เส้นทางสายไหมใหม่ เส้นทางการค้าแห่งอนาคต

จัดทำข้อมูลโดย : สุมาลี สุขดานนท์
ปีที่จัดทำ : มีนาคม 2562


จีนกับเศรษฐกิจโลก

        ปัจจุบันจีนเป็นประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจลำดับ 2 ของโลก แต่ก่อนการเปิดประเทศอย่างทางการในปี 1978 ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเหมาเจ๋อตุง ระบบเศรษฐกิจของจีนเป็นระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลาง (Centrally Planned Economy) ควบคุมจากรัฐอย่างเข้มงวด และไม่เอื้อต่อการเปิดเสรีของประเทศ ดังนั้นภายหลังการเปิดประเทศ 2 ปี ค.ศ.1980 ที่ประชุมคณะกรรมาธิการประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress : NPC) มีมติให้ทดลองนำระบบเศรษฐกิจตลาดมาใช้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ตั้งขึ้นใหม่ การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนจึงเป็นการปฏิรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป (gradualism) ทยอยเปิดกว้างและปฏิรูปเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ตามแนวทางการปกครองแบบสังคมนิยม และการใช้กลไกตลาด จนทำให้เส้นทางพัฒนาเศรษฐกิจของจีนมีลักษณะเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ของจีนเอง และมีระบบเศรษฐกิจที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "Socialist Market Economy with Chinese Characteristics" หรือ “เศรษฐกิจกลไกตลาดแบบจีน”

        เศรษฐกิจกลไกตลาดแบบจีน ก่อเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศอย่างรวดเร็วของจีนตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยการกำหนดแผนพัฒนาประเทศจากส่วนกลาง การดำเนินการตามแผนของหน่วยงานในทุกระดับชั้น ตลอดจนการตรวจสอบและติดตามการดำเนินงานจากรัฐบาลกลางอย่างจริงจัง เป็นเหตุผลสำคัญที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในประเทศ อีกทั้งยังส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของโลก เนื่องจากปัจจุบันขนาดเศรษฐกิจของจีนใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ตลาดโลกและตลาดจีนมีความสัมพันธ์กันโดยมีจีนเป็นผู้เล่นสำคัญ ดั้งนั้นนโยบายทางเศรษฐกิจที่ถูกกำหนดขึ้นจึงปราศจากพรมแดน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ ที่สัมพันธ์กับตลาดและผู้คน 1 ใน 3 ของโลก

พัฒนาการของเส้นทางสายไหมใหม่

        ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ ปรากฏต่อประชาคมโลกครั้งแรก ในเดือนกันยายน 2556 ในระหว่างการเยือนคาซักสถานของ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนได้แถลงเปิดตัวครั้งแรกถึงการริเริ่มโครงการ “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” หรือ “One Belt and One Road” โดยในภาษาจีนคือ อีต้ายอีลู่ (Yi Dia Yi Lu) หรือ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ในภาษาไทย เส้นทางนี้ประกอบด้วยเครือข่ายถนนและเส้นทางรถไฟเชื่อมจีนกับยุโรปผ่านเอเชียกลาง และในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน นายสี จิ้นผิง เดินทางไปเยือนอินโดนีเซีย และกล่าวเปิดตัวโครงการ “เส้นทางสายไหมทางทะเล” ที่เชื่อมท่าเรือจีนกับท่าเรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรป ตลอดเส้นทางบกและเส้นทางทะเล จะมีการลงทุนปรับปรุงท่าเรือ และสร้างศูนย์การผลิตอุตสาหกรรมและการค้าขึ้น

