จัดทำข้อมูลโดย : สุมาลี สุขดานนท์
แม่น้ำสายสำคัญ แม่น้ำสายสำคัญที่ใช้ในการขนส่งระหว่างประเทศในยุโรปภาคพื้นทวีปมี 2 สาย ได้แก่ แม่น้ำดานูบ และแม่น้ำไรน์ แม่น้ำดานูบ เป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในยุโรปมีความยาวทั้งสิ้น 2,872 กิโลเมตร มีต้นกำเนิดอยู่ที่เมือง Donaueschingen ในประเทศเยอรมัน เป็นเมืองที่แม่น้ำ Brigach และแม่น้ำ Breg ไหลมารวมกัน ไหลผ่านประเทศในภาคกลางและภาคตะวันออกของยุโรป 10 ประเทศ ได้แก่ เยอรมัน ออสเตรีย สโลวาเกีย ฮังการี โคเอเชีย เซอร์เบีย บัลกาเรีย มอลโดวา ยูเครน และไหลลงสู่ทะเลดำที่ประเทศโรมาเนีย (รูปที่ 1)
ส่วนแม่น้ำไรน์มีความยาวทั้งสิ้น 1,230 กิโลเมตร มีต้นกำเนิดอยู่ที่เทือกเขาแอลป์ ในรัฐเกราบีนเด็น (Graubünden) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ไหลผ่านประเทศในภาคกลางของทวีปยุโรป 6 ประเทศ ได้แก่ สวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรีย ลิกเตนสไตน์ ฝรั่งเศส เยอรมัน และไหลลงสู่ทะเลทะเลเหนือที่เมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นเส้นกั้นพรมเขตแดนระหว่างประเทศ สวิสเซอร์แลนด์และออสเตรีย ลิกเตนสไตน์และออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์และเยอรมัน และเยอรมันและฝรั่งเศส (รูปที่ 2)
ปริมาณการขนส่ง จากสถิติการขนส่งทางทางลำน้ำพบว่าประเทศที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าสูงสุด 5 อันดับแรกในสหภาพยุโรป ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน เบลเยียม ฝรั่งเศส และโรมาเนีย (ตารางที่ 2) ประเทศเหล่านี้ (ยกเว้นประเทศเบลเยียม) ตั้งอยู่บนโครงข่ายเส้นทางแม่น้ำไรน์และแม่น้ำดานูบ โดยประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่แม่น้ำไรน์ไหลลงสู่ทะเลเหนือที่เมืองรอตเตอร์ดัมซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือซึ่งใหญ่ที่สุดในยุโรป ประเทศเยอรมันเป็นประเทศที่ทั้งแม่น้ำไรน์และแม่น้ำดานูบไหลผ่าน สำหรับประเทศเบลเยียมแม้จะไม่ได้ตั้งอยู่บนแม่น้ำทั้งสองสาย แต่อยู่บนเส้นทางแม่น้ำ SeineScheldt ซึ่งเชื่อมต่อประเทศฝรั่งเศสและท่าเรือสำคัญในยุโรปเหนือ และเป็นที่ตั้งของท่าเรือที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของยุโรป คือ ท่าเรือแอนท์เวริป ประเทศโรมาเนียเป็นประเทศแม่น้ำดานูบไหลลงสู่ทะเลดำ
ท่าเรือที่ใช้ในการขนส่งทางทางลำน้ำ โครงข่ายเส้นทางการขนส่งทางน้ำของยุโรปนอกจากแม่น้ำไรน์และแม่น้ำดานูบ ยังมีแม่น้ำสาขา และลำคลอง ซึ่งตลอดเส้นทางเป็นที่ตั้งของท่าเรือเพื่อการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ซึ่งรายชื่อท่าเรือที่สำคัญในโครงข่ายแม่น้ำไรน์และแม่น้ำดานูบดังตารางที่ 3 และตารางที่ 4 ตามลำดับ
ท่าเรือในยุโรปส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนแม่น้ำสายสำคัญจึงมีส่วนสำคัญในการพัฒนาการขนส่งทางลำน้ำ นอกจากนี้ท่าเรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าเรือระหว่างประเทศยังมีแนวความคิดว่าท่าเรือเป็นศูนย์กลางของระบบขนส่งและโลจิสติกส์ ในแผนพัฒนาท่าเรือจึงรวมถึงการพัฒนาระบบการขนส่งทางลำน้ำเพื่อเชื่อมต่อท่าเรือกับพื้นที่แนวหลัง (Hinterland) ท่าเรือที่สำคัญมีดังนี้ ท่าเรือรอตเตอร์ดัม (Port of Rotterdam) ท่าเรือแห่งนี้ตั้งอยู่บนแม่น้ำไรน์และแม่น้ำเมิซหรือมาส (Meuse/Maas) ซึ่งเป็นแม่น้ำที่เกิดในฝรั่งเศสไหลผ่านเบลเยี่ยมและออกสู่ทะเลที่เมืองรอตเตอร์ดัม ท่าเรือรอตเตอร์ดัมเป็นท่าเรือที่มีปริมาณสินค้าผ่านท่าเรือสูงเป็นอันดับ 