ย้อนรอยเส้นทางสายไหม

จัดทำข้อมูลโดย : สุมาลี สุขดานนท์
ปีที่จัดทำ : มีนาคม 2562


ปฐมบทแห่งเส้นทางสายไหม

        เส้นทางสายไหมใหม่ (New Silk Road Economic Belt and New Maritime Silk Road) หรือเรียกโดยย่อว่า (One Belt One Road : OBOR) เป็นแผนพัฒนาและยุทธศาสตร์แห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งปรากฏต่อสายตาชาวโลกอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2556 โดยนายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน ได้ประกาศรื้อฟื้นเส้นทางสายไหมในอดีต มาต่อยอดและพัฒนาเป็น “เส้นทางสายไหมใหม่” แบ่งเป็นเส้นทางสายไหมทางบก (One Belt) และทางทะเล (One Road) มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจของทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาเข้าด้วยกัน เส้นทางสายไหมใหม่นี้จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประชาคมโลก เนื่องจากเป็นนโยบายการพัฒนาที่มีมูลค่าสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา และเป็นนโยบายที่มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากที่สุดของโลก ทั้งนี้ เพราะเส้นทางสายไหมใหม่ จะพาดผ่าน 65 ประเทศ ใน 6 ภูมิภาค เมื่อรวมสถิติของทุกประเทศเข้าด้วยกันจะพบว่า ประเทศต่าง ๆ ที่อยู่บนเส้นทางสายไหมใหม่ มีประชากรรวมกัน คิดเป็นร้อยละ 62.3 ของทั้งประชากรโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รวมกันคิดเป็นร้อยละ 30 ของ GDP โลก และมีการบริโภคภาคครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ 24 ของการบริโภคในครัวเรือนของทั้งโลก1 อีกทั้ง One Belt One Road จะเป็นโครงการที่ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกที่มีขนาดใหญ่มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการในระดับเดียวกัน คือ โครงการมาร์แชลของสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยของยุโรป หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีมูลค่า ณ ปัจจุบัน 130 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็มีขนาดเพียง 1 ใน 11 ของ One Belt One Road เท่านั้น2


รูปที่ 1 แนวเส้นทางสายไหมใหม่ (New Silk Road Economic Belt and New Maritime Silk Road/One Belt One Road)
ที่มา : The Wall Street Journal . New Silk Roads China is assembling new trade routes, binding other regions closer to it. [Online]
Available from: http://www.silkroutes.net/orient/mapssilkroutestrade.htm [17 March, 2018].


        จากการสืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางสายไหมใหม่ที่ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พบว่า การศึกษาและข้อมูลที่ปราฏส่วนใหญ่เป็นการให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับที่มาของเส้นทางสายใหม่ และแผนพัฒนาในแถบเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมถึงการคาดการณ์ผลได้ผลเสีย หรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศผู้ที่ทำการศึกษา ดังนั้นจึงเป็นข้อมูลที่มาจากทั้งสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้ว และอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

        บทความนี้ผู้เขียนจะนำข้อมูลเส้นทางสายไหม (เดิม) มาวิพากษ์ ผ่านมิติของประวัติศาสตร์ ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นทิศทางในอนาคตได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เนื่องจากกงล้อประวัติศาสตร์ (Wheel of History) เหมือนเป็นวัฏจักร แม้บริบทแวดล้อมจะเปลี่ยนไป แต่แก่นของประวัติศาสตร์มักเหมือนเดิม

