การขนส่งในแม่น้ำโขงตอนล่าง

จัดทำข้อมูลโดย : สุมาลี สุขดานนท์
ปีที่จัดทำ : กันยายน 2560


        ในขณะที่แม่น้ำโขงตอนบนเริ่มตั้งแต่ต้นกำเนิดของแม่น้ำในที่ราบสูงธิเบตในประเทศจีนจนถึงเมืองหลวงพระบางในประเทศลาว ระยะทาง 2,761 กิโลเมตร แม่น้ำโขงตอนล่างเริ่มเมืองหลวงพระบางถึงบริเวณที่แม่น้ำไหลลงสู่ทะเลที่ประเทศเวียดนาม ระยะทาง 2,119 กิโลเมตร แม่น้ำโขงในช่วงนี้ แบ่งออกได้เป็น 4 ส่วน คือ แม่น้ำในประเทศลาว แม่น้ำในประเทศกัมพูชา แม่น้ำในประเทศเวียดนาม และอีกส่วนหนึ่งเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาว


รูปที่ 1 แผนที่แสดงแม่น้ำโขงตอนบนและตอนล่าง

แม่น้ำโขงในประเทศลาว

        แม่น้ำโขงในประเทศลาวมีความยาวประมาณ 777 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงที่หนึ่ง เริ่มตั้งแต่แก่งผาได บ้านห้วยลึก ตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเมืองผาอุดม แขวงบ่อแก้ว ผ่านเมืองปากทา จากนั้นไหลผ่านแขวงอุดมไชย แขวงไชยบุรี แขวงหลวงพระบาง และเวียงจันทน์ ระยะทาง 581 กิโลเมตร จากนั้นไหลผ่านนครหลวงเวียงจันทน์เป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างไทย – ลาวจนถึงเมืองคงเซโดน แขวงสาละวัน ตรงข้ามกับบ้านเวินบึก ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชานี และไหลเข้าสู่แขวงจำปาศักดิ์เป็นแม่น้ำในประเทศลาวช่วงที่ 2 ผ่านเมืองชนะสมบูรณ์ โพนทอง ปากเซ (เมืองเอกของแขวงจำปาศักดิ์) ปทุมพร จำปาศักดิ์ สุขุมา มูลปาโมกข์ และเมืองโขง จากนั้นไหลเข้าสู่ประเทศกัมพูชา แม่น้ำโขงช่วงที่ 2 มีความยาว 196 กิโลเมตร1


        การขนส่งในแม่น้ำโขงในประเทศลาวเป็นการขนส่งทั้งสินค้าและผู้โดยสาร แม่น้ำโขงในประเทศลาวช่วงที่ 1 (ผาอุดม แขวงบ่อแก้ว – แก่นท้าว แขวงไชยบุรี) มีท่าเรือที่สำคัญอยู่ที่เมืองปากแบ่ง แขวงอุดมไชย และมีจุดหมายปลายทางที่สำคัญ คือ เมืองหลวงพระบาง เมืองท่องเที่ยวอันดับ 1 ของประเทศลาว สินค้าจากประเทศไทยบรรทุกลงเรือที่อำเภอเชียงของและขนส่งตามแม่น้ำโขงขนถ่ายขึ้นที่ปากแบ่งและหลวงพระบาง นอกจากนี้ในการเดินทางไปยังชายแดนจีนยังสามารถโดยสารเรือมายังเมืองปากแบ่งและเดินทางตามถนนหมายเลข 2 ไปยังเมืองไชย เมืองเอกของแขวงอุดมไชย เชื่อมด้วยถนนหมายเลข 13 ไปยังบ้านบ่อเต็น เมืองสิงห์ แขวงหลวงน้ำทาระยะทางประมาณ 240 กิโลเมตร และเดินทางต่อไปยังเขตปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนา มณฑลยูนนานในประเทศจีน ในทางกลับกันหากเดินทางข้ามแม่น้ำโขงที่เมืองปากแบ่งมายังเมืองเงินในแขวงไชยบุรีสามารถเดินทางมาชายแดนไทยที่บ้านห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ระยะทางเพียง 55 กิโลเมตร


รูปที่ 2 แผนที่แสดงเส้นทางจากเมืองปากแบ่งไปยังชายแดนลาว – จีน ที่บ่อเต็น
ที่มา : ดัดแปลงจาก Google Map.


รูปที่ 3 แผนที่แสดงเส้นทางจากเมืองปากแบ่งไปยังชายแดนลาว – ไทย ที่บ้านห้วยโก๋น
ที่มา : ดัดแปลงจาก Google Map.

