จัดทำข้อมูลโดย : สุมาลี สุขดานนท์ แม่น้ำโขงมีต้นกำเนิดอยู่ที่ภูเขาฟูจี้ ส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยบนที่ราบสูงธิเบต เขตจังหวัดหยู่ซู่ มณฑลชิงไห่ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน นับเป็นแม่น้ำนานาชาติซึ่งยาวที่สุดในเอเชีย โดยมีความยาวทั้งสิ้น 4,880 กิโลเมตร อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ เป็นแม่น้ำภายในของประเทศต่างๆ ซึ่งรวมแล้วมีความยาว 3,639 กิโลเมตร โดยส่วนที่อยู่ในประเทศจีนมีความยาวถึง 2,130 กิโลเมตร หรือเกือบครึ่งหนึ่งของความยาวทั้งหมด และส่วนที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน มีความยาว 1,242 กิโลเมตร ในจำนวนนี้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยและลาวมีความยาวที่สุด คือ 977 กิโลเมตร (รายละเอียดดังตารางที่ 1)
เมื่อพิจารณาจากความยาวตลอดสายอาจแบ่งแม่น้ำโขงออกได้เป็น 2 ส่วน คือ แม่น้ำโขงตอนบน หมายถึง ตั้งแต่ต้นกำเนิดของแม่น้ำในที่ราบสูงธิเบตในประเทศจีนจนถึงเมืองหลวงพระบางในประเทศลาว ระยะทาง 2,761 กิโลเมตร และแม่น้ำโขงตอนล่าง คือ ตั้งแต่เมืองหลวงพระบางถึงบริเวณที่แม่น้ำไหลลงสู่ทะเลที่ประเทศเวียดนาม ระยะทาง 2,119 กิโลเมตร
การเดินเรือในแม่น้ำโขงตอนบน แม่น้ำโขงส่วนที่อยู่ในประเทศจีนซึ่งมีความยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร ไหลผ่าน 3 มณฑลในภาคตะวันตกของจีน ได้แก่ ชิงไห่ ซีจ้าง (ธิเบต) และยูนนาน (รายละเอียดดูตารางที่ 2) แม่น้ำโขงไหลออกจากแผ่นดินจีนเป็นเส้นกั้นเขตแดนจีน พม่า ระยะทางเพียง 30 กิโลเมตร จากนั้นเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างพม่าและลาวระยะทาง 234 กิโลเมตร จนมาถึงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่บริเวณบ้านสบรวก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นเส้นแบ่งเขตแดน 3 ประเทศ คือ พม่า ลาว และไทย จากนั้นเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างแขวงบ่อแก้วของลาวและจังหวัดเชียงรายของไทยก่อนที่จะไหลเข้าสู่แผ่นดินลาวที่หาดผาได บ้านห้วยลึก ตำบลม่วงยาย อำเภอเชียงของ
เนื่องจากในช่วงต้นน้ำแม่น้ำโขงส่วนใหญ่ไหลผ่านหุบเขาแคบและลึกทำให้กระแสน้ำเชียวกรากไม่สามารถเดินเรือได้ การใช้ประโยชน์แม่น้ำโขงในการเดินเรือเริ่มในช่วงที่แม่น้ำโขงไหลผ่านมณฑลยูนนานจากต้าหลี่ถึงสิบสองปันนาและไหลออกจากประเทศจีนที่เมืองล่าในจังหวัดสิบสองปันนาจนถึงอำเภอเชียงแสนของประเทศไทย
ประเทศทั้ง 4 ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนได้มีความตกลงร่วมกัน ได้แก่ ข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้างแม่น้ำโขง (Agreement on Commercial Navigation on LancangMekong River) โดยร่วมลงนามเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2543 และเปิดเดินเรืออย่างเป็นทางการที่เมืองเชียงรุ่ง ในสิบสองปันนา ประเทศจีน ในปลายเดือนมิถุนายน 2544 สาระสำคัญของความตกลงฯ ได้กำหนดแนวทางการเดินเรืออย่างปลอดภัย หลักปฏิบัติต่อเรือพาณิชย์ที่ใช้ขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร และแนวปฏิบัติของเรือในการเข้าเทียบท่า การขนส่งและการบรรทุกขนถ่ายสินค้าและผู้โดยสาร เอกสารที่เกี่ยวข้องกับเรือและลูกเรือ หลักเกณฑ์ในการเข้าเมืองของลูกเรือ และท่าเรือที่สามารถเข้าเทียบท่า ท่าเรือในแม่น้ำโขงตอนบน