        “เส้นทางสายไหมใหม่” (New Silk Road) แบ่งเป็นเส้นทางสายไหมทางบก (Silk Road Economic Belt : One Belt) และเส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road : One Road) มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจของทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาเข้าด้วยกัน (รูปที่ 1) เส้นทางสายไหมใหม่นี้จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประชาคมโลก เนื่องจากเป็นนโยบายการพัฒนาที่มีมูลค่าสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา และเป็นนโยบายที่มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากที่สุดของโลก ทั้งนี้ เพราะพาดผ่าน 65 ประเทศ ใน 6 ภูมิภาค ได้แก่ เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ เอเชียใต้ และยุโรป เมื่อรวมสถิติของทุกประเทศเข้าด้วยกันจะพบว่า ประเทศต่าง ๆ ที่อยู่บนเส้นทางสายไหมใหม่ มีประชากรรวมกัน คิดเป็นร้อยละ 62.3 ของทั้งประชากรโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รวมกัน คิดเป็นร้อยละ 30 ของ GDP โลก และมีการบริโภคภาคครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ 24 ของการบริโภคในครัวเรือนของทั้งโลก อีกทั้ง One Belt One Road จะเป็นโครงการที่ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกที่มีขนาดใหญ่มากที่สุด

        สาเหตุที่เรียกว่าเส้นทางสายไหมใหม่ (Silk Road) มิใช่เพราะเส้นทางนี้จีนจะค้าขายไหม แต่เป็นการเรียก เพื่อแสดงให้เห็นถึงนัยยะทางประวัติศาสตร์ ด้วยเส้นทางสายไหมโบราณ ถือเป็นเส้นทางการค้าเก่าแก่ จากหลักฐานทางโบราณคดี ทำให้เชื่อว่าตั้งแต่ 300 ปีก่อนศริสต์ศักราช จีนได้ติดต่อค้าขายกับโลกตะวันตกแล้ว โดยเฉพาะสินค้าไหมจากจีนซึ่งเป็นที่นิยมในราชสำนักโรมัน (ยุโรป) ถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาแพง แม้ว่าเส้นทางขนส่งทางบกที่ห่างไกลและยากลำบากด้วยระยะทางกว่า 8,000 ไมล์ อัตราภาษีที่สูง และการเก็บค่าผ่านทางในพื้นที่ต่าง ๆ เช่นเดียวกันการค้าตามเส้นทางสายไหมทางทะเล การเดินเรือต้องอาศัยลมมรสุม ต้องเผชิญความเสี่ยงนานัปการในการเดินเรือ และผ่านมือพ่อค้าคนกลางหลายทอด แต่การซื้อขายสินค้าระหว่าง 2 ซีกโลกก็เกิดขึ้น และนอกจากเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญแล้ว เส้นทางสายไหมยังเป็นเส้นทางแห่งการแลกเปลี่ยนอารยธรรม การเผยแพร่ศาสนา วัฒนธรรม และนวัตกรรมระหว่างภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป อย่างกว้างขวาง (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ ย้อนร้อยเส้นทางสายไหมโบราณ)


รูปที่ 1 แผนที่แสดงการเชื่อมโยงภูมิภาคต่าง ๆ บนเส้นทางสายไหมใหม่
ที่มา : Mohid Iftikhar and Faizullah Abbasi. A COMPARATIVE VIEW OF THE ANCIENT AND 21ST CENTURY MARITIME SILK ROADS [Online].
Center for International Maritime.
Available from: Securityhttp://cimsec.org/ancient-land-and-the-maritime-silk-road/22660 [3 December, 2018].

การพัฒนา ความร่วมมือ และเงินทุน ปัจจัยความสำเร็จของเส้นทางสายไหมใหม่

        เนื่องจากเส้นทางสายไหมเป็นโครงการพัฒนาที่มีขนาดและมูลค่ามหาศาล เชื่อมโยงจีนกับนานาชาติกว่า 64 ประเทศ เส้นทางการค้านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยปัจจัยสนับสนุนหลัก 3 ประการ คือ โครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจตามเส้นทางสายไหม ความร่วมมือระหว่างประเทศบนเส้นทางสายไหมใหม่ และเงินลงทุนสนับสนุนโครงการพัฒนาในเส้นทางสายไหมใหม่

