จัดทำข้อมูลโดย : สุมาลี สุขดานนท์ ภาคเหนือ ประกอบด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (North Eastern) ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ(North Western) สามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำแดง (Red River Delta) ภาคกลาง ประกอบด้วย ชายฝั่งตอนกลางเหนือ (North Central Coast) ชายฝั่งตอนกลางใต้ (South Central Coast) และที่ราบสูงตอนกลาง (Central Highlands) ภาคใต้ ประกอบด้วย ภาคตะวันออกเฉียงใต้ (South Eastern) และสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำโขง (Mekong Delta) ![]() รูที่ 1 แผนที่แสดงการแบ่งเขตภูมิศาสตร์ประเทศเวียดนาม ที่มา: ปรับปรุงจาก One World Nations Online. Continents/Asia/Vietnam Country Profile/Political Vietnam Map/Administrative Map of Vietnam. [Online]. Available from: http://www.nationsonline.org/oneworld/map/vietnam-administrative-map.htm [6 January, 2017]. ประเทศเวียดนามมีแม่น้ำและลำคลองประมาณ 2,360 สาย2 เนื่องจากแต่ละภูมิภาคมีภูมิประเทศที่แตกต่างกันทำให้แม่น้ำมีลักษณะแตกต่างกันไป แม่น้ำสายสำคัญในภูมิภาคต่าง ๆ มีดังนี้ ภาคเหนือ ภูมิประเทศในภาคเหนือประกอบด้วยภูเขาสูง โดยเฉพาะเทือกเขาฟานซีปาน (Fansipan) สูงถึง 3,143 เมตร ซึ่งสูงที่สุดในคาบสมุทรอินโดจีน ภาคเหนือของประเทศเวียดนามมีอาณาเขตติดต่อกับภาคใต้ของประเทศจีน แม่น้ำหลายสายจึงมีต้นกำเนิดจากภูเขาในจีนตอนใต้ แม่น้ำสำคัญต่อการขนส่งในภาคเหนือมี 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำแดง (Hong He River) แม่น้ำแดงต้นน้ำอยู่ที่ภูเขาหวางต้วน ในเมืองต้าหลี่ ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของมณฑลยูนนาน ไหลลงมาทางใต้ผ่านเขตปกครองตนเองอาข่าและอี๋ หงเหอ ไปยังชายแดนจีนเวียดนามเข้าสู่จังหวัดหล่าวกาย (Lao Cai) ของประเทศเวียดนาม เป็นเส้นแบ่งระหว่างประเทศทั้งสอง จากนั้นไหลผ่าน 9 จังหวัดในภาคเหนือของเวียดนามที่สำคัญได้แก่ ฮานอย เมืองหลวงของประเทศเวียดนาม และไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่อ่าวตังเกี๋ย แม่น้ำแดงเป็นแม่น้ำสายที่สำคัญที่สุดในภาคเหนือมีความยาวทั้งสิ้น 1,161 กิโลเมตร ตอนบนของแม่น้ำอยู่ในประเทศจีนซึ่งจีนเรียกว่า แม่น้ำหยวน มีระยะทาง 620 กิโลเมตร และส่วนที่อยู่ในเวียดนามมีระยะทาง 541 กิโลเมตร ![]() รูปที่ 2แผนที่แสดงแม่น้ำแดง ที่มา: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/3/39/Redriverasiamap.png แม่น้ำถายบิ้ง (Thai Binh River) แม่น้ำถายบิ้งมีความยาวประมาณ 185 กิโลเมตร มีต้นกำเนิดที่หมู่บ้านด่งฟุค (Dong Phuc) อำเภอเอียนจุ๊ง (Yen Dung) ในจังหวัดบั๊คยาง (Bac Giang) ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำสาขา 2 สาย คือ แม่น้ำตง (Thoung) และแม่น้ำโก่ว (Cau) ไหลมารวมกันจากนั้นก็ไหลรวมกับแม่น้ำถายบิ้งเข้าสู่จังหวัดห่ายเซือง (Hai Doung) และไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ แม่น้ำแดงและแม่น้ำถายบิ่ญเป็นแม่น้ำสองสายสำคัญที่ใช้ในการขนส่งเชื่อมต่อโดยแม่น้ำดุง (Doung) และแม่น้ำลุค (Luoc) ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำทั้งสองสาย เป็นเส้นทางการขนส่งทางทางลำน้ำที่สำคัญในสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำแดง อีกทั้งยังเป็นตั้งของเมืองสำคัญ เช่น ฮานอย เมืองหลวงของประเทศ และไฮ่ฟง (Haiphong) เมืองท่าที่สำคัญในภาคเหนือ แม่น้ำบังเกียงคีกุง (Bang GiangKy Cung River) แม่น้ำคีกุงเป็นแม่น้ำสำคัญในจังหวัดหล่างซอง (Lang Son) ในภาคเหนือของเวียดนาม ประกอบด้วยแม่น้ำสาขาที่สำคัญ คือ แม่น้ำบังเกียง มีต้นกำเนิดในจังหวัดหล่างซองและไหลเข้าสู่ จังหวัดบั๊คกาน (Bac