ตามข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้างแม่น้ำโขงได้กำหนดท่าเรือซึ่งเรือพาณิชย์ของประเทศภาคีสามารถเข้าเทียบท่าได้จำนวน 14 ท่า ดังนี้ ท่าเรือประเทศจีน ประเทศจีนมีท่าเรือจำนวน 4 ท่า ทั้งหมดตั้งอยู่ในมณฑลยูนนานโดยท่าเรือ 1 ท่า ตั้งอยู่ในเมืองผูเอ่อ ส่วนอีก 3 ท่า ตั้งในเขตปกครองตนเองไท สิบสองปันนา โดยมีรายละเดียดดังนี้ ท่าเรือซือเหมา ตั้งอยู่ในเขตซือเหมา เมืองผูเอ่อ ห่างจากนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนานระยะทาง 401 กิโลเมตร เริ่มประกอบการเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2534 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นท่าเรือบรรทุกขนถ่ายสินค้าเป็นหลัก และผู้โดยสารเป็นรอง ดังจะเห็นได้จากท่าเรือได้รับการออกแบบให้รับสินค้าได้ 300,000 ตันต่อปี และผู้โดยสาร 100,000 คนต่อปี ท่าเทียบเรือความยาวทั้งสิ้น 440 เมตร ประกอบด้วยท่าเทียบเรือสินค้า 1 ท่าและท่าเรือโดยสาร 1 ท่า สามารถรับเรือขนาด 300 ตัน ท่าเรือมีพื้นที่ทั้งสิ้น 31,369 ตารางเมตร ประกอบด้วยลานวางสินค้า 8,560 ตารางเมตร อาคารสำนักงาน 8,759 ตารางเมตร หน่วยงานในท่าเรือซือเหมาประกอบด้วยการท่าเรือ ฝ่ายปฏิบัติการท่าเรือ ศุลกากร ด่านตรวจคนเข้าเมือง ท่าเรือเชียงรุ่ง ตั้งอยู่ในเมืองเชียงรุ่งหรือจิ่งหง เมืองเอกของสิบสองปันนา ท่าเรือห่างจากตัวเมืองเชียงรุ่ง 9 กิโลเมตร ห่างจากนครคุนหมิง 576 กิโลเมตร ท่าเรือได้รับการออกแบบให้สามารถรับสินค้าได้ 100,000 ตันต่อปี สามารถรับผู้โดยสารได้ 400,000 คนต่อปี ท่าเทียบเรือมีความยาวทั้งสิ้น 422 เมตร สามารถรับเรือขนาด 300 ตัน ประกอบด้วยท่าเทียบเรือสินค้าและท่าเรือโดยสารอย่างละ 1 ท่า ท่าเรือมีพื้นที่ทั้งหมด 67,236 ตารางเมตร ประกอบด้วยลานสินค้า 5,490 เมตร อาคารสำนักงาน 6,480 ตารางเมตร หน่วยงานในท่าเรือประกอบด้วยการท่าเรือ ฝ่ายปฏิบัติการท่าเรือ ศุลกากร ด่านตรวจคนเข้าเมือง ท่าเรือเหมิ่งหาน ตั้งอยู่ในเมืองล่า สิบสองปันนา เป็นท่าเรือที่อยู่ระหว่างท่าเรือกวนเหล่ยและท่าเรือเชียงรุ่ง อยู่ห่างจากเมืองเชียงรุ่งทางถนนประมาณ 31 กิโลเมตร เดิมท่าเรือเหมิ่งหานมีลักษณะเป็นเพียงท่าเทียบเรือเล็ก ๆ ในแม่น้ำโขง ปัจจุบันได้มีการก่อสร้างใหม่ให้เป็นท่าเรือน้ำมัน ท่าเรือกวนเหล่ย ตั้งอยู่ที่ในเมืองล่า สิบสองปันนา ตั้งอยู่บริเวณแนวพรมแดนจีน ลาว และพม่า ได้รับการออกแบบให้สามารถรับสินค้าได้ 200,000 ตันต่อปี และผู้โดยสารได้ 150,000 คนต่อปี ท่าเทียบเรือมีความยาวทั้งสิ้น 380 เมตร สามารถรับเรือขนาด 300 ตัน ประกอบด้วยท่าเทียบเรือสินค้า 2 ท่า และท่าเทียบเรือโดยสาร 1 ท่า สิ่งอำนวยความสะดวกในท่าเรือประกอบด้วยลานวางสินค้า โรงพักสินค้า อาคารผู้โดยสาร หน่วยงานที่ตั้งอยู่ในท่าเรือได้แก่ การท่าเรือ ศุลกากร และด่านตรวจคนเข้าเมือง
ท่าเรือในประเทศพม่า ประเทศพม่ามีท่าเรือตามข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้างแม่น้ำโขง จำนวน 2 ท่า ได้แก่ วันเส็ง และวันปง ทั้งหมดตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงตุง รัฐฉาน ท่าเรือในประเทศลาว ประเทศลาวมีท่าเรือตามข้อตกลง ฯ จำนวน 6 ท่า ตั้งอยู่ในแขวงหลวงน้ำทา แขวงบ่อแก้ว และแขวงหลวงพระบาง ได้แก่ บ้านทราย เชียงกก เมืองมอม บ้านควน ห้วยทราย และหลวงพระบาง ท่าเรือในประเทศไทย ประเทศไทยมีท่าเรือตามข้อตกลง ฯ จำนวน 2 ท่า ได้แก่ เชียงแสน