เส้นทางสายไหม : เมื่อไหมของจีนมีค่าดั่งทองในอาณาจักรโรมัน

        จากหลักฐานทางโบราณคดี ทำให้เชื่อว่าตั้งแต่ 300 ปีก่อนศริสต์ศักราช จีนได้ติดต่อค้าขายกับโลกตะวันตกแล้ว โดยเฉพาะสินค้าไหมจากจีนซึ่งเป็นที่นิยมในราชสำนักโรมัน ถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาแพง เนื่องจากเส้นทางขนส่งทางบกที่ห่างไกลและยากลำบาก อัตราภาษีที่สูง และค่าผ่านทางในพื้นที่ต่าง ๆ แต่ด้วยคุณภาพของสินค้าที่ดีจึงเป็นที่ต้องการ ดังนั้นไหมจึงมีค่ามาก บ่งบอกสถานะทางสังคมของผู้ครอบครอง ชาวโรมันซื้อสินค้าจากโลกตะวันออกมูลค่ามหาศาล ในช่วง ค.ศ.22 จักรพรรดิทิเบอริอุส (Tiberius) ทรงกล่าวว่า ชาวโรมันใช้เงินไปกับของฟุ่มเฟือยจากโลกตะวันออกมากเกินไป และผู้บริหารกรุงโรมพยายามยุติการซื้อสินค้าฟุ่มเฟื่อยเหล่านี้ เพราะทำให้เงินในท้องพระคลังร่อยหรอ

        ยุคที่การค้าบนเส้นทางสายไหมรุ่งเรืองมีอยู่หลายช่วงเวลา เพราะจีนสามารถการควบคุมเส้นทางสายไหมได้ ได้แก่ สมัยราชวงศ์ฮั่น (ค.ศ.206 – 221) ราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618 – 907) และราชวงศ์มองโกล (ค.ศ.1200 – 1360) เดิมเส้นทางการค้าจากจีนไปยังยุโรปนี้ เรียกว่า “เส้นทางตะวันตก” จนถึงทศวรรษ 1870 นักภูมิศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ เฟอร์ดินานด์ ฟวอน ไรซ์โธเฟน (Van Richthofen) เรียกเส้นทางนี้ว่า “เส้นทางสายไหม” (Silk Road) เส้นทางสายไหมมีอายุ 2,000 กว่าปี ก่อนจะเสื่อมถอยลงจากสาเหตุหลายประการ เช่น การพัฒนาการเดินเรือของชาติตะวันตก เทคนิคการเลี้ยงไหมที่ไม่ได้เป็นความลับและแพร่ขยายมากขึ้น การขยายอิทธิพลของรัสเซียเข้ามาในเอเชียกลางในช่วงศริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้น


รูปที่ 2 แผนที่เส้นทางสายไหม ฉบับ เฟอร์ดินานด์ ฟวอน ไรซ์โธเฟน (Van Richthofen) ค.ศ.1877
ที่มา : Silk Routes.Net. 21st Century Silk Road – OBOR China's Initiative & Related Trade Routes [Online]
Available from: http://www.silkroutes.net/orient/mapssilkroutestrade.htm [17 March, 2019].


รูปที่ 3 แผนที่เส้นทางสายไหม ฉบับ มาร์โค โปโล (Marco Polo) การเดินทางจากยุโรปถึงเอเชีย ค.ศ.1271 – 1295
ที่มา : Chinadiscovery.com. Silk Road Maps Collection [Online]
Available from: https://www.chinadiscovery.com/assets/images/silk-road/maps/marco-polo.jpg [17 March, 2019].

        การเดินทางตามเส้นทางสายไหมที่มีระยะทางกว่า 8,000 ไมล์ หรือประมาณ 12,800 กิโลเมตร เต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะต้องผ่านพื้นที่ทุรกันดาร เช่น ทะเลทรายโกบี ที่ราบสูงปามีร์ (Pamir) ที่เปรียบเสมือนเป็นหลังคาโลก และต้องเผชิญกับชนเผ่าเร่ร่อนต่าง ๆ ที่มักดักปล้นสะดมกองคาราวาน และยังมีพวกปาร์เธียน (ตะวันออกกลางในปัจจุบัน) และพวกเปอร์เซีย (อิหร่าน อิรัก ปากีสถานในปัจจุบัน) ที่ดักเก็บภาษีในอัตราสูง โดยเฉพาะในสมัยราชวงศ์ซัทชานิท (Sassanid Empire) ค.ศ.224 – 241 นอกจากนี้การเดินทางไปค้าขายระหว่าง 2 ซีกโลก เหล่าพ่อค้าต้องลงทุนทั้งค่าสินค้า ค่ายานพาหนะ (ม้า ลา อูฐ) ค่าการรักษาความปลอดภัย ค่าใช้จ่ายอื่นระหว่างการเดิน และต้องใช้การเดินทางเป็นเวลาหลายปี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเส้นทางการค้าสายไหมจะเต็มไปด้วยอุปสรรค ความเสี่ยง และมีค่าใช้จ่ายสูง แต่กองคาราวานของเหล่าพ่อค้าก็พร้อมที่จะเสี่ยงที่จะแลกกับผลตอบแทนที่คุ้มค่า

        นอกจากเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญแล้ว เส้นทางนี้ได้ถูกใช้เพื่อเผยแพร่ศาสนา แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และองค์ความรู้ในการพัฒนาระหว่างกันอย่างกว้างขวาง เช่น จีนได้เรียนรู้พุทธศาสนา การทำน้ำตาลจากอ้อย และการใช้ฝ้ายทำเครื่องนุ่งห่มจากอินเดีย การทำเหล้าองุ่นจากอัฟกานิสถาน นอกจากนี้ ความรู้ ศิลปะ วัฒนธรรม และอารยธรรมจากจีนถูกเผยแพร่สู่โลกนอกเช่นกัน เช่น การเลี้ยงไหม การหลอมเหล็ก การทดน้ำ การทำกระดาษ การดื่มชา งานช่างฝีมือ ดนตรี ระบำ เป็นต้น3

        หากแบ่งตามจุดเริ่มต้นเส้นทางสายไหมมี 2 เส้นทางหลัก คือ เส้นทางจากฝั่งตะวันตกมายังตะวันออก และฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตก

1. เส้นทางจากตะวันตกมายังตะวันออก

        เส้นทางนี้เริ่มจากเมืองคานีซ (สเปน) – คอร์โดบา (สเปน)– วาเลนเซีย (สเปน) – เจนัว (อิตาลี) – ออสเตรีย – บีชา – เตหะราน (อิหราน) - ทะเลทรายโกบี – ที่ราบสูงระหว่างเทือกเขาหิมาลัยกับรัสเซีย – กำแพงเมืองจีน4

        สินค้าจากฝั่งตะวันตกที่นำไปค้าขายแก่ฝั่งตะวันออก ได้แก่ ม้า อานม้า ต้นองุ่น ผลองุ่น สุนัข และสัตว์แปลก ๆ ขนสัตว์ หนังสัตว์ น้ำผึ้ง ผลไม้ เครื่องแก้ว ผ้าห่มขนสัตว์ พรมขนสัตว์ สิ่งทอ (เช่นผ้าม่าน) ทองคำ เงิน อูฐ ทาส อาวุธและชุดเกราะ เป็นต้น ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นสินค้าจำเป็นที่ใช้ในการเดินทางของกองคาราวาน5

2. เส้นทางจากตะวันออกไปยังตะวันตก

        เส้นทางสายไหมที่เริ่มต้นที่จีนมี 2 เส้นทางหลัก คือ เส้นทางสายเหนือ และเส้นทางสายใต้ โดยเส้นทางเริ่มจากเมืองลั่วหยาง (จีน) – โอเอซิสหลานโจว (จีน) – โอเอซิสตุนหวง (จีน) – ตะวันออกกลาง (เลบานอน) เส้นทางแยก 2 เส้น คือ ขึ้นเหนือไปกรุงแบกแดดต่อไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและเข้าสู่ยุโรป หรือ ลงใต้ไปอินเดียซึ่งบรรจบกับเส้นทางสายใหม่ทางทะเล (รูปที่ 4) อย่างไรก็ตามเส้นทางแยกย่อยต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของพ่อค้าในกองคาราวาน6

