จัดทำข้อมูลโดย : สุมาลี สุขดานนท์ รัฐบาลของของแต่ละประเทศ หน่วยงานหลักการในพัฒนาการขนส่งทางน้ำ คือ กระทรวงคมนาคม โดยรับผิดชอบการก่อสร้างและบำรุงร่องน้ำและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินเรือ การออกใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือ และการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินเรือ นอกจากนี้ยังรับผิดชอบต่อพันธะสัญญาตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศนั้น ๆ ร่วมเป็นภาคี อย่างไรก็ตามการขนส่งทางน้ำภายในประเทศมีปริมาณน้อย การขนส่งส่วนใหญ่เป็นการขนส่งระหว่างประเทศ ดังนั้นในทางปฏิบัตินโยบายและการปฏิบัติของประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นไปตามที่หน่วยงานระหว่างประเทศในระดับต่าง ๆ กำหนด คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศ คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศจัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศต่างๆ ในยุโรปร่วมเป็นภาคี มีทั้งประเทศที่แม่น้ำไหลผ่านและประเทศอื่น ๆ ที่สำคัญได้แก่ คณะกรรมาธิการกลางเดินเรือในแม่น้ำไรน์ (Central Commission for Navigation of the Rhine: CCNR) CCNR นับเป็นคณะกรรมการระหว่างประเทศที่เก่าแก่ที่สุดของโลก จัดตั้งขึ้นหลังการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna) ใน ค.ศ. 1815 วัตถุประสงค์เพื่อตกลงกันในปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังสงครามนโปเลียน CCNR ประกอบด้วยสมาชิก 5 ประเทศ ซึ่งแม่น้ำไรน์ไหลผ่านและไม่ได้ไหลผ่าน ได้แก่ สวิสเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม ต่อมาใน ค.ศ. 1868 ได้มีการจัดทำอนุสัญญามันไฮน์ (Convention of Mannheim 1868) กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบและวิธีการดำเนินงานของคณะกรรมการ โดยมีหน้าที่หลักในการรักษาการเดินเรือได้อย่างเสรี และดูแลข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำไรน์และแม่น้ำสาขาให้เป็นรูปแบบเดียวกัน ประธานของคณะกรรมการหมุนเวียนในระหว่างประเทศสมาชิก คณะกรรมาธิการแม่น้ำดานูบ (Danube River Commission : DC) แม่น้ำดานูบเป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญในการขนส่งเป็นอันดับ 2 รองจากแม่น้ำไรน์ คณะกรรมาธิการชุดนี้จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาเบลเกรด 1948 (Belgrade Convention 1948) ประกอบด้วยสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ เยอรมัน ออสเตรีย สโลวาเกีย ฮังการี โครเอเชีย เซอร์เบีย บัลกาเรีย มอลโดวา ยูเครน โรมาเนีย และรัสเซีย ภายใต้ข้อตกลงนี้ประเทศสมาชิกจะบำรุงรักษาและปรับปรุงแม่น้ำดานูบในส่วนที่อยู่ในประเทศของตนให้เหมาะสมกับการเดินเรือ คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ให้ปรึกษาและข้อเสนอแนะแก่ประเทศสมาชิก แต่อำนาจตัดสินใจยังเป็นของประเทศสมาชิกแต่ละประเทศ คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) คณะกรรมาธิการยุโรปเป็นตัวแทนและปกป้องผลประโยชน์ของสหภาพยุโรป โดยเป็นอิสระจากรัฐบาลของะประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป คณะกรรมาธิการประกอบด้วยกรรมาธิการ (Commissioner) 28 คนจากประเทศสมาชิกตามความเชี่ยวชาญ1 