1 ของยุโรป ใน ปี 2013 มีปริมาณสินค้าผ่านท่า 440.6 ล้านตัน และมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่า 11.6 ล้านทีอียู ท่าเรือมีความยาวหน้ารวม 42 กิโลเมตร สามารถรับเรือที่กินน้ำลึกได้สูงสุดถึง 25 เมตร1 นอกจากนี้ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตั้งอยู่สองฝั่งท่าเรือ ในปีที่ผ่านมามีเรือที่ขนส่งทางลำน้ำเข้าเทียบท่า 99,000 ลำ โดยท่าเรือมีท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าตามลำน้ำ 53 ท่า
ท่าเรือรอตเตอร์ดัมเป็นท่าเรือสำคัญในการเชื่อมต่อการขนส่งทางทะเลกับการขนส่งทางแม่น้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่น้ำไรน์ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่สุดในการขนส่งสินค้าทางลำน้ำของยุโรป จึงทำให้สินค้าที่ที่ขนส่งมายังท่าเรือโดยทางลำน้ำมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 48 หรือประมาณ 150 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นสินค้าเทกองประมาณ 60 ล้านตัน และสินค้าเหลวประมาณ 60 ล้านตัน และสินค้าตู้ประมาณ 25 ล้านตัน ในขณะที่การขนส่งโดยรถบรรทุกมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 25 รถไฟร้อยละ 7 และทางท่อร้อยละ 17 ท่าเรือมีนโยบายในการเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางลำน้ำ โดยลดค่าภาระการใช้ท่าเรือให้แก่เรือสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะร้อยละ 15 และเรือที่ใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงร้อยละ 30 ซึ่งมาตรการนี้ได้รับเงินอุดหนุนบางส่วนจากเทศบาลเมืองรอตเตอร์ดัม สำหรับท่าเทียบเรือ Maasvlakte 2 ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือตู้สินค้าที่ก่อสร้างใหม่และเปิดดำเนินการในปี 2015 ได้กำหนดให้พาหนะที่ขนส่งตู้สินค้าไปยังท่าเทียบเรือต้องเป็นพาหนะใหม่ที่รักษาสิ่งแวดล้อมเท่านั้น นอกจากนี้ท่าเรือยังมีกลยุทธ์เชิงรุกในการสนับสนุนให้เจ้าของสินค้าขนส่งโดยทางลำน้ำ โดยการลงทุนก่อสร้างท่าเรือในลำน้ำในแหล่งอุตสาหกรรมในประเทศที่สำคัญ โดยในช่วงแรกให้ผู้ประกอบการท่าเรือเช่า 10 ปี หากธุรกิจไปได้ดีจึงจะขายท่าเรือให้แก่ผู้ประกอบการ ในการนี้ท่าเรือรอตเตอร์ดัมได้ร่วมกับผู้ประกอบการท่าเรือลำน้ำในการจัดทำแผนการตลาดเพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางถนนมาเป็นทางลำน้ำ วัตถุประสงค์เพื่อลดมลภาวะ (ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) ที่เกิดจาการขนส่งทางถนน และยังได้จัดทำระบบ Inland Link ซึ่งเป็นระบบออน์ไลน์บนเว็บไซด์ เพื่อให้เจ้าของสินค้าสามารถค้นหาข้อมูลท่าเรือลำน้ำในประเทศ เส้นทางขนส่งทางลำน้ำมายังท่าเรือรอตเตอร์ดัม และข้อมูลตู้สินค้าเปล่าของสายเดินเรือต่าง ๆ ที่ให้บริการขนส่งทางลำน้ำ ปัจจุบันเว็บไซด์นี้มีท่าเรือลำน้ำเป็นสมาชิก 70 ท่า และสายเดินเรือทางลำน้ำ 12 สาย
ท่าเรือแอนท์เวิร์ป (Port of Antwerp) ท่าเรือแอนท์เวิร์ปตั้งอยู่บนสองฝั่งของแม่น้ำสเกล์ท (Scheldt) ซึ่งมีต้นกำเนิดในภาคเหนือของยุโรปไหลผ่านเมืองเกนต์ (Ghent) และเมืองแอนท์เวริปก่อนไหลลงสู่ทะเลเหนือ ท่าเรือแอนท์เวริปเป็นท่าเรือที่ใหญ่สุดของประเทศเบลเยียม และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของยุโรปรองจากท่าเรือรอตเตอร์ดัม ในช่วงแรกท่าเรือตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำสเกล์ท ต่อมาได้ขยายมายังฝั่งซ้ายของแม่น้ำ ปัจจุบันท่าเทียบเรือมีความยาวรวม 157 กิโลเมตร2