และเชียงของ ท่าเรือเชียงแสน ท่าเรือเชียงแสนแห่งแรกตั้งอยู่ที่บ้านเวียงใต้ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน เนื่องจากตั้งอยู่ในตัวเมืองโบราณเชียงแสนทำให้ไม่สามารถขยายพื้นที่ได้ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2550 เห็นชอบและอนุมัติในหลักการให้กรมเจ้าท่า ดำเนินการก่อสร้างท่าเรือแห่งที่ 2 เพื่อใช้ทดแทนท่าเรือเชียงแสนแห่งแรกที่บ้านสบกก ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน ห่างจากท่าเรือเดิมประมาณ 10 กิโลเมตร และทางน้ำประมาณ 6 กิโลเมตร ทั้งนี้ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2552 ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2554 ให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นผู้บริหารท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 โดยใช้ชื่อว่า ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ท่าเรือตั้งอยู่ปากแม่น้ำกกช่วงที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง สิ่งอำนวยความสะดวกในท่าเรือประกอบด้วย ท่าเทียบเรือ 3 ท่า และโรงพักสินค้า 2 หลัง และลานวางพักสินค้า 1 ลาน
ท่าเรือเชียงของ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงที่ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2546 สิ่งอำนวยความสะดวกประกอบด้วยท่าเทียบเรือโครงสร้างแบบล็อกคอนกรีตกว้าง 24 เมตร ยาว 108 เมตร สามารถให้บริการเรือจอดเทียบท่า 80 150 ตัน หรือพร้อมกัน 3 5 ลำ สินค้าที่ผ่านท่าเรือเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคจากประเทศไทยไปยังหลวงพระบาง เช่นเดียวกับท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ท่าเรือเชียงของบริหารและประกอบการโดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย
เรือที่ใช้ในการขนส่ง เรือที่ใช้ในการขนส่งสินค้ามีขนาด 200 500 ตัน เป็นเรือจีนและเรือลาว เรือจีนใช้ขนส่งสินค้า 2 เส้นทาง คือ ขนส่งสินค้าในประเทศจากท่าเรือกวนเหล่ยไปยังท่าเรือซือเหมาเพื่อกระจายไปยังเมืองต่าง ๆ ในมณฑลยูนนาน และขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจากท่าเรือกวนเหล่ยในจีนไปยังท่าเรือเชียงแสนของประเทศไทย ส่วนเรือสินค้าลาวขนส่งสินค้ามาจากบ้านต้นผึ้ง ในแขวงบ่อแก้ว หากมีสินค้าไทยจะรับมาจากเชียงแสนด้วยโดยมาขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือกวยเหล่ย
สำหรับเรือโดยสารท่องเที่ยว มีทั้งสัญชาติจีน ไทย และลาว โดยมีรายละเอียดดังนี้ เรือโดยสารจีน มีขนาด 50 80 ที่นั่ง วิ่งรับส่งผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวระหว่างท่าเรือเชียงแสนและท่าเรือกวนเหล่ย ผู้โดยสารมี 2 ประเภท ได้แก่ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มากับบริษัทนำเที่ยว และนักศึกษาจากจีนตอนใต้ที่เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยภาคเหนือของไทยโดยเสียค่าโดยสาร 3 ราคา คือ 450, 900 และ 1,800 หยวน โดยขึ้นอยู่กับประเภทของที่นั่งและสิ่งอำนวยความสะดวก เส้นทางใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง เรือโดยสารลาว มี 2 ประเภท คือ เรือโดยสารท่องเที่ยว มีลักษณะเป็นเรือกึ่งเรือสำราญสองชั้น มีห้องนอนและห้องอาหารบนเรือ ขนาดประมาณ 300 ตัน วิ่งระหว่างท่าเรือเชียงแสน (เนื่องจากแม่น้ำโขงจากหลวงพระบางถึงเชียงแสนต้องผ่านแก่งคอนผีหลงซึ่งเป็นแก่งหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแม่น้ำโขงช่วงนี้ จึงสามารถผ่านได้เฉพาะในฤดูน้ำหลาก คือ ตั้งแต่ สิงหาคม พฤศจิกายน เท่านั้น) หรือเมืองห้วยทรายเมืองเอกของแขวงบ่อแก้วไปยังเมืองหลวงพระบาง อีกประเภทหนึ่งเป็นเรือโดยสารประจำทางวิ่งระหว่างเมืองห้วยทราย เมืองปากแบ่งในแขวงอุดมไชย และหลวงพระบาง เรือโดยสารไทย มี 2 ประเภท คือ เรือโดยสารท่องเที่ยว 80 120 ที่นั่ง ให้บริการท่องเที่ยวระหว่างเชียงแสนและกวนเหล่ย จากนั้นต้องเดินทางด้วยรถยนต์ไปยังเมืองเชียงรุ่ง ประเภทที่ 2 เป็นเรือหางยาวขนาด 5 20 ที่นั่ง ให้บริการท่องเที่ยวในเส้นทางระยะใกล้ เช่น เชียงแสน สามเหลี่ยมทองคำ ดอนซาว หรือ เชียงของ หาดผาไดในอำเภอเวียงแก่น
นอกจากเรือที่กล่าวมาข้างต้นยังมีเรือโดยสารข้ามฟากระหว่างประเทศไทยและประเทศลาวที่อำเภอเชียงแสนกับเมืองต้น และอำเภอเชียงของกับเมืองห้วยทราย ซึ่งเป็นเรือขนาดเล็กประมาณ 10 20 ตัน ใช้ขนส่งทั้งสินค้าและผู้โดยสารซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวลาวที่ข้ามมาฝั่งไทยเพื่อซื้อหาสินค้าอุปโภคบริโภคและนำติดตัวกลับไป
ปัญหาอุปสรรคในการขนส่งในแม่น้ำโขงตอนบน ปัญหาอุปสรรคในการขนส่งในแม่น้ำโขงตอนบนอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ ปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาแม่น้ำโขงเพื่อใช้ประโยชน์ด้านพลังงาน และด้านการเดินเรือ และปัญหาที่เกิดจากความมั่นคง 1. ปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาแม่น้ำโขงเพื่อใช้ประโยชน์ด้านพลังงาน และด้านการเดินเรือ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ปัญหาเรื่องการก่อสร้างเขื่อนในประเทศจีน และปัญหาการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง การก่อสร้างเขื่อนในประเทศจีน ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แม่น้ำโขงช่วงที่อยู่ประเทศจีนส่วนใหญ่ไหลผ่านช่องเขาแคบและลึก กระแสน้ำเชี่ยวกรากทำให้ใช้ประโยชน์ในการเดินเรือได้น้อยมาก จีนจึงใช้ประโยชน์จากแม่น้ำช่วงนี้เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าโดยได้สร้างเขื่อนขนาดใหญ่ไปแล้ว 7 เขื่อน และมีอีก 20 เขื่อนที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง จีนได้ทำการควบคุมระดับน้ำมีผลทำให้แม่น้ำโขงในฤดูแล้งซึ่งโดยปกติปริมาณน้ำก็ไม่เพียงพอในการเดินเรือขนาดใหญ่อยู่แล้ว ยิ่งแห้งหนักจนมีผลกระทบของการทำเกษตรกรรมของประชาชนที่อยู่ท้ายน้ำ
ปัญหาการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง ตั้งแต่สิบสองปันนาลงมาจนถึงหลวงพระบางมีแก่งน้อยใหญ่เรียงรายอยู่ในแม่น้ำโขงเป็นระยะซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ ตามข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้างแม่น้ำโขง ประเทศจีนโดยความเห็นชอบของประเทศภาคีตามข้อตกลงได้ทำการปรับปรุงร่องน้ำ โดยทำการระเบิดแก่ง 20 จุดในช่วงปี 2543 2546 ตั้งแต่เมืองเชียงรุ่งจนถึงชายแดนจีน พม่า เพื่อให้เรือขนาด 250 เดทเวทตันสามารถเดินเรือได้อย่างปลอดภัย แผนการพัฒนาร่องน้ำต้องหยุดชะงักไปเนื่องจากการประท้วงของประชาชนที่อยู่ท้ายน้ำเพราะมีผลทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศนำไปสู่การกัดเซาะตลิ่งและมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์