มีหน่วยงานในสังกัด 33 หน่วยงาน2 การขนส่งเป็นหน่วยงานหนึ่ง ด้านการขนส่งทางน้ำมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามรถการขนส่งทางน้ำให้สามารถแข่งขันกับการขนส่งรูปแบบอื่นเพื่อสร้างระบบขนส่งที่ยั่งยืนให้แก่ภูมิภาค โดยมุ่งเน้นที่การแก้ไขจุดติดขัด (Bottleneck) เพื่อเพิ่มโครงข่ายเส้นทางการขนส่งทางน้ำในสหภาพยุโรป นอกจากแผนงานระดับชาติแล้ว ยังประกอบด้วยแผนงานระหว่างประเทศ ได้แก่ Navigation and Inland Waterway Action and Development Plan in Europe (NAIADES) แผนงานนี้เป็นผลมาจากการทบทวนนโยบายใน ค.ศ. 2005 และเล็งเห็นความจำเป็นในการร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรปกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำต่าง ๆ ในยุโรป ใน 5 หัวข้อ คือ การตลาด กองเรือ แรงงานและทักษะความชำนาญ ภาพลักษณ์ และโครงสร้างพื้นฐาน Marco Polo Program แผนงานนี้เริ่มดำเนินงานใน ค.ศ. 2003 มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาความหนาแน่นของการขนส่งทางถนนและมลภาวะที่เกิดขึ้นจากการขนส่งด้วยการเปลี่ยนไปใช้รูปแบบการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า ได้แก่ รถไฟ การขนส่งชายฝั่ง การขนส่งทางน้ำ โดยทุกปีจะจัดสรรเงินให้แก่บริษัทเอกชนที่มีโครงการในการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า ซึ่งที่ผ่านมาได้มีโครงการได้รับการสนับสนุนไปแล้วกว่า 500 โครงการ3 แผนอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการการขนส่งของสหภาพยุโรปและ Innovation and Networks Executive Agency (INEA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ Trans European Network Program (TENT) ซึ่งจะกล่าวต่อไป Trans European Network Program (TENT) แนวความคิดในการสร้างโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อยุโรปเริ่มในต้นทศวรรษที่ 1990 แผนงานฉบับแรกในการสร้างโครงข่ายคมนาคมข้ามยุโรปฉบับแรกได้รับการลงมติเห็นชอบจากสภายุโรป (European Parliament) ใน ค.ศ. 1996 และได้นำมาจัดทำเป็นแผนหลักในการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทุกรูปแบบของประเทศต่าง ๆ โดยสหภาพยุโรปให้งบประมาณสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ผ่านแผนงาน TENT ซึ่งมีโครงการที่ให้ความสำคัญอันดับต้น 30 โครงการ โดยการขนส่งทางน้ำ มีโครงการที่เกี่ยวข้อง 2 โครงการ คือ4 - Waterway Axis Rhine/MeuseMainDanube เป็นโครงการอันดับ ที่ 18 ซึ่งเชื่อมต่อยุโรปในแนวขวาง จากทะเลเหนือที่เมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ และเมืองแอนท์เวิร์ป ประเทศเบลเยี่ยม ถึงทะเลดำ เมืองคอสตานา ประเทศโรมาเนีย นับเป็นโครงข่ายเส้นทางขนส่งทางน้ำที่ใหญ่ที่สุด เนื่องจากผ่านแม่น้ำสายสำคัญถึง 2 สาย คือ แม่น้ำไรน์ และแม่น้ำดานูบ รวมถึงแม่น้ำสายสำคัญอื่น ๆ คือ แม่น้ำไมน์ (Main) และแม่น้ำเมิส