        แม่น้ำโขงในประเทศลาว ช่วงที่ 2 (ชนะสมบูรณ์ – เมืองโขง แขวงจำปาศักดิ์) เป็นการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างเมืองต่าง ๆ ในแขวงจำปาศักดิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเมืองปากเซ เมืองเอกของแขวงจำปาศักดิ์ และเมืองจำปาศักดิ์ แม่น้ำโขงในช่วงก่อนออกจากประเทศลาวและไหลเข้าสู่ประเทศกัมพูชาใช้ประโยชน์ด้านการขนส่งไม่ได้มากนัก เนื่องจากไหลผ่านเกาะแก่งขนาดใหญ่ ได้แก่ สี่พันดอน คอนพะเพ็ง หลี่ผี แต่กลับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในภาคใต้ของลาว เรือที่ใช้ในการขนส่งเป็นเรือขนาดไม่เกิน 50 – 300 ตัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความลึกของร่องน้ำ ส่วนใหญ่เป็นเรืออเนกประสงค์สามารถใช้บรรทุกสินค้าและผู้โดยสารในคราวเดียว


รูปที่ 4 แม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านเมืองหลวงพระบาง
ภาพถ่ายโดย พชรพัชร์ ถวิลนพนันท์, 15 สิงหาคม 2560.

แม่น้ำโขงในประเทศกัมพูชา

        เมื่อแม่น้ำโขงออกจากประเทศลาวที่เมืองโขง แขวงจำปาศักดิ์ ได้ไหลเข้าสู่ประเทศกัมพูชาระยะทางทั้งสิ้น 502 กิโลเมตร2 โดยไหลผ่าน 6 จังหวัด ได้แก่ สตึงเตรง กระแจะ กำปงจาม พนมเปญ กันดาล และเปรแวง แม่น้ำช่วงสุดท้ายเป็นเส้นกั้นเขตแดนจังหวัดกังดาลกับเปรแวง เมืองพนมเปญเป็นจุดที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขนส่ง เนื่องจากแม่น้ำโตนเลสาบไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง จากนั้นแม่น้ำโขงได้แยกออกเป็นแม่น้ำบาสักซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญในการขนส่งระหว่างพนมเปญและเวียดนาม เป็นที่ตั้งของท่าเรือพนมเปญซึ่งมีความสำคัญต่อการขนส่งในประเทศและการขนส่งระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งสินค้าด้วยเรือลำเลียงไปยังท่าเรือในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนาม


แม่น้ำโขงในประเทศเวียดนาม

        แม่น้ำโขงส่วนที่อยู่ในประเทศเวียดนามมีความยาวสั้น ๆ เพียงประมาณ 230 กิโลเมตร เมื่อออกจากประเทศกัมพูชาไหลเข้าสู่จังหวัดในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ได้แก่ ด่งท้าป (Dong Thap) เกิ่นเทอ (Can Tho) โห่วซาง (Hau Giang) หวิญล็อง (Vinh Long) ซ้อกจัง (Soc Trang) และจ่าวิญ (Tra Vinh) ในขณะที่แม่น้ำบาสักเป็นแม่น้ำสาขาสายสำคัญของแม่น้ำโขงไหลเข้าสู่จังหวัดอันยาง และเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างจังหวัดอันยางและเกิ่นเทอ โดยเวียดนามเรียกแม่น้ำบาสักว่า แม่น้ำโฮ่ว (Hau) ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้แม่น้ำโขงมีสาขาเกิดขึ้นจำนวนมาก และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญทั้งด้านเกษตรกรรม และการขนส่ง ซึ่งแม่น้ำสาขาเหล่านี้กลายเป็นโครงข่ายการขนส่งทางน้ำที่สำคัญทั้งภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โครงข่ายที่เชื่อมต่อกับเมืองโฮจิมินห์ ศูนย์กลางการค้าและอุตสาหกรรมในเวียดนามใต้ โครงข่ายเชื่อมต่อกับประเทศกัมพูชา และเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากมีท่าเรือสินค้าตั้งอยู่ในบริเวณนี้ถึง 26 ท่า และเรือโดยสาร 16 ท่า3 สำหรับเรือที่ใช้ในการขนส่งเป็นเรือลำเลียงขนาด 200 – 700 ตัน โดยมีทั้งเรือเหล็กและเรือไม้ ทั้งมีเครื่องยนต์และไม่มีเครื่องยนต์ในตัวเองซึ่งเคลื่อนที่โดยอาศัยเรือลากจูง


รูปที่ 5 แผนที่แสดงแม่น้ำโขงช่วงไหลลงสู่ทะเลจีนไต้ในประเทศเวียดนาม
ที่มา : ดัดแปลงจาก Google Map.