        สินค้าจากฝั่งตะวันตก ที่นำไปค้าขายแก่ฝั่งตะวันออก ได้แก่ ไหม ชา สีย้อมผ้า อัญมณี เครื่องเคลือบ (จาน ชาม ถ้วย แจกัน) เครื่องลายคราม เครื่องเทศ (เช่น อบเชย และขิง) สิ่งประดิษฐ์จากทองแดงและทองคำ ยา น้ำหอม งาช้าง ข้าว กระดาษ ดินปืน เป็นต้น7


รูปที่ 4 แผนที่เส้นทางสายไหม (จากจีนถึงตะวันออกกลาง)
Amy McKenna. Silk Road Maps Collection [Online] Encyclopedia Britannica
Available from https://www.britannica.com/topic/Silk-Road-trade-route/media/544491/223159 [17 March, 2019].


        เพื่อให้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเส้นทางสายไหมให้ง่ายขึ้น จำเป็นต้องอาศัยความรู้ทางภูมิศาสตร์เป็นสำคัญ ผู้เขียนได้ลองนำชื่อเมืองข้างต้นมากำหนดจุดในโปรแกรม google map ซึ่งช่วยสร้างความเข้าใจได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าเส้นทางถนนในปัจจุบันยังคงก่อสร้างตามเส้นทางสายไหมเก่าที่มีกว่า 2,000 ปี (รูปที่ 5)


รูปที่ 5 เส้นทางถนนในปัจจุบันตามร้อยเส้นทางสายไหมเก่า
หมายเหตุ 1. ระยะทางถนนจากเมืองกาดิซ (สเปน) – พรมแดนระหว่างคาซัคสถานกับจีน 11,442 กิโลเมตร
2. ระยะทางถนนจากเมืองซีอาน (จีน) – พรมแดนระหว่างคาซัคสถาน – จีน 3,929 กิโลเมตร
ที่มา : Google Map ประยุกต์ใช้ : สุมาลี สุขดานนท์, 2562

เส้นทางสายไหมทางทะเลและเส้นทางเครื่องเทศ : ความรุ่งโรจน์และความเสื่อมถอย

        ก่อนที่เส้นทางที่ดินของเส้นทางสายไหมทางบกจะเกิดขึ้น จีนได้พัฒนาการติดต่อทางทะเลกับต่างประเทศแล้ว โดยเส้นทางสายไหมทางทะเลเป็นเครือข่ายการค้าระหว่างจีนกับต่างประเทศ เส้นทางเริ่มต้นที่เมืองท่าเรือในภาคตะวันออกของจีน เช่น กว่างโจว หนิงปอ หยางโจว เผิ่งหลาย ฯลฯ โครงข่ายเส้นทางสายไหมทางทะเล แบ่งออกเป็น 2 เส้นทาง คือ

        1. เส้นทางทะเลจีนตะวันออก (East China Sea Routes)

        เส้นทางทะเลจีนตะวันออกมีมานานกว่า 3,000 ปี เริ่มต้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์โจว บันทึกทางประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงในศตวรรษที่ 12 ก่อนคริสตกาล กษัตริย์หวูแห่งราชวงศ์โจวได้ส่ง ข้าราชสำนักจีนชื่อ Ji Zi เดินทางโดยใช้เส้นทางทะเลจีนตะวันออก ออกจากอ่าวปั๋วไห่ของคาบสมุทรซานตงไปยังทะเลเหลือง เดินทางไปยังเกาหลีในปัจจุบัน ซึ่ง Ji Zi ได้เผยแพร่วิธีการเลี้ยงไหมและการปั่นด้ายในเกาหลี8

        2. เส้นทางทะเลจีนใต้ (South China Sea Routes)

         เส้นทางทะเลจีนใต้ ตามบันทึกประวัติศาสตร์พบว่า จีนมีการติดต่อทางการค้ากับคาบสมุทรมลายูมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น (206 – 220 ก่อนคริตส์กาล) ผ่านช่องแคบมะละกา จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังอ่าวเบงกอล เชื่อมโยงจีนกับชายฝั่งของมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งมีเส้นทางแล่นเรือต่อไปยังทะเลแดงในอ่าวเปอร์เซีย และทวีปแอฟริกา

        เส้นทางสายไหมทางทะเลมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการค้าและเศรษฐกิจของจีนโบราณ ดังนั้นสมัยราชวงศ์ถัง ราชวงศ์ซ่ง ราชวงศ์หยวน และราชวงศ์หมิงได้วางระบบการจัดการและกฎระเบียบการค้าแก่พ่อค้าชาวต่างประเทศต่าง สร้างรายได้มหาศาลจากการค้าต่างประเทศ รวมถึงแลกเปลี่ยนสินค้ากับดินแดนอันห่างไกล และยังมีการแลกเปลี่ยนและวัฒนธรรมต่าง ๆ สินค้าส่งออกที่สำคัญของจีน ได้แก่ ผ้าไหม เครื่องเคลือบดินเผา ชา น้ำตาล เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้ามีความหลากหลายมากมาย เช่น อัญมณี สมุนไพร เครื่องเทศ งาช้าง เครื่องแก้ว ผ้าฝ้าย เขาสัตว์ เครื่องทองและเครื่องเงิน เป็นต้น9


รูปที่ 6 แผนที่เส้นทางสายไหมทางทะเล สายทะเลจีนใต้ (South China Sea Routes)
ที่มา : Chinadiscovery.com. Silk Road Maps Collectio8].ns [Online]
Available from: https://www.chinadiscovery.com/assets/images/silk-road/maps/marco-polo.jpg [17 March, 2019].


         ในช่วงคริสศตวรรษที่ 7 อาณาจักรโรมันเสื่อมอำนาจ จักรวรรดิอิสลามเรืองอำนาจขยายอิทธิพลเข้าสู่สเปนและเอเชียกลาง พ่อค้าอาหรับได้สร้างทักษะการเดินเรือจนเป็นผู้ควบคุมเส้นทางการเดินเรือ โดยเฉพาะเส้นทางการค้าเครื่องเทศ (Spice Route) ซึ่งในสมัยโบราณแหล่งผลิคเครื่องเทศมีเพียง 2 แห่ง เท่านั้น คือ อินเดีย และหมู่เกาะโมลุกกะของอินโดนีเซีย (ถูกเรียกว่า หมู่เกาะเครื่องเทศ) เครื่องเทศถือเป็นของฟุ่มเฟือย และเป็นที่ต้องการของอาณาจักรโรมันในเมดิเตอร์เรเนียนและยุโรปมาก การที่พ่อค้าอาหรับสมารถควบคุมเส้นทางการค้านี้ สามารถทำกำไรมหาศาลได้จากการค้าเครื่องเทศ และสร้างความมั่งคั่งเป็นอย่างมาก10

         คริสตวรรษที่ 16 โปรตุเกสกลายเป็นมหาอำนาจใหม่ในการค้าทางทะเล โปรตุเกสรับมรดกการเดินเรือทะเล สั่งสมความรู้และประสบการณ์อาหรับ นักเดินเรือในเมืองท่าของอิตาลีและสเปนได้พัฒนาเทคโนโลยีการเดินเรือให้ก้าวหน้ามาก เช่น สร้างเรือเดินสมุทรที่เพรียวขึ้น ทำให้คล่องตัวกว่าเรือที่ใช้อยู่ในขณะนั้นยุโรปสามารถคำนวณเส้นรุ้งได้แม่นยำแล้ว โปรตุเกสสร้างเครื่องมือที่ทำให้นักเดินเรือรู้ตำแหน่งของตนในเส้นรุ้งได้ และเครื่องมือนั้นยังสามารถประเมินเส้นแวงได้อย่างคร่าวๆ นักเดินเรือโปรตุเกสเป็นหนึ่งในบรรดานักเดินเรือของยุโรปที่สามารถรู้แผนที่ฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกาได้ดีขึ้น จนในที่สุดนักเดินเรือโปรตุเกสจึงสามารถนำเรือผ่านปลายสุดของทวีปเพื่อเดินทางมาเอเชียได้ โปรตุเกสใช้วิธีทำสงครามเพื่อยึดครองหมู่เกาะเครื่องเทศและผูกขาดการค้าเครื่องเทศ11 นอกจากนี้ยังมีอังกฤษ และฮอลันดาที่เดินเรือเข้ามาตามเส้นทางสายไหม มหาอำนาจทั้ง 3 ประเทศ ล้วนแสวงหาผลประโยชน์จากการผูกขาดการค้า จึงเป็นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำการค้าในเส้นทางสายไหมซบเซาลง