- SeineScheldt Inland Waterways เป็นโครงการอันดับที่ 30 เส้นทางนี้เชื่อมต่อเส้นทางขนส่งทางน้ำของฝรั่งเศสกับโครงข่ายเส้นทางขนส่งทางน้ำของเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และเยอรมัน รวมถึงท่าเรือต่าง ๆ ในยุโรปเหนือ (เลออาฟวร์ รูออง ดันเคริก เซบรูกจ์ เกนต์ แอนท์เวิรป และรอตเตอร์ดัม) โครงการนี้เป้าหมายเพื่อให้รองรับเรือลำเลียงขนาดใหญ่ เมื่อรวมกับโครงการอันดับที่ 18 ที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ จะครอบคลุมเส้นทางเดินเรือในลุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป เส้นทางนี้นับเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งสินค้าตู้
Harmonized River Information Services (RIS) การให้บริการทำข้อมูลการขนส่งทางน้ำเป็นไปตามคำสั่งที่ของสภายุโรป 2005/44/EC ข้อมูลที่ให้บริการประกอบด้วย ข้อมูลร่องน้ำที่ใช้ในการเดินเรือ ข้อมูลจราจร การจัดการจราจร การลดอุบัติเหตุ การจัดการขนส่ง สถิติและศุลกากร คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งยุโรป (United Nations Economic Commission for Europe: UNECE) UNECE มีแนวความคิดในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำตั้งแต่ ค.ศ. 1982 คณะทำงานด้านการขนส่งทางน้ำได้เสนอข้อคิดเห็นให้จัดทำรายงานการเดินเรือในยุโรปเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางการขนส่งทางน้ำในยุโรป ได้มีการจัดทำรายงานสมุดปกขาว (White Paper) 2 เล่ม ดังนี้ White Paper on Trend in and Development of Inland Navigation and Its Infrastructure (1996) จากการศึกษาพบว่า การขนส่งทางแม่น้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่น้ำดานูบและแม่น้ำไรน์ได้รับความนิยมอย่างมากช่วงสองทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากนั้นก็เริ่มซบเซาลง ทั้งนี้เป็นผลมาจาก 1) การขยายตัวของขนส่งทางถนนซึ่งมีความคล่องตัวสูง และการแข่งขันที่รุนแรงจาการขนส่งทางรางซึ่งมีความเที่ยงตรงด้านเวลามากกว่า 2) การขนส่งทางน้ำของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปมีความต่างแตกกัน ทั้งนี้เพราะแม่น้ำดานูบและแม่น้ำไรน์ซึ่งเป็นแม่น้ำสำคัญที่ใช้ในการขนส่งสินค้าไหลผ่านประเทศต่างๆ ในยุโรป โดยแม่น้ำดานูบไหลผ่านประเทศในภาคกลางและภาคตะวันออกของยุโรป 10 ประเทศ ส่วนแม่น้ำไรน์ไหลผ่านประเทศในภาคกลางของทวีปยุโรป 6 ประเทศการขนส่งจึงมีทั้งการขนส่งระหว่างประเทศและการขนส่งในประเทศ 3) โครงข่ายเส้นทางการขนส่งทางน้ำได้รับการพัฒนาในฝั่งตะวันตกของยุโรป ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกมุ่งเน้นไปที่การขยายโครงข่ายรถไฟ เป็นผลให้การขนส่งทางน้ำไม่ได้รับการพัฒนาน้อยมาก สมุดปกขาวประกอบข้อมูล 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของลำน้ำและท่าเรือ และส่วนที่ 2 เป็นข้อมูลเศรษฐศาสตร์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งส่งทางน้ำ ข้อเสนอแนะจากการศึกษาให้จัดทำแผนปฏิบัติการร่วมที่รัฐบาลของทุกประเทศนำไปปฏิบัติ ผลของรายงานสมุดปกขาวฉบับนี้ที่สำคัญที่สุด คือ ได้มีการจัดข้อตกลงร่วมกันของประเทศในยุโรปเกี่ยวกับเส้นทางขนส่งทางน้ำหลักที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ (European Agreement on Main Inland Waterways of International Importance (AGN) ข้อตกลงนี้ได้ลงมติยอมรับโดย UNECE Inland Transport Committee ตั้งแต่ ค.ศ. 1996 และบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 1999 ประเทศสมาชิกของ UNECE ทั้ง 56 ประเทศสามารถเข้าร่วมเป็นภาคีโดยปัจจุบันมี 17 ประเทศ5