รูปที่ 6 เรือลำเลียงที่ใช้ในการขนส่งในสามเหลี่ยมแม่น้ำโขง (ซ้าย) เรือเหล็ก (ขวา) เรือไม้
ภาพถ่ายโดย สุมาลี สุขดานนท์, 18 มิถุนายน 2559.

แม่น้ำโขง : เส้นกั้นเขตแดนไทย – ลาว

         แม่น้ำโขงส่วนที่เป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างไทย – ลาว มีระยะทาง 955 กิโลเมตร4 นับเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างประเทศในแม่น้ำโขงที่มีระยะทางยาวที่สุด กล่าวคือ แม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างประเทศจีนและพม่ามีระยะทางเพียง 31 กิโลเมตร ในขณะที่เส้นกั้นเขตแดนระหว่างประเทศจีนกับประเทศลาวมีระยะทาง 234 กิโลเมตร5 เส้นกั้นเขตแดนไทย – ลาว มีจังหวัดของไทยตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา ได้แก่ แม่น้ำเหือง 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี มีอำเภอที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำโขง 32 อำเภอ และมีแขวงของลาวตั้งอยู่ 9 แขวง คือ บ่อแก้ว ไชยบุรี เวียงจันทน์ นครหลวงเวียงจันทน์ บอลิคำไชย คำม่วน สุวรรณเขต สาละวัน และจำปาศักดิ์ และมีเมืองที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำโขง 22 เมือง รายละเอียดดังตารางที่ 3


        ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเป็นต้นมาดินแดนทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งประกอบด้วย คือ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และนครจำปาศักดิ์ อยู่ภายใต้การปกครองของไทยมาจนถึง พ.ศ. 2436 ไทยก็จำยอมต้องเสียดินแดนฝั่งแม่น้ำโขงที่อยู่ในความครอบครองให้แก่ฝรั่งเศสซึ่งแผ่อิทธิพลเข้ามาภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงโดยมุ่งหวังจะใช้แม่น้ำโขงซึ่งไหลผ่านภาคใต้ของจีนลาว กัมพูชาและออกสู่ทะเลที่เวียดนามใต้เป็นเส้นทางการค้าเข้าสู่ภาคใต้ของจีน6

        ผลของสัญญาที่สยามลงนามกับฝรั่งเศสวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 วันที่ 23 มีนาคม 2450 และอนุสัญญาฉบับลงนามวันที่ 25 สิงหาคม 2469 ทำให้ฝรั่งเศสได้ครอบครองดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (ประเทศลาวในปัจจุบัน) เป็นพื้นที่ถึง 155,500 ตารางกิโลเมตร รวมถึงเกาะแก่งทั้งหมดในแม่น้ำโขง ส่วนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในปัจจุบัน) และกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนทางน้ำซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น 1,108 กิโลเมตร ประกอบด้วยเส้นเขตแดนตามร่องน้ำลึกของแม่น้ำโขงซึ่งมีอยู่สองช่วง คือ ช่วงแรกในจังหวัดเชียงรายความยาว 97 กิโลเมตรโดยเริ่มตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำที่บ้านสบรวก อำเภอเชียงแสน ผ่านอำเภอเชียงของ จนถึงแก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จากนั้นแม่น้ำโขงไหลเข้าภาคเหนือของลาว ช่วงที่สองเป็นช่วงที่แม่น้ำโขงไหลออกจากแผ่นดินลาวและวกกลับออกมาเป็นเส้นเขตแดนไทย–ลาวที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ไหลผ่านหนองคาย บึงกาฬ นครพพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และสิ้นสุดที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี แล้วไหลเข้าสู่ภาคใต้ของลาว เส้นเขตแดนช่วงนี้มีความยาวถึง 858 กิโลเมตร นอกจากเส้นเขตแดนตามร่องน้ำลึกของแม่น้ำโขงแล้ว เส้นแบ่งเขตแดนทางน้ำ ยังประกอบด้วยเส้นเขตแดนตามร่องน้ำลึกของแม่น้ำเหืองงาในจังหวัดพิษณุโลกความยาว 19 กิโลเมตร และ เส้นเขตแดนตามร่องน้ำลึกของแม่น้ำเหืองในจังหวัดเลยซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงความยาว 134 กิโลเมตร