บทสรุป : เส้นทางสายไหมจากอดีตสู่ปัจจุบันและอนาคต

         เส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเล ถือเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญและเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณ กำลังถูกปัดฝุ่นและพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง โดยมีหัวเรือใหญ่ คือ จีน จึงเป็นที่สนใจและติดตามว่า การพัฒนาเส้นทางสายไหมใหม่นี้จะสามารถสร้างประโยชน์แก่เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลก และมีวัฏจักรความรุ่งเรืองและความเป็นอยู่ถึง 2,000 ปี เช่นเดียวกับเส้นทางสายไหมเก่าหรือไม่

1พันธ์รบ ราชพงศา. อาเซียนบนเส้นทางสายไหมใหม่ [สายตรง]. หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ปีที่ 30 ฉบับที่ 10506 วันพุธที่ 28 มิถุนายน 2560 หน้า 12 คอลัมน์ “Insight ASEAN” แหล่งที่มา: http://e-library.itd.or.th/viewer/144491477 [3 ธันวาคม 2561].

2ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. การประชุมสุดยอดผู้นำ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ" [สายตรง]. ไทยพับลิคก้า แหล่งที่มา : http://www.vijaichina.com/articles/633 [3 ธันวาคม 2561 ].

3 เพ็ชรี สุมิตร. เส้นทางสายไหม [สายตรง]. วารสารราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 27 ฉบับที่ 2 เม.ย.-มิ.ย หน้า 467- 476 แหล่งที่มา: http://www.royin.go.th/wp-content/uploads/royin-ebook/94/FileUpload/94_1309.PDF [15 มีนาคม 2562].

4เรื่องเดียวกัน.

5Joshua J. Mark. Silk Road [Online] Available from: https://www.ancient.eu/Silk_Road/ [18 March, 2019].

6เพ็ชรี สุมิตร. เส้นทางสายไหม [สายตรง]. วารสารราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 27 ฉบับที่ 2 เม.ย.-มิ.ย หน้า 467- 476 แหล่งที่มา: http://www.royin.go.th/wp-content/uploads/royin-ebook/94/FileUpload/94_1309.PDF [15 มีนาคม 2562].

7Joshua J. Mark. Silk Road [Online] Available from: https://www.ancient.eu/Silk_Road/ [18 March, 2019]

8AbsoluteChinaTour.com. Ancient Maritime Silk Road [Online]. Available from: http://www.absolutechinatours.com/specialtopic/silkroad/Maritime-Silk-Road.html [15 March, 2019].

9Ibid.

10UNESSCO. The Arab Monopoly- The Empire of Islam [Online]. Available from: https://en.unesco.org/silkroad/knowledge-bank/arab-monopoly [18 March, 2019].

11นิธิ เอียวศรีวงศ์. โปรตุเกส การเดินเรือ เครื่องเทศ และศรัทธา [สายตรง]. วารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 33 ฉบับที่ 5 เลขหน้า : 78-102 ปีพ.ศ. : 2555 แหล่งที่มา: http://catholichaab.com/main/index.php/research-and-study/2015-10-05-02-39-46/1706-2018-02-12-08-06-00 [15 มีนาคม 2562].
ท่านคือผู้เข้าชมคนที่
widely used counter
สงวนลิขสิทธิ์ สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชั้น 6 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ถนนพญาไท ปทุมวัน กรุงเทพ ฯ 10330 Email : tri@chula.ac.th