วัตถุประสงค์ของข้อตกลงเพื่ออำนวยความสะดวกและพัฒนาการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศในทวีปยุโรป ภายใต้ข้อตกลงนี้ได้มีการจัดทำจัดทำฐานข้อมูลโครงข่ายเส้นทางลำน้ำในยุโรประบบอิเล็กทรอนิค (The PanEuropean E waterways network) ฐานข้อมูลประกอบด้วย 2 ส่วนคือ เส้นทางลำน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ได้แก่ แม่น้ำดานูบและแม่น้ำไรน์ และแม่น้ำลำคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำทั้งสองสาย และท่าเรือระหว่างประเทศ และท่าเรือตามลำน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ทั้งท่าเรือของรัฐและท่าเรือเอกชน ข้อมูลที่กล่าวมาจะเผยแพร่ในรูปหนังสือปกน้ำเงิน (Blue Book database) ซึ่งจะปรับปรุงและเผยแพร่ทุก 5 ปี ฉบับที่ 2 ได้เผยแพร่ใน ค.ศ. 2012 White Paper on Efficient and Sustainable Inland Water Transport in Europe (2011) การจัดทำสมุดปกขาวฉบับที่สองนี้ เป็นผลมาจากในการประชุมการขนส่งทางน้ำของทวีปยุโรป ครั้งที่ 3 ใน ค.ศ. 2006 ณ กรุงบูคาเรส รัฐมนตรีคมนาคมของประเทศต่าง ๆ ได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการส่งเสริมการขนส่งทางน้ำให้เป็นรูปแบบการขนส่งมีความสำคัญทั้งในเชิงพาณิชย์และการรักษาสิ่งแวดล้อม ต่อมาในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2007 คณะกรรมการขนส่งทางน้ำของ UNECE (UNECE Inland Transport Committee) จึงได้มีมติให้จัดทำสมุดปกขาวฉบับที่ 2 รายงานฉบับนี้เริ่มดำเนินการจัดทำใน ค.ศ. 2007 และแล้วเสร็จในปี 2011 สาระสำคัญของรายงานฉบับนี้ประกอบด้วย การวิเคราะห์สถานการณ์การขนส่งทางน้ำเปลี่ยนแปลงไปจาก ค.ศ. 1996 ขีดความสามารถของโครงข่ายเส้นทางการขนส่งทางน้ำ ระบุถึงเส้นทางที่ยังขาดการเชื่อมต่อ (missing link) ยังนำเสนอโครงการพัฒนาเพื่อให้โครงข่ายสมบูรณ์ และการควบคุมและกำกับด้านการเดินเรือ และได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้การพัฒนาการขนส่งทางน้ำที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ในสุมดปกขาวฉบับนี้ได้แบ่งลุ่มน้ำเพื่อการพัฒนาออกเป็น 6 ลุ่มน้ำได้แก่6 1) RhineDanube Network ระยะทาง 14,362 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 47.6 ของเส้นทางขนส่งภายใต้ AGN (30,177 กิโลเมตร) แม่น้ำไรน์เป็นแม่น้ำที่มีการขนส่งสินค้ามากที่สุดโดยเฉลี่ยปีละ 310 ล้านตัน7 เป็นแม่น้ำมีโครงข่ายเส้นทางเดินเรือที่หนาแน่นและได้รับการพัฒนามากที่สุด ปัญหาในการเดินเรือส่วนใหญ่อยู่ที่ประเทศโปแลนด์ซึ่งมีความสำคัญต่อขนส่งทางลำน้ำเนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อโครงข่ายเส้นทางการขนส่งทางน้ำของยุโรปตะวันตกกับรัสเซีย สำหรับแม่น้ำดานูบซึ่งเป็นแม่น้ำที่มีปริมาณการขนส่งรองจากแม่น้ำไรน์ คือ ประมาณ 79 ล้านตันต่อปี8 กลับได้รับการพัฒนาน้อยมากเมื่อเทียบกับแม่น้ำไรน์ เส้นทางเดินเรือส่วนใหญ่เป็นเส้นทางธรรมชาติ บางช่วงมีความลึกไม่เกิน 1.55 เมตร การพัฒนาลุ่มน้ำนี้เป็นไปตาม TENT โครงการหมายเลข 18 ของสหภาพยุโรปที่ได้กล่าวในข้างต้น เพื่อเชื่อมต่อทะเลเหนือกับทะเลดำระยะทางประมาณ 3,000 กิโลเมตร 2) AzovBlackCaspain Seas Basin ระยะทาง 9,339 หรือร้อยละ 30.9 พื้นที่ลุ่มน้ำส่วนใหญ่อยู่ในประเทศรัสเซียและยูเครน