ปัจจุบันจีนเริ่มปรับปรุงร่องน้ำอีกครั้งหลังจากที่หยุดชะงักไปกว่า 10 ปี โดยได้จัดทำแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้างแม่น้ำโขง ค.ศ.2015 2025 (พ.ศ.2558 2568) ซึ่งได้รับความเห็นชอบประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนที่เหลืออีก 3 ประเทศ เพื่อได้ทำการสำรวจ ออกแบบเพื่อปรับปรุงร่องน้ำเดินเรือตั้งแต่ชายแดนจีน พม่า ถึงเมืองหลวงพระบาง ระยะทาง 631 กิโลเมตร เพื่อรองรับเรือขนาด 500 เดทเวทตัน ประเทศไทยเป็นประเทศสุดท้ายที่ให้ความเห็นชอบโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 แก่งหินที่เป็นที่อุปสรรคมีอยู่ 2 ช่วง คือ ช่วงชายแดนจีน พม่า และช่วงชายแดนไทย ลาวบริเวณอำเภอเชียงของ ได้แก่ แก่งคอนผีหลง ซึ่งเป็นแก่งขนาดใหญ่ระยะทาง 1 กิโลเมตร ใกล้กับบ้านเมื่องกาญจน์ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ ซึ่งครั้งนี้ก็ได้รับการประท้วงและต่อต้านจากประชาชนท้ายน้ำอย่างรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอำเภอเชียงของ
2. ปัญหาที่เกิดจากความมั่งคง หมายถึง ปัญหาโจรสลัดในแม่น้ำโขง เนื่องจากแม่น้ำโขงในช่วงที่ไหลผ่านชายแดนพม่าเป็นบริเวณที่อยู่ในเขตอิทธิพลของกลุ่มชาติพันธุ์ว้าซึ่งมีกองกำลังติดอาวุธของตัวเอง และเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด เรือสินค้าที่วิ่งผ่านบริเวณนี้มักจะถูกเรียกเก็บค่าคุ้มครอง ในขณะที่เรือโดยสารท่องเที่ยวถูกโจรสลัดขึ้นเรือปล้นชิงทรัพย์ผู้โดยสารอยู่เป็นประจำ สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้โดยสารเป็นอย่างยิ่ง ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวลดลงเป็นอย่างมาก เหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุด คือ กรณีลูกเรือของเรือบรรทุกน้ำมันหัวผิง และเรือบรรทุกสินค้าเกษตรยู่ซิง 8 ถูกสังหารเสียชีวิตทั้งหมด 13 คนในวันที่ 5 ตุลาคม 2554 ที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำชายแดน พม่า ลาว ไทย ขณะที่ขนส่งสินค้ามายังท่าเรือเชียงแสน รัฐบาลปักกิ่งได้มีคำสั่งห้ามเรือทุกประเภทวิ่งในแม่น้ำโขง แม้ว่าปัจจุบันผู้ก่อเหตุจะถูกจับและลงโทษประหารชีวิต แต่การขนส่งในแม่น้ำโขงยังไม่กลับสู่สภาพเดิม 1 สิตานนท์ เจษฎาพิพัฒน์ และคณะ, รายงานฉบับสมบูรณ์ เล่มที่ 1 โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวทางเรือตามเส้นทางแม่น้ำโขงของกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (กรุงเทพ ฯ : สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว, 2548), บทที่ 2 หน้า 2. 2สำนักงานคณะรัฐมนตรี. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอเวียงเก่น จังหวัดเชียงราย ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนพิเศษ 117 ง หน้า 277 วันที่ 2 ธันวาคม 2541. [สายตรง]. แหล่งที่มา: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2541/E/117/276.PDF [19 กรกฎาคม, 2017]. 3หลิวต้าชิง, ผู้อำนวยการกรมการขนส่งทางน้ำ มณฑลยูนนาน, สภาพและปัญหาอุปสรรคในการขนส่งทางถนนและทางน้ำระหว่างประเทศจีน ไทย เอกสารประกอบการสัมมนากลุ่มย่อยผู้ประกอบการขนส่งจีน เสนอที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน 29 กรกฎาคม 4 สิงหาคม 2548. (แปลจากต้นฉบับภาษาจีน) อ้างใน สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รายงานฉบับสุดท้าย โครงการศึกษาเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุกในการเปิดเสรีการค้าบริการสาขาการขนส่งทางถนน 2549, บทที่ 2 หน้า 101 103. 