        1. โครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจตามเส้นทางสายไหม

        ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ประกอบด้วยโครงการและแผนงานเพื่อพัฒนาในพื้นที่ยุทธศาสตร์ต่าง ๆ โดยเริ่มต้นที่การพัฒนาในเมืองหลักที่เป็นเป็นศูนย์กลางการค้าแต่ละภูมิภาคก่อน ต่อจากนั้นจะขยายการเชื่อมต่อเส้นทางให้เป็นเครือข่ายของเส้นทางเดียวกัน ดังคำกล่าวที่ว่า หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ดังรูปที่ 2 (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ One Belt One Road หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง)


รูปที่ 2 เส้นทางสายไหมตาม 6 ระเบียงเศรษฐกิจ
ที่มา : Friends of the Earth U.S. China’s Belt & Road Initiative an Introduction [Online].
Available from: https://1bps6437gg8c169i0y1drtgz-wpengine.netdna-ssl.com/wp-content/uploads/2017/08/BRI_Intro.pdf [5 January, 2019].

หนึ่งแถบ (One Belt)

        หนึ่งแถบ หรือ แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมใหม่ (New Silk Road Economic Belt) คือเครือข่ายเส้นทางบกจากจีนไปยัง 6 ภูมิภาค ได้แก่ เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เอเชียใต้ และยุโรป แบ่งการพัฒนาออกเป็น 6 เส้นทาง/ระเบียงเศรษฐกิจ นอกจากนี้ในระเบียงเศรษฐกิจที่ติดกับชายฝั่งยังเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเดียวกันกับเส้นทางเดินเรือทะเล ซึ่งแต่ละระเบียงเศรษฐกิจนอกจากจะมุ่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง ได้แก่ ถนน รถไฟ รวมถึงท่าเรือและท่อส่งน้ำมัน นอกจากนี้ในจุดศูนย์กลางการกระจายสินค้า สิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ถูกสร้างหรือพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางการค้า เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ การข้ามแดน ศุลกากร เป็นต้น โดยรายละเอียดสังเขปของ 6 ระเบียงเศรษฐกิจดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมใหม่ (New Silk Road Economic Belt : One Belt)

ที่มา : World Bank. Connectivity Along Overland Corridors of the Belt and Road Initiative [Online]. Discussion paper No.6 October 2018
Available from: https://1bps6437gg8c169i0y1drtgz-wpengine.netdna-ssl.com/wp-content/uploads/2017/08/BRI_Intro.pdf [20 March, 2019].

หนึ่งเส้นทาง (One Road)

        หนึ่งเส้นทาง หรือ เส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 (21st Century Maritime Silk Road) เป็นเส้นทางเดินเรือที่เชื่อมจีนกับประเทศในมหาสมุทรต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยจีนได้พัฒนาท่าเรือหลัก 4 ท่า เพื่อรองรับเส้นทางสายไหมใหม่ ได้แก่ ท่าเรือฝูโจว (Fuzhou Port) ท่าเรือเฉวียนโจว (Quanzhou Port) ท่าเรือกวางโจว (Guanzhou Port) ท่าเรือจ้านเจียง (Zhanjiang Port) (ดังรูปที่ 3) ซึ่งแบ่งเส้นทางเดินเรือออกเป็น 2 เส้นทาง คือ

        - ชายฝั่งตะวันออกของจีน – ทะเลจีนใต้ – มหาสมุทรอินเดีย - อ่าวเปอร์เซีย - ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน – ยุโรป (Coastal China—South China Sea—Indian Ocean—Persian Gulf – The Mediterranean Sea - Europe)

        - ชายฝั่งตะวันออกของจีน – ทะเลจีนใต้ – มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ (Coastal China—South China Sea—South Pacific Ocean)

