พื้นที่แนวหลังของท่าเรือ (Port Hinterlands)

จัดทำข้อมูลโดย : สุมาลี สุขดานนท์
ปีที่จัดทำ : มิถุนายน 2560

        พื้นที่แนวหลังของท่าเรือ (Hinterland) หมายถึง ภาคพื้นดินที่อยู่หลังท่าเรือ อาจอยู่รอบประชิดติดกับท่าเรือ หรืออยู่ไกลออกไปจากท่าเรือก็ได้ จะอยู่ในประเทศเดียวกับที่ท่าเรือตั้งอยู่ หรืออยู่คนละประเทศก็ได้ ภาคพื้นดินนี้นำเข้าและส่งออกสินค้าผ่านท่าเรือ1 ดังนั้นพื้นที่แนวหลังจึงนับเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่มีผลทำให้ท่าเรือหนึ่งมีปริมาณสินค้าผ่านท่าเรือหนึ่งสูงกว่าอีกท่าเรือหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะมีผลต่อปริมาณสินค้าผ่านท่าเรือแล้วยังมีผลต่อประเภทสินค้าที่ขนส่งผ่านท่าเรือด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างท่าเรือกับพื้นที่แนวหลังประกอบด้วยองค์ประกอบหลายประการ ดังนี้2

        ก) โครงข่ายคมนาคมที่เชื่อมต่อท่าเรือกับพื้นที่แนวหลัง ซึ่งมีผลโดยตรงต่อขอบเขตพื้นที่แนวหลังของท่าเรือ

        ข) ผลผลิตของพื้นที่แนวหลังของท่าเรือ รวมถึงความต้องการในการนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต และส่งออกผลผลิตของพื้นที่แนวหลัง มีผลต่อประเภทและปริมาณสินค้าผ่านท่าเรือ

        ค) มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งมีผลต่อทำเลที่ตั้งของท่าเรือ โครงข่ายคมนาคมที่เชื่อมท่าเรือกับพื้นที่แนวหลัง

พื้นที่แนวหลังของท่าเรือ มี 2 ประเภทคือ

        • Primary Hinterland พื้นที่แนวหลังประเภทนี้อยู่ประชิดติดกับท่าเรือ ด้วยระยะทางที่ใกล้กับท่าเรือจึงส่งสินค้าผ่านท่าเรือนั้น ๆ เป็นหลัก ดังนั้นยิ่งท่าเรือที่มี Primary Hinterland ขนาดใหญ่ก็จะยิ่งมีปริมาณสินค้าผ่านท่าเรือที่แน่นอนจำนวนมากตามไปด้วย3 ตัวอย่างเช่น นิคมอตุสาหกรรมแหลมฉบัง ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากท่าเรือแหลมฉบังประมาณ 2 กิโลเมตร การนำเข้าส่งออกสินค้าจึงขนส่งผ่านท่าเรือแหลมฉบังซึ่งเป็นหลัก นอกจากนี้ท่าเรือเอกชน (Private Port) ซึ่งให้บริการขนส่งเฉพาะสินค้าของธุรกิจของตนเองหรือกลุ่มธุรกิจในเครือ ก็มีลักษณะเป็น Primary Hinterland


รูปที่ 1 แสดงที่ตั้งท่าเรือแลมฉบังและนิคมอุตสหากรรมแหลมฉบังซึ่งเป็น Primary Hinterland ที่สำคัญของท่าเรือแหลมฉบัง
ที่มา: Google Map [29 พฤษภาคม 2560].

         • Competitive Hinterland เป็นพื้นที่แนวหลังซึ่งอยู่ห่างจากท่าเรือออกไป ขอบเขตพื้นที่แนวหลังประเภทนี้อาจไกลออกไปถึงคนละประเทศก็ได้ ปัจจัยพื้นฐานที่จะกำหนดขอบเขตของพื้นที่แนวหลังประเภทนี้ของท่าเรือ คือ โครงข่ายคมนาคมที่เชื่อมต่อพื้นที่แนวหลังกับท่าเรือ ดังนั้น ยิ่งท่าเรือมีโครงข่ายคมนาคมที่กว้างและไกลออกไปเท่าไร พื้นที่แนวหลังของท่าเรือนั้น ๆ ก็ยิ่งกว้างและไกลออกไปเท่านั้น พื้นที่แนวหลังประเภทนี้ ก่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างท่าเรือเพื่อแย่งชิงสินค้าให้ของส่งผ่านท่าเรือ อย่างไรก็ตามการแข่งขันระหว่างท่าเรือเพื่อแย่งชิงสินค้าจาก Competitive Hinterland เกิดขึ้นเฉพาะท่าเรือที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการสาธารณะ (Common User Port) เท่านั้น ท่าเรือที่ให้บริการเฉพาะธุรกิจหรือกลุ่มธุรกิจของตนเอง ไม่มีความจำเป็นต้องแข่งขันกัน ในขณะที่ท่าเรือที่ให้บริการสาธารณะแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงพื้นที่แนวหลังก็เมื่อปริมาณสินค้าป่านท่าเรือที่เป็นอยู่ยังต่ำกว่าขีดความสามารถของท่าเรือ ปัจจัยที่สนับสนุนในท่าเรือหนึ่งสามารถแย่งชิงพื้นที่แนวหลังได้มีหลายประการ เช่น ทำเลที่ตั้งของท่าเรือ ขนาดของท่าเรือ รูปแบบการบริหารและความเป็นเจ้าของ การตลาดของท่าเรือ หรือแม้กระทั่งมาตรการสนับสนุนและกีดกันจากภาครัฐ4



1สุมาลี สุขดานนท์ “เอกสารประกอบการอบรม เรื่อง ท่าเรือและผู้ใช้บริการ” จัดโดยสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3 ตุลาคม 2539 หน้า 4. (อัดสำเนา). อ้างใน สุมาลี สุขดานนท์ และคณะ, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ การศึกษาประเมินสถานภาพการใช้ท่าเรือไทย, (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย,2552), หน้า 107.

2สุมาลี สุขดานนท์ และคณะ, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ การศึกษาประเมินสถานภาพการใช้ท่าเรือไทย, (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย,2552), หน้า 107.

3เรื่องเดียวกัน, หน้า 125.

4เรื่องเดียวกัน, หน้า 125.
ท่านคือผู้เข้าชมคนที่
สงวนลิขสิทธิ์ สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชั้น 6 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ถนนพญาไท ปทุมวัน กรุงเทพ ฯ 10330 Email : tri@chula.ac.th