4สำนักงานคณะรัฐมนตรี. ข้อมูลคณะรัฐมนตรี (ข้อมูลปี 2501 ปัจจุบัน)/มติวันที่ 16 ตุลาคม 2550 เรื่อง ขอความเห็นชอบโครงการก่อสร้างท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 จังหวัดเชียงราย [สายตรง]. แหล่งที่มา: http://www.cabinet.soc.go.th [19 กรกฎาคม, 2017]. 5สำนักงานคณะรัฐมนตรี. ข้อมูลคณะรัฐมนตรี (ข้อมูลปี 2501 ปัจจุบัน)/มติวันที่ 18 มกราคม 2554 เรื่อง ขอความเห็นชอบให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นผู้บริหารท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 จังหวัดเชียงราย และให้ใช้ประโยชน์ท่าเรือเชียงแสนแห่งที่1 จังหวัดเชียงราย เป็นท่าเรือท่องเที่ยว[สายตรง]. แหล่งที่มา: http://www.cabinet.soc.go.th [19 กรกฎาคม, 2017]. 6สำนักงานคณะรัฐมนตรี. ข้อมูลคณะรัฐมนตรี (ข้อมูลปี 2501 ปัจจุบัน)/มติวันที่ 25 มีนาคม 2546 เรื่อง แนวทางการพัฒนาท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ระนอง ท่าเทียบเรือเชียงแสน และท่าเทียบเรือเชียงของ [สายตรง]. แหล่งที่มา: http://www.cabinet.soc.go.th [15 กรกฎาคม, 2017]. 7สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รายงานฉบับสุดท้าย โครงการศึกษาเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุกในการเปิดเสรีการค้าบริการสาขาการขนส่งทางถนน 2549, บทที่ 2 หน้า 104. 8การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, รายงานการจัดทำข้อมูลสนับสนุนการบริหารจัดการท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 1 จังหวัดเชียงราย, 2559, ภาคผนวก ค หน้า 10. 9เรื่องเดียวกัน, ภาคผนวก ค หน้า 8. 10เรื่องเดียวกัน, บทที่ 3 หน้า 8. 11International Rivers. Mekong/Lancang River [Online]. Available from: https://www.internationalrivers.org/campaigns/mekong-lancang-river [12 July, 2017]. 12สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา. สถานการณ์แม่น้ำโขง/หายนะแม่น้ำโขง My Mekong (20 มกราคม 2560). [สายตรง]. แหล่งที่มา: http://www.mymekong.org/mymekong/?p=1153 [15 กรกฎาคม, 2017]. 13สำนักงานคณะรัฐมนตรี. ข้อมูลคณะรัฐมนตรี (ข้อมูลปี 2501 ปัจจุบัน)/มติวันที่ 27 ธันวาคม 2559 เรื่อง ขอความเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง แม่น้ำโขง ค.ศ. 2015 2025 และการดำเนินงานเบื้องต้นโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง แม่น้ำโขง [สายตรง]. แหล่งที่มา: http://www.cabinet.soc.go.th [15 กรกฎาคม, 2017]. 14การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, รายงานการจัดทำข้อมูลสนับสนุนการบริหารจัดการท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 1 จังหวัดเชียงราย, ภาคผนวก ค หน้า 8. 15คม ชัด ลึก. อาชญากรรม/ข่าวอาชญากรรม/CSI THAILAND : ปิดคดีสังหาร 13 ลูกเรือจีน ตร.สั่งฟ้อง 9 ทหารร่วมฆ่า (19 พฤษภาคม 2556) [สายตรง]. แหล่งที่มา: http://www.komchadluek.net/news/crime/158885 [15 กรกฎาคม, 2017]. 16การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, รายงานการจัดทำข้อมูลสนับสนุนการบริหารจัดการท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 1 จังหวัดเชียงราย, ภาคผนวก ค หน้า 8.--> |
|