        ความแออัดช่องแคบมะละกาและการเป็นเขตอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ ซึ่งมีข้อพิพาทกับจีน ทำให้เส้นทางสายไหมทางทะเลเป็นเครื่องมือที่จะช่วยลดการพึ่งพาจากช่องแคบมะละกา จีนจึงให้ความสำคัญในการลงทุน/ประกอบการท่าเรือต่าง ๆ ตามเส้นทางสายไหมใหม่นี้ ในทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ลงทุนในการสนับสนุนทั้งการสร้างท่าเรือใหม่ การพัฒนาศักยภาพท่าเรือที่มีอยู่เดิม รวมถึงเข้าไปลงทุนประกอบการเป็นจำนวนเงินกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ในท่าเรือต่าง ๆ ทั่วโลก ได้แก่

ตารางที่ 2 การลงทุนของจีนในท่าเรือตามนโยบาย One Belt One Road

ที่มา : Friends of the Earth U.S. CHINA'S BELT & ROAD INITIATIVE AN INTRODUCTION [Online].
Available from: https://1bps6437gg8c169i0y1drtgz-wpengine.netdna-ssl.com/wp-content/uploads/2017/08/BRI_Intro.pdf [5 January, 2019].


รูปที่ 3 ท่าเรือที่พัฒนาตามเส้นทางสายไหมใหม่
ประยุกต์ใช้ : www.google/map

ความร่วมมือระหว่างประเทศตามเส้นทางสายไหมใหม่

        การริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง Belt and Road Initiative (BRI) หรือ One Belt One Road (OBOR) ช่วยเชื่อมจีนกับสังคมโลกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ช่วยขจัดอุปสรรคทางการค้าที่สำคัญบางประการของจีนให้หมดไป และสร้างเส้นทางอนาคตใหม่ให้กับจีนและสังคมโลก อย่างไรก็ตามโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในต่างประเทศ นอกจากจะต้องได้รับการอนุมัติจากเจ้าของพื้นที่หรือรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ แล้ว ความร่วมมือระหว่างกันและการผสานผลประโยชน์อย่างยุติธรรม จึงจะทำให้โครงการพัฒนาเหล่านั้นมีความยั่งยืน ด้วยโครงการก่อสร้างตามเส้นทางสายไหมใหม่ ล้วนเป็นโครงการที่มีมูลค่ามหาศาล และเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศ การผสานความร่วมมือจึงต้องเกิดจากการผลักดันในระดับรัฐต่อรัฐ ผ่านข้อตกลงระหว่างรัฐทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาค จีนผู้เป็นหัวเรือใหญ่ได้มุ่งแสดงให้เห็นถึงความจริงจังที่จะผลักดันโครงการเหล่านี้ โดยส่งสัญญาณจากการผ่านการเยือนของผู้นำระดับประเทศจีน และการผสานความร่วมมือทั้งระดับพหุรัฐ ระดับรัฐ และระดับท้องถิ่น

        การประชุมสุดยอดผู้นำ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ" เมื่อวันที่ 14 – 15 พฤษภาคม 2560 ณ กรุงปักกิ่ง (Joint Communique of the Leaders Roundtable of the Belt and Road Forum for International Cooperation) มีผู้นำประเทศ 29 ประเทศ พร้อมกับผู้แทนจากรัฐบาล มากกว่า 1,000 คน จาก 110 ประเทศ เข้าร่วมการประชุม เสมือนเครื่องชี้วัดถึงความสำคัญ และท่าทีจากนานาชาติในการเข้าร่วมเส้นทางสายไหมใหม่ และในเดือนเมษายนปี 2562 จะมีการประชุมในสุดยอดผู้นำ ”หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ" ครั้งที่ 2 ณ กรุงปักกิ่ง (2nd Belt and Road Forum for International Cooperation) ซึ่งการประชุมแต่ละครั้งสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มและปฏิกิริยาของนานาชาติที่มีต่อนโยบาย One Belt One Road ของจีน


รูปที่ 3 การประชุมสุดยอดผู้นำ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ"
ที่มา : China Daily. Belt and Road Forum for International Cooperation opens in Beijing [Online]
Available from: http://www.chinadaily.com.cn/beltandroadinitiative/2017-05/14/content_29337969_3.htm [3 December, 2018].