        ที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าในอดีตทั้งสองฝั่งโขงเป็นแผ่นดินเดียว ด้วยสายสัมพันธ์ที่มีมาแต่โบราณ แม้จะมีการแบ่งเขตแดนแล้วแต่ประชาชนทั้งสองฝั่งโขงมีการติดต่อค้าขายและไปมาหาสู่กันตลอดแนวแม่น้ำโขง การขนส่งตามลำน้ำโขงในช่วงนี้จึงเป็นการขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างสองฝั่งแม่น้ำโขง เรือที่ใช้ในการขนส่งเป็นเรือขนาดไม่เกิน 200 ตัน การขนส่งด้วยแพขนานยนต์ หรือที่ลาวเรียกว่า “เรือบั้ค” เป็นรูปแบบการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพและได้รับความนิยมอย่างมากตลอดแนวสองฝั่งโขง เนื่องจากรถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่สามารถวิ่งลงบนแพขนานยนต์และล่องข้ามแม่น้ำโขง เมื่อขึ้นฝั่งสามารถวิ่งต่อไปยังจุดหมายปลายทางได้อย่างรวดเร็ว แต่ปัจจุบันได้มีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาถึง 5 แห่ง และมีโครงการจะก่อสร้างอีก 2 แห่ง ทำให้รถบรรทุกสามารถวิ่งข้ามสะพานไปรับส่งสินค้าได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ส่งผลให้การขนส่งด้วยแพขนานยนต์ลดความสำคัญลงและเลือนหายไปจากแม่น้ำโขง7


รูปที่ 7 เรือขนส่งสินค้าตามแนวแม่น้ำโขงไทย – ลาว
ภาพถ่ายโดย สุมาลี สุขดานนท์, 11 มีนคาม 2552 และ 2 มีนาคม 2553.



รูปที่ 8 แพขนานยนต์ (เรือบั้ค) ใช้ในการขนส่งรถบรรทุกข้ามฟากไทย – ลาว
ภาพถ่ายโดย สุมาลี สุขดานนท์, 1 เมษายน 2552.


        สำหรับการค้าระดับชาวบ้านซึ่งในแต่ละคราวมีปริมาณไม่มากนัก อีกทั้งมักนำติดตัวไปกับผู้โดยสาร เรือที่ใช้เป็นเรือเล็กขนาดประมาณ 5 – 10 ตัน ในช่วงฤดูแล้งแม่น้ำตื้นบางช่วงตื้นเขินจนแม้แต่เรือขนาดเล็กไม่สามารถวิ่งได้ การขนส่งสินค้าใช้แรงงานในการแบก หาม หรือหิ้วข้ามแม่น้ำ8


รูปที่ 9 เรือขนาดเล็กขนส่งสินค้าและผู้โดยสารข้ามฟากไทย – ลาว
ภาพถ่ายโดย สุมาลี สุขดานนท์, 11 มีนคาม 2552 และ 2 กุมภาพันธ์ 2553.


รูปที่ 10 ชาวบ้านเดินแบกหามสินค้าข้ามแม่น้ำเหือง
ภาพถ่ายโดย (ซ้าย) สุนันทา เจริญปัญญายิ่ง (ขวา) สุมาลี สุขดานนท์, 11 มีนาคม 2552


1สิตานนท์ เจษฎาพิพัฒน์ และคณะ, รายงานฉบับสมบูรณ์ เล่มที่ 1 โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวทางเรือตามเส้นทางแม่น้ำโขงของกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (กรุงเทพ ฯ : สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว, 2548), บทที่ 2 หน้า 2.

2เรื่องเดียวกัน.

3สุมาลี สุขดานนท์, รายงานการศึกษาการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำในภาคตะวันตกเพื่อลดต้นทุนการขนส่งน้ำตาล (สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2560) หน้า 56 – 58.

4ประสงค์ ชิงชัย, “เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ,” สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน 32, (2550): 164.

5สิตานนท์ เจษฎาพิพัฒน์ และคณะ, รายงานฉบับสมบูรณ์ เล่มที่ ๑ โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวทางเรือตามเหส้นทางแม่น้ำโขงของกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง, บทที่ ๒ หน้า ๒.

6 สุมาลี สุขดานนท์, “วัฒนธรรมการค้าชายแดนสองฝั่งโขง” วารสารไทยศึกษา ปีที่ 8 ฉบับที่ 2, หน้า 210.

7สุมาลี สุขดานนท์, “การค้าชายแดนสองฝั่งโขงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เอเชียปริทัศน์ ปีที่ 31 ฉบับที่ 1, หน้า 78.

8 เรื่องเดียวกัน, หน้า 79.
ท่านคือผู้เข้าชมคนที่
widely used counter
สงวนลิขสิทธิ์ สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชั้น 6 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ถนนพญาไท ปทุมวัน กรุงเทพ ฯ 10330 Email : tri@chula.ac.th