ในปี 2013 ท่าเรือมีสินค้าผ่านท่า 190.8 ล้านตัน และตู้สินค้าผ่านที่ 8.6 ล้านทีอียู3 ร้อยละ 37 ของปริมาณสินค้าทั้งหมด4 และร้อยละ 35 ของปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าขนส่งโดยทางลำน้ำ5 มีเรือลำเลียงผ่านแวะจอดสินค้ามากกว่า 48,000 ลำต่อปี6 ทั้งนี้เป็นผลมาจากท่าเรือตั้งอยู่กึ่งกลางของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำสเกล์ทมาสไรน์ นอกจากแม่น้ำสเกล์ทแล้วท่าเรือยังเชื่อมต่อด้วยคลองต่าง ๆ ได้แก่ ScheldtRhine Canal, Albert Canal, BrusselsSea Canal และ Canal Ghent Terreuzen ในปี 2030 ท่าเรือมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนสินค้าที่ขนส่งทางลำน้ำมายังท่าเรือเป็นร้อยละ 40 และสินค้าตู้เป็นร้อยละ 42 ประเทศเบลเยียมเองก็มีเป้าหมายที่จะพัฒนาโครงข่ายเส้นทางน้ำในประเทศให้สามารถรับเรือได้ ตั้งแต่ 25018,000 ตัน ทั้งนี้เพื่อลดความแออัดของการจราจรบนถนน ปัญหาหนึ่งที่สำคัญในการขนส่งทางลำน้ำ คือ ความสูงของสะพาน ดังนั้น ท่าเรือจึงได้ร่วมกับรัฐบาลในการวางแผนปรับปรุงสะพานใน Albert Canal ซึ่งเชื่อมเมืองแอนท์เวิร์ปและเมืองลีแยฌ (Liège) ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ของประเทศเบลเยียม สะพานมีทั้งหมด 23 แห่ง ในปี 2020 มีเป้าหมายที่จะปรับปรุงสะพาน 15 แห่ง ให้มีความสูง 910 เมตร กว้าง 86 เมตร เพื่อให้เรือลำเลียงขนาด 10,000 ตัน สามารถลอดผ่านได้ โครงการนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลเบลเยียมภาคเหนือ (Femish Government) และสหภาพยุโรปภายใต้โครงการ TENT นอกจากนี้ท่าเรือแอนวิร์ปได้จัดทำระบบออน์ไลน์เพื่อใช้ในการวางแผนในการขนส่งทางลำน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดเวลาที่ใช้ในการขนส่งตู้สินค้าได้แก่ Automatic Identification System (AIS) เป็นระบบเพื่อใช้ในการติดต่อระหว่างเรือและผู้ดูแลประตู้น้ำ ระบบนี้ใช้โปรแกรม GPS ที่ติดตั้งในเรือลำเลียงเพื่อให้รายละเอียดเกี่ยวกับชื่อเรือ ความเร็วเรือ และเส้นทางเดินเรือ เพื่อกำหนดเวลาที่มาถึงประตูน้ำ ระบบนี้ช่วยลดเวลาในการรอคอยเพื่อผ่านประตูให้เหลือไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อลำ อีกระบบได้แก่ Barge Traffic System (BTS) เป็นระบบช่วยให้ผู้ประกอบการขนส่งตู้สินค้าด้วยเรือลำเลียง และผู้ประกอบการท่าเทียบเรือลำเลียงในท่าเรือแอนท์เวิร์ปสามารถวางแผนการขนส่งตู้สินค้าร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดเวลาของเรือและตู้สินค้าที่อยู่ในท่าเรือลดลง
1Port of Rotterdam Authority. Port Statistics 201120122013 (2014). 2Port of Antwerp.The Port Area [Online]. Available from: http://www.portofantwerp.com/en/port-area [25 November, 2014]. 3Port of Rotterdam Authority. Port Statistics 201120122013 (2014). 4Port of Antwerp.Connectivity/Inland Shipping/Strategic Location [Online]. Available from: http://www.portofantwerp.com/en/strategic-location-and-connections#consument [25 November, 2014]. 5 Port of Antwerp. Annual Report 2012- Porland and Hinterland [Online]. Available from: http://www.portofantwerp.com/en/barge [25 November, 2014]. 6 Port of Antwerp. Connectivity/Inland Shipping/Strategic Location [Online]. Available from: http://www.portofantwerp.com/en/strategic-location-and-connections#consument [25 November, 2014]. |
|