การพัฒนามุ่งเน้นที่การปรับปรุงจุดคอคอดในแม่น้ำ Sivr แม่น้ำVolga และแม่น้ำ Don ในรัสเซีย 3) Baltic Area ระยะทาง 840 กิโลเมตร หรือร้อยละ 2.8 เส้นทางการขนส่งที่สำคัญ คือ แม่น้ำ Nemunas หรือ Meman ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักสายหนึ่งในยุโรปตะวันออก มีต้นกำเนิดในประเทศเบลารัส ไหลผ่านประเทศลิธัวเนียและสู่ทะเลบอลติก 4) CzechSlovak Centred Network ระยะทาง 715 กิโลเมตร หรือร้อยละ 2.4 ครอบคุลมลุ่มน้ำในสาธารณรัฐเชคและประเทศสโลวาเกีย นับเป็นช่วงที่มีเส้นทางที่ขาดการเชื่อมต่อกันมากที่สุด 5) RhoneSaone Basin ระยะทาง 679 กิโลเมตร หรือ ร้องละ 2.3 แม่น้ำ Rhone เป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านประเทศสวิสเซอร์แลนด์และออกสู่ทะเลเมดิเตอเรเนียนที่ประเทศฝรั่งเศส เป็นช่วงที่ไปมีการเชื่อมต่อกับเส้นทางขนส่งหลักของยุโรป 6) SeineOise Basis ระยะทาง 632 กิโลเมตร หรือร้อยละ 2.1 แม่น้ำทั้งสองสายเป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านภาคเหนือของประเทศฝรั่งเศส ยังมีช่วงที่ขาดหายไม่เชื่อมต่อกัน ภายใต้โครงการ SeineNord Europe Canal ซึ่งจะเปิดใช้ใน ค.ศ. 2016 จะช่วยแม่น้ำสายนี้เชื่อมต่อกับท่าเรือ 7 ท่าในยุโรปเหนือ ได้แก่ อาฟวร์ รัวน์ ดันเคริก เกนต์ เซบรูกจ์ แอนท์เวริป และรอตเตอร์ดัม 7) เส้นทางชายฝั่งซึ่งเชื่อมต่อกับเส้นทางลำน้ำ ระยะทาง 2,774 หรือร้อยละ 9.2 องค์กรวิชาชีพ นอกจากองค์กรระหว่างประเทศที่จัดตั้งโดยรัฐบาลแล้วยังมีองค์กรวิชาชีพซึ่งเกิดจาการรวมตัวของผู้ประกอบการเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางลำน้ำของประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ที่มีบทบาทในการพัฒนาการขนส่งทางลำน้ำของยุโรป โดยส่วนใหญ่ยึดแนวทางที่คณะกรรมาธิการยุโรป หรือ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งยุโรปกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง TENT องค์กรเหล่านี้ได้แก่ - European Barge Union (EBU) เป็นการรวมตัวของสมาคมหรือสหภาพผู้ประกอบการเรือลำเลียงในยุโรป โครงสร้างของธุรกิจขนส่งทางน้ำในปัจจุบันเจ้าเรือที่ใช้ในการขนส่งมีทั้งรูปบริษัท แต่มีอยู่ไม่มากนักมีเพียง 810 บริษัทโดยมีเรืออยู่ประมาณบริษัทละ 20 และในรูปบุคคลซึ่งเป็นทั้งเจ้าของและคนขับเรือส่วนใหญ่มีเรือเพียง 1 ลำซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก อยู่ในรูปธุรกิจครอบครัวที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมในยุโรปส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ จึงทำให้การขนส่งทางน้ำยังได้รับความนิยม แต่อย่างไรก็ตามก็มีข้อจำกัดในเรื่องเวลาที่ใช้ในการขนส่ง เนื่องจากต้องรอคอยเวลาเปิดประตูน้ำ แม่น้ำคดเคี้ยว และเวลาที่เร็วขึ้นเพียง 1 ชั่วโมง ไม่ได้มีความแตกต่างมากนัก แต่กลับทำให้ค่าใช้จ่ายของเรือเพิ่มขึ้น จึงทำให้ไม่สามารถขนส่งกับการขนส่งทางถนนได้ การพัฒนาการขนส่งทางน้ำในยุโรปค่อนข้างซับซ้อน เนื่องจากทำมาถึง 300400 ปี อาจแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ คือ ระดับสหภาพยุโรป ระดับประเทศ (National) ระดับจังหวัด (Provincial) และระดับเทศบาล (Municipal) การนโยบายการพัฒนาของสหภาพยุโรปมุ่งเน้นที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ และมีแบบแผนเหมือนระบบราชการ ผู้ประกอบการรายเล็กเข้าถึงได้ยาก บทบาทของ EBU ในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำมุ่งเน้นที่การพัฒนาเรือที่ใช้ในการขนส่งซึ่งส่วนใหญ่มีอายุประมาณ 4050 ปีให้มีมาตรฐานดีขึ้น ปัจจุบันมีอยู่ประมาณพันกว่าลำ ด้วยรูปแบบธุรกิจที่กล่าวมาข้างต้น การต่อเรือใหม่จึงมีน้อยมาก และฝึกอบรมคนขับเรือให้ขับเรือได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และประหยัดน้ำมัน ด้านมาตรฐานคนประจำเรือเอกชนเป็นผู้ดำเนินการโดยมีภาครัฐเป็นผู้ควบคุม นอกจากนี้รัฐยังเป็นผู้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในการขนส่ง - European Federation of Inland Ports (EFIP) เป็นการรวมตัวของท่าเรือต่าง ๆ ในยุโรปทั้งท่าเรือทะเลและท่าเรือตามลำน้ำ สหภาพยุโรปมีนโยบายที่จะให้ท่าเรือมีบทบาทในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือที่ใช้ในการขนส่ง โดยการเก็บค่าภาระเรือเก่าสูงกว่าเรือต่อใหม่ เนื่องจากในปัจจุบันการขนส่งตู่สินค้าทางลำน้ำมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาตรการดังกล่าวจึงใช้ได้ผลเฉพาะท่าเรือขนส่งตู้สินค้าขนาดใหญ่ เช่น ท่าเรือรอตเตอร์ดัม สำหรับท่าเรือตามลำน้ำซึ่งขนถ่ายสินค้าทั่วไปและสินค้าเทกองแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เพราะร้อยละ 85 ของเรือที่ใช้ในการขนส่งสินค้าประเภทนี้เป็นธุรกิจครอบครัว มาตรการดังกล่าวทำให้ต้นทุนในการประกอบการสูงขึ้น ผู้ประกอบการก็จะหยุดให้บริการ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่เจ้าของสินค้า ในบางประเทศได้เริ่มโครงการ City Logistics เช่นที่เมืองบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม เป็นการใช้การขนส่งทางน้ำในระยะสั้น ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความแออัดการจราจรทางถนนในเมือง โดยเฉพาะสินค้าที่มีน้ำหนักมาก เช่น วัสดุก่อสร้าง หรือสินค้าอันตราย และบางประเทศ เช่น เยอรมัน รัฐบาลเงินอุดหนุนแก่ท่าเรือตามลำน้ำในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในท่าเรือ 1European Commission.The Comissioners (20102014) [Online]. Available from: http://ec.europa.eu/commission_2010-2014/index_en.htm [31 October, 2104]. 2European Commission.About the European Commission [Online]. Available from: http://ec.europa.eu/about/ds_en.htm [31 October, 2104]. 3 European Commission.About the Programme/Transport/Marco Polo [Online]. Available from: http://ec.europa.eu/transport/marcopolo/about/index_en.htm [31 October, 2104]. 4Innovation and Networks Executive Agency.TENT Projects. [Online]. Available from: http://inea.ec.europa.eu/en/ten-t/ten-t_projects/ [31 October, 2104]. 5UNECE.Blue Book Database [Online].Available from: http://www.unece.org/trans/main/sc3/bluebook_database.html [31 October, 2014]. 6 UNECE.White Paper on efficient and Sustainable Inland Water Transport in Europe (2011), p.10. 7UNECE.White Paper on efficient and Sustainable Inland Water Transport in Europe (2011), p.20. 8เรื่องเดียวกัน. |
|