เงินลงทุนสนับสนุนตามโครงการพัฒนาในเส้นทางสายไหมใหม่

        นอกจากจีนเป็นหัวเรือใหญ่ในการกำหนดยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่แล้ว จีนยังเป็นนายทุนที่สรรหาและเตรียมแหล่งเงินทุนไว้รองรับการพัฒนาแก่ประเทศสมาชิกผู้เข้าร่วมด้วย เพราะศักยภาพในการพัฒนาของในแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ดังนั้นเพื่อขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างราบรื่น จีนได้จัดตั้งกองทุนและสถานบันการเงิน เพื่อรองรับการพัฒนาบนเส้นทางสายไหมใหม่โดยเฉพาะ 2 แห่ง ได้แก่ กองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) และธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ กองทุนเส้นทางสายไหม และ AIIB แหล่งเงินทุนของเส้นทางสายไหมใหม่)

        1. กองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund)

        กองทุนสายไหมใหม่ (Silk Road Fund Co., Ltd.) ก่อตั้งขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2557 ร่วมกันจัดตั้งโดยสถาบันการเงินหลักของจีน 4 แห่ง คือ สำนักงานบริหารเงินตราต่างประเทศแห่งชาติจีน (State Administration of Foreign Exchange) บริษัทเพื่อการลงทุนแห่งชาติจีน (China Investment Corporation) ธนาคารเพื่อการพัฒนาจีน (China Development Bank) และธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้าแห่งประเทศจีน (China Development Bank and Export – Import Bank of China) กองทุนสายไหมใหม่ ได้รับการออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของประเทศจีนและประเทศอื่น ๆ ในโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กองทุนสายไหมใหม่ เข้าไปลงทุนในโครงการต่าง ๆ เช่น
        - โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ณ กรุงอิสลามาบัต ในปากีสถาน
        - บริษัทยาง Pirelli
        - จัดตั้ง China – Kazakhstan Production Capacity Cooperation Fund Co., Ltd.
        - โรงก๊าซธรรมชาติเหลว (Yamal LNG) ในรัสเซีย
        - โรงงานผลิตน้ำสะอาดและพลังงาน ในอาหรับเอเมอร์เรต อียิปต์ และภูมิภาคใกล้เคียง

        2. ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB)

        ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย เป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาแบบพหุภาคี (Multilateral Development Bank) มีภารกิจสำคัญในการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง เริ่มดำเนินการในเดือนมกราคม 2559 และปัจจุบันมีสมาชิก 93 ประเทศ AIIB เป็นสถาบันการเงินที่มีลักษณะคล้ายธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank/ADB) อย่างไรก็ตาม นายจิน หลี่ ฉุน ประธาน AIIB ได้กล่าวไว้ว่า “AIIB จะต้องมีจิตวิญญาณที่สร้างสรรค์และไม่เลียนแบบธนาคารโลกและไม่คัดลอก ADB แต่เราควรทบทวนและรับประสบการณ์การเงินทั้งสองเพื่อเรียนรู้ และมุ่งมั่นที่จะสร้างสถาบันการเงินแบบพหุภาคี ด้วยแนวคิดการกำกับดูแลที่เหมาะสมกับศตวรรษที่ 21” การดำเนินงานของ AIIB เพิ่งอยู่ในระยะเริ่มต้น และต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ เพื่อให้สามารถปล่อยสินเชื่อที่เหมาะสมแก่ประเทศสมาชิกได้


รูปที่ 4 การประชุมผู้นำประเทศเพื่อลงนามจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank /AIIB)
ที่มา : European Institute for One Belt One Road Cooperation and Development. One Belt One Road Initiative [Online]
Available from: http://www.euobor.org/index.php?app=OBOR [17 December, 2018].

