หอมรดกไทย. ประเทศเพื่อนบ้านของไทย: มาเลเซีย [สายตรง].

33Wikipedia. Negeri Sembilan [Online]. Available from: http://en.wikipedia.org/wiki/Negeri_Sembilan [2 May, 2011].

34Wikipedia. Johor Sultanate [Online].

35Ibid.

36Wikipedia.Kedah [Online]. Available from: http://en.wikipedia.org/wiki/Kedah [3 May, 2011].

37Ibid.

38Wikipedia.Kelantan [Online]. Available from: http://en.wikipedia.org/wiki/Kelantan [2 June, 2011].

39Wikipedia.Sultan of Kelantan [Online]. Available from: http://en.wikipedia.org/wiki/Sultan_of_Kelantan [3 June, 2011].

40Wikipedia. Terenganu [Online]. Available from: http://en.wikipedia.org/wiki/Terengganu [2 June, 2011].

41Wikipedia.Perlis [Online]. Available from: http://en.wikipedia.org/wiki/Perlis [2 June, 2011].

42Wikipedia.Burney Treaty [Online]. Available from: http://en.wikipedia.org/wiki/Burney_Treaty [2 June, 2011].

43Wikipedia.Perlis [Online].

44Wikipedia.Anglo-Siamese Treaty [Online]. Available from: http://en.wikipedia.org/wiki/Anglo-Siamese_ Treaty_of_1909 [2 June, 2011].

45Wikipedia.Federated Malay States [Online]. Available from: http://en.wikipedia.org/wiki/Federated_Malay_States" [2 June, 2011].

46Wikipedia.Malaysia [Online]. Available from: http://en.wikipedia.org/wiki/Malaysia [3 May, 2011].
ท่านคือผู้เข้าชมคนที่
สงวนลิขสิทธิ์ สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชั้น 6 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ถนนพญาไท ปทุมวัน กรุงเทพ ฯ 10330 Email : tri@chula.ac.th