Kan) มีความยาวทั้งสิ้น 114 กิโลเมตร แม่น้ำสาขา ได้แก่ แม่น้ำบั๊คเค (Bac Khe) เป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ ที่มีความยาวเพียง 54 กิโลเมตร ไหลผ่านอำเภอเจียงจิง (Trang Dinh) ในจังหวัดหล่างซอง แม่น้ำมา (Ma River) แม่น้ำมามีต้นกำเนิดอยู่ที่ภูเขาต่วนเจ๋า (Tuan Giao) ในจังหวัดเดี่ยนเบียน (Dien Bien) ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ไหลลงทางตะวันออกเฉียงใต้ผ่านจังหวัดซนลา (Son La) เข้าสู่แขวงหัวพัน ประเทศลาว ระยะทางประมาณ 102 กิโลเมตร จากนั้นวกกลับเข้ามายังจังหวัดทัญหวา (Thanh Hoa) ประเทศเวียดนาม และไหลลงสู่อ่าวตังเกี๋ย รวมระยะทางที่อยู่ในประเทศเวียดนามประมาณ 415 กิโลเมตร แม่น้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำมา คือ แม่น้ำจู (Song Chu) หรือที่ลาวเรียกว่า แม่น้ำซัม ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ที่ยอดเขาในเมืองซำเหนือ แขวงหัวพันลาว และไหลเข้าสู่เวียดนามมาบรรจบกับแม่น้ำมาที่เมืองทัญหวา แม่น้ำจูมีความยาวทั้งสิ้น 325 กิโลเมตร ส่วนที่อยู่ในลาวมีความยาว 165 กิโลเมตร และในเวียดนาม 160 กิโลเมตร ภาคกลาง ตอนกลางของประเทศเวียดนามด้านตะวันตกมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศลาวและตอนบนของประเทศกัมพูชาโดยมีเทือกเขาอันนัมซึ่งทอดยาวตั้งแต่เหนือจรดใต้เป็นเส้นกั้นเขตแดนเป็นระยะทางถึง 1,100 กิโลเมตร และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำส่วนใหญ่ในตอนกลางของประเทศ ส่วนด้านตะวันตกติดกับทะเลจีนใต้และอ่าวไทย พื้นที่จึงแคบยาวขนานไปกับเทือกเขาและชายฝั่ง แม่น้ำในภาคกลางส่วนใหญ่จึงเป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ สูงชัน และไม่เชื่อมต่อกัน แม่น้ำสายสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำลัม แม่น้ำดาซัง และแม่น้ำทู้โบน ซึ่งนอกจากมีความสำคัญต่อการขนส่งแล้วยังมีความสำคัญต่อการท่องเที่ยว แม่น้ำลัม (Lam River) แม่น้ำลัม หรือ แม่น้ำก่า (Ca River) มีต้นกำเนิดจากภูเขาในแขวงเชียงขวาง ประเทศลาว ไหลเข้าสู่จังหวัดเหงะอัน (Nghe An) และห่าติ๋ญ (Ha Tinh) ของเวียดนาม และไหลลงสู่อ่าวตังเกี๋ย แม่น้ำลัมมีความยาว 512 กิโลเมตร ส่วนที่อยู่ในเวียดนามมีความยาวประมาณ 300 กิโลเมตร แม่น้ำดาซัง (Da Rang River) แม่น้ำดาซังตอนบนเรียกว่า แม่น้ำบา (Ba River) มีต้นน้ำอยู่ในจังหวัดกวนตุม (Kon Tum) และไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่เมืองตายหวา (Tuy Hoa) เมืองเอกของจังหวัดผู่เอียน (Phu Yen) แม่น้ำสาขาที่สำคัญได้แก่ แม่น้ำฮิญ (Hinh) และแม่น้ำอาลูน (Ayun) แม่น้ำดาซังมีความยาว 317 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำสำคัญสายหนึ่งในตอนกลางของประเทศเวียดนาม นอกจากด้านการขนส่งยังมีความสำคัญด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นที่ตั้งของชุมชนจำปาหรือจามมาตั้งแต่อดีต แม่น้ำทู้โบน (Thu Bon River) ทู้โบนเป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ มีความยาวเพียง 97 กิโลเมตร มีต้นน้ำอยู่ที่ภูเขาหลกลิง (Ngoc Linh) ซึ่งเป็นภูเขาหนึ่งในเทือกเขาอันนัมใกล้กับจังหวัดกว่างนัม (Quang Nam) และจังหวัดกว่างหงาญ (Quang Ngai) จากนั้นไหลผ่านเมืองต่าง ๆ ของกว่างนัม ได้แก่ บั๊คจามี (Bac Tra My) ผู่นิง (Phu Ninh) เฮียบดุ๊ค (Hiep Duc) เกวยเซิน (Que Son) และเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างเมืองได่หลก (Dai Loc) และดีซวิน (Duy Xuyen) ก่อนจะไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่เมืองฮ่อยอัน (Hoi An) ซึ่งเป็นเมืองมรดกโลก จึงเป็นแม่น้ำอีกสายหนึ่งที่มีความสำคัญด้านการท่องเที่ยว ภาคใต้ ภาคใต้มีอาณาเขตติดต่อกับภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศกัมพูชา เป็นที่ตั้งของนครโฮจิมินห์ เดิมคือ ไซ่ง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้ในช่วงสงครามอินโดจีน ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางการค้า การขนส่ง และอุตสาหกรรม ของเวียดนามตอนใต้ แม่น้ำในภาคใต้ที่มีความสำคัญต่อการขนส่ง คือ แม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำโขง เนื่องจากแม่น้ำโขงมีลักษณะเป็นแม่น้ำนานาชาติ ดังนั้นการขนส่งทางลำน้ำในภาคใต้บางเส้นทางจึงเชื่อมต่อจากกัมพูชามายังปากแม่น้ำในประเทศเวียดนาม แม่น้ำสายสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำโขง (Mekong) แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ยาวที่สุดในเอเชีย มีต้นกำเนิดอยู่ที่ภูเขาฟูจี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยบนที่ราบสูงธิเบต เขตจังหวัดหยู่ซู่ มณฑลฉิงไห่ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จากนั้นไหลผ่าน 5 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม โดยมีความยาวทั้งสิ้น 4,880 กิโลเมตร แม่น้ำโขงอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหนึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยและลาว และอีกส่วนหนึ่งเป็นแม่น้ำภายในประเทศที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน ซึ่งในจำนวนนี้เกือบครึ่งหนึ่งของความยาวทั้งหมดอยู่ในประเทศจีน ส่วนที่อยู่ในประเทศเวียดนามมีความยาวประมาณ 230 กิโลเมตร และไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ในช่วงนี้มีแม่น้ำสาขาเกิดขึ้นจำนวนมาก รวมถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญทั้งด้านการขนส่ง และเกษตรกรรม แม่น้ำสาขาที่สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำโฮ่ว (Hau) แม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำสาขาของโตนเลสาบและแม่น้ำโขง ส่วนที่อยู่ในประเทศกัมพูชาซึ่งเรียกว่า แม่น้ำบาสัก (Bassac) และไหลเข้าสู่ประเทศเวียดนามผ่านจังหวัดด่งท้าป (Dong Thap) เกิ่นเทอ (Can Tho) โห่วซาง (Hau Giang) หวิญล็อง (Vinh Long) ซ้อกจัง (Soc Trang) และจ่าวิญ (Tra Vinh) ![]() รูปที่ 3 แผนที่แสดงสามเหลี่ยมแม่น้ำโขง ที่มา : ดัดแปลงจาก Google Map. ![]() รูปที่ 4 การขนส่งสินค้าในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ที่มา : ภาพถ่ายโดยผู้เขียน มิถุนายน 2559. แม่น้ำด่งนาย (Dong Nai) แม่น้ำด่งนายมีต้นกำเนิดจากที่ราบสูงตอนกลางของประเทศ มีความยาวประมาณ 586 กิโลเมตร ไหลผ่านจังหวัดด่งนาย (Dong Nai) ลัมด่ง (Lam Dong) ดั๊กนง (Dak Nong) บิ่ญฟุก (Binh Puoc) โฮจิมินห์ (Ho Chi Minh) และไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่เมืองเกินโจว (Can Gio) แม่น้ำสาขาที่สำคัญได้แก่ แม่น้ำไซ่ง่อนมีความยาวประมาณ 230 กิโลเมตร มีตันกำเนิดใกล้กับเมืองพุมดวง (Phum Daung) ตอนใต้ของประเทศกัมพูชา เนื่องจากผ่านนครโฮจิมินห์ ศูนย์กลางการค้าและการขนส่งของภาคใต้ จึงเป็นที่ตั้งของท่าเรือที่สำคัญหลายแห่ง ![]() รูปที่ 5 แผนที่แสดงแม่น้ำด่งนายและแม่น้ำไซ่ง่อน ที่มา : ดัดแปลงจาก Google Map. 1Embassy of the Socialist Republic of Vietnam in the United States of America. Vietnam/Geography [Online]. Available from: http://vietnamembassy-usa.org/vietnam/geograpy [17 November, 2016]. 2ALMEC Corporation and Pacific Consultants International, The Study on the National Transport Development Strategy in the Socialist Republic of Vietnam, Technical Report No. 7 Inland Waterway. (2000), chapter 1, p.1. [Online]. Available from: http://open_jicareport.jica.go.jp/pdf/11596855_01.pdf [17 November, 2016]. |
|