บทสรุป

        ระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา นโยบาย One Belt One Road ได้รับความสนใจถูกวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ จากองค์กรระหว่างประเทศ และประชาคมโลกอย่างกว้างขวาง และกำลังมีบทบาทที่เด่นชัดขึ้นในสังคมเศรษฐกิจโลก ผลจากการทุ่มเทและผลักดันนโยบายอย่างจริงจังของจีน ทั้งการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน การสร้าง 6 ระเบียงเศรษฐกิจ การก่อตั้งสถาบันการเงินเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย และความมุ่งมั่นของผู้นำประเทศในการแสวงหาความร่วมมือกับนานาชาติ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า จีนต้องการจะสรรสร้างให้เส้นทางสายไหมเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญของจีนและประชาคมโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคตดังเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต



1อักษรศรี พานิชสาส์น. เศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจเพื่อนบ้านอาเซียน [สายตรง]. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แหล่งที่มา : http://www.econ.tu.ac.th/oldweb/doc/course/EC/EC362/lecture/%E0%CD%A1%CA%D2%C3%A4%D3%CA%CD%B9_EC362_%BA%B7%B7%D5%E8_2_%
E0%B7%CD%C1_1_2557___%CD%D1%A1%C9%C3%C8%C3%D5_%BE%D2%B9%D4%AA%CA%D2%CA%EC%B9%5B1%5D.pdf
[19 มีนาคม 2562].

2The International Monetary Fund. GDP, current prices [Online]. Available from: https://www.imf.org/external/datamapper/NGDPD@WEO/OEMDC/ADVEC/WEOWORLD/CHN/USA [3 December, 2018].

3พันธ์รบ ราชพงศา. อาเซียนบนเส้นทางสายไหมใหม่ [สายตรง]. หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ปีที่ 30 ฉบับที่ 10506 วันพุธที่ 28 มิถุนายน 2560 หน้า 12 คอลัมน์ “Insight ASEAN” แหล่งที่มา: http://e-library.itd.or.th/viewer/144491477 [3 ธันวาคม 2561].

4ปรีดี บุญซื่อ. เส้นทางสายไหมศตวรรษ 21 “One Belt, One Road” จะเปลี่ยนโฉมหน้าเส้นทางการค้าโลกอย่างไร [สายตรง]. ไทยพับลิคก้า แหล่งที่มา : https://thaipublica.org/2017/05/pridi48/ [3 ธันวาคม 2561 ].

5Porttechnology.org. Connectivity along Overland Corridors of the Belt and Road Initiative [Online]. Posted at 16 Aug 2018 Available from: https://www.porttechnology.org/news/one_belt_ten_facts_chinas_bri_strategy [20 March, 2019].

6Fung Group Intelligence Center. The Belt and Road Initiative: 65 Countries and beyond [Online]. Posted at May 12, 2016 Available from: https://www.fbicgroup.com/?q=publication/belt-and-road-initiative-65-countries-and-beyond [20 March, 2019].

7ปรีดี บุญซื่อ. เส้นทางสายไหมศตวรรษ 21 “One Belt, One Road” จะเปลี่ยนโฉมหน้าเส้นทางการค้าโลกอย่างไร [สายตรง]. ไทยพับลิคก้า แหล่งที่มา : https://thaipublica.org/2017/05/pridi48/ [3 ธันวาคม 2561 ].

8Cooperans. China and the Belt and Road Initiative in 2019 [Online]. Posted at 5 January 2019 Available from: https://www.oboreurope.com/en/china-bri-2019/ [20 March, 2019].

9Road Fund Co., Ltd. Overview [Online]. Available from http://www.silkroadfund.com.cn/enwap/27365/27367/26761/index.html [20 March, 2019].

11 AIIB. Who We Are [Online]. Available from https://www.aiib.org/en/about-aiib/index.html [20 March, 2019].

12Daniel Poon, UNCTAD. The AIIB’s creative spirit: experiments in infrastructure finance [Online]. Posted at19 April 2018 Available from https://www.eastasiaforum.org/2018/04/19/the-aiibs-creative-spirit-experiments-in-infrastructure-finance/ [20 March, 2019].
ท่านคือผู้เข้าชมคนที่
widely used counter
สงวนลิขสิทธิ์ สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชั้น 6 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ถนนพญาไท ปทุมวัน กรุงเทพ ฯ 10330